เรตติ้งการเมือง 'ส้ม' ข่ม 'แดง' เข้าปีที่ 3 'นายใหญ่'เร่งพลิกเกม

เรตติ้งการเมือง 'ส้ม' ข่ม 'แดง' เข้าสู่ปีที่ 3 'นายใหญ่'เร่งพลิกเกม ปั๊มผลงาน ปชน.ลุ้นคดี ปั้น“ผู้นำใหม่” หลังเรตติ้งหัวหน้าเพื่อไทยยังนำ
KEY
POINTS
- การพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลของ “พรรคเพื่อไทย” กระชากความนิยมทางการเมืองของ “แบรนด์สