ล้อมคอกเมื่อวัวหาย หรือแค่ไฟไหม้ฟาง

ยิ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบสรุปล่าช้า ยิ่งเกิดคำถาม กลายเป็น “ล้อมคอกเมื่อวัวหาย” และเสี่ยงจะเป็นแค่ “ไฟไหม้ฟาง” เพราะสังคมไทยลืมเร็ว เจ็บแล้วไม่จำ..อยู่แล้ว
KEY
POINTS
- สิ่งที่สังคมคาใจก็คือ สมมติบริษัทที่มาก่อสร้าง ทำผิดมาต
ครบ 10 วันหลังตึก สตง.ถล่ม มี 3 เรื่องที่ผู้รับผิดชอบทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อ โดยมีผู้คนในสังคมพากันจับตาดู
1.ภารกิจกู้ซากตึก ช่วยผู้รอดชีวิต - ปฏิบัติการเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ก็ไม่หมดหวังว่าจะยังมีผู้รอดชีวิต แต่งานยาก คือเปิดซากเข้าไปช่วยเหยื่อได้ยาก และต้องแข่งกับเวลา
สิ่งที่สังคมอยากรู้ คือสาเหตุที่ทำให้ตึกถล่ม แต่เรื่องนี้ทำท่าจะยืดเยื้อ เพราะคณะกรรมการชุดคุณอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ตลอดจนสภาวิศวกรฯ ยอมรับตรงกันว่า ต้องใช้เวลา ฉะนั้นสังคมทำใจได้เลยว่า ความคืบหน้าจะไม่เร็ว และน่าจะรอจนลืม
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างฯ บอกว่าต้องนำเศษปูน เศษเหล็กที่พังถล่มแต่ละจุด ไปตรวจพิสูจน์ทาง “นิติวิศวกรรม” (Forensic Engineering) แม้เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจว่า หากเร่งรีบสรุป แล้วสรุปผิด เราก็จะได้บทเรียนผิดๆ ไม่ส่งผลต่อการป้องกันที่ถูกต้องในอนาคต
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็น่าคิดเหมือนกันว่า ยิ่งนาน ก็จะยิ่งมีแต่คำแก้ตัว เพราะเหตุผลไม่ว่าจะทางวิศวกรรมหรือเรื่องใด มันมองได้หลายมุม บางทีก็สรุป 100% ไม่ได้
ทว่า สิ่งที่สังคมคาใจก็คือ สมมติบริษัทที่มาก่อสร้าง ทำผิดมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่เริ่มจดทะเบียนก่อตั้งก็ใช้ “นอมินี” เพื่อเลี่ยงกฎหมายแล้ว ยังคิดว่าเขาจะทำสิ่งที่เหลืออย่างถูกต้อง เคร่งครัด เป็นไปตามมาตรฐานจริงหรือ
ยิ่งหน่วยงานผู้รับผิดชอบสรุปล่าช้า ยิ่งเกิดคำถาม กลายเป็น “ล้อมคอกเมื่อวัวหาย” และเสี่ยงจะเป็นแค่ “ไฟไหม้ฟาง” เพราะสังคมไทยลืมเร็ว เจ็บแล้วไม่จำ..อยู่แล้ว ดูอย่างเหตุคานถล่มบนถนนพระราม 2 ก็ได้ คิดว่ามีประเทศไหนในโลกที่จะปล่อยให้เกิดซ้ำๆ มานับสิบครั้ง แถมมีคนตายทุกรอบ
2.ฝ่าวิกฤต“นอมินีทุนจีน” มีความคืบหน้าในส่วนของ “คดีพิเศษ” ของดีเอสไอ กรณี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด (CREC 10) ซึ่งมีข้อมูลเชิงลึกพอสมควร
ตามลุ้นกันว่าสัปดาห์หน้าจะได้ตัว 3 ผู้ถือหุ้นคนไทยมาสอบปากคำหรือไม่ จะแจ้งข้อหาใครได้บ้าง จะตามตัวกรรมการบริษัท ผู้เกี่ยวข้องชาวจีนได้กี่คน
อีกด้านหนึ่งคือความคืบหน้าการตรวจสอบนอมินีของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจู่ๆ ก็เงียบหายไป ก็ต้องลุ้นหลังหยุดยาวว่า จะได้ข้อสรุปอะไรเกี่ยวกับ CREC 10 หรือไม่ เพราะที่ผ่านมา คุณพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ยังนิ่งเงียบ สื่อสารกับสังคมน้อย ทั้งที่เป็นแม่งาน วันก่อนนัดสัมภาษณ์กับเนชั่นก็ขอเลื่อน
ประเด็นที่ยังถกเถียงกันอยู่ก็คือ มีช่องโหว่กฎหมายหรือไม่ กรณี “กิจการร่วมค้า” ไม่เข้าข่ายเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
3.การยกเลิก BOI หรือสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนที่มอบให้กับ บริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ซึ่งมีข่าวสับสนในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สัปดาห์หน้าต้องจับตากระทรวงอุตสาหกรรมว่า จะดันยกเลิก BOI สำเร็จหรือไม่ แต่ก็น่าสังเกตว่าการเดินเรื่องของทางกระทรวง ดูจะระมัดระวังเป็นพิเศษ จนชักเริ่มสงสัยว่า บริษัทใหญ่กว่ากระทรวงหรือเปล่า
นอกจากนั้นยังมีความคืบหน้าเรื่องการเลี่ยงภาษี กรณีกรมสรรพากรไปแจ้งดีเอสไอว่า บริษัท ซิน เคอ หยวนฯ ใช้ใบกำกับภาษีปลอม มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท
สังคมกำลังรอดูอยู่ว่าการตรวจสอบบริษัททุนจีนอื่นๆ จะเข้มข้นต่อไป หรือเป็นแค่ไฟไหม้ฟางแบบเดิมๆ
ในฐานะที่ผมเกิดและอยู่ในประเทศนี้มาเกิน 50 ปี (กว่าครึ่งศตวรรษ) อยากจะเตือนคุณผู้อ่านเอาไว้ว่า อย่าได้เคลิ้มตามข่าวกันไปว่า บริษัทที่กำลังถูกตรวจสอบอยู่นี้ เป็นนอมินีแน่นอน และสุดท้ายจะถูกกฎหมายลงโทษอย่างสาสม เพราะแท้ที่จริงแล้ว การพิสูจน์ความป็น “นอมินี” ภายใต้กระบวนการแบบไทยๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย มีคดีตัวอย่างเมื่อปลายปีที่แล้ว แถมเป็นฝีมือของดีเอสไอเช่นกัน แปลว่าความเสียหายต้องมาก ถึงอยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ
คดี“นอมินี”ที่ว่านี้ ศาลเพิ่งมีคำพิพากษาไปเมื่อปลายปี 67 บริษัทที่ถูกดำเนินคดี มีทั้งสำนักงานกฎหมาย และบัญชีแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต และบริษัทในเครือข่ายพวกเดียวกัน
พฤติการณ์กระทำการเป็นเครือข่าย จดทะเบียนบริษัท “นอมินี” ให้ชาวต่างชาติ เข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ เมื่อปี 65
ในสำนวนคดีระบุว่า มีนิติบุคคลต้องสงสัยกว่า 60 บริษัท พฤติการณ์ของสำนักงานกฎหมายแห่งนี้ คือ เป็นตัวกลางของหลายบริษัท รับจ้างจดทะเบียนนิติบุคคล รับทำบัญชี ให้คำปรึกษาด้านภาษี และใบอนุญาตทำงาน ใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินี เป็นกรรมการ ถือหุ้นแทนทำให้นิติบุคคลต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับอนุญาต และถือครองอสังหาริมทรัพย์ได้ ทั้งยังทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมกว่าร้อยละ 10 ของราคาประเมิน มูลค่ารวมหลายพันล้านบาทต่อปี
ความผิดขนาดนี้ แต่ดูโทษที่ผู้กระทำได้รับ... ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้ง 23 ราย ในความผิดฐานร่วมกันให้ความช่วยเหลือ หรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และความผิดฐานเป็นคนต่างด้าว ยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
พิพากษาจำคุก 10 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี จึงลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 5 ปี ประกอบกับจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำความผิดมาก่อน จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปี ให้ปรับรายละ 200,000 บาท ให้คุมความประพฤติ 1 ปี และให้จดทะเบียนเลิกบริษัท หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ให้ชำระค่าปรับล่าช้าวันละ 10,000 บาท
ถามว่าถ้าบริษัทที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ถูกพิสูจน์แล้วว่ากระทำผิดจริง แล้วโดนโทษประมาณนี้...พี่ไทย 3 คนที่เป็น “นอมินี” โดนปรับแค่คนละ 2 แสน แต่ตึกถล่ม คนตาย ประเทศชาติเสียหาย แบบนี้คนไทยทั้งประเทศจะโอเคหรือไม่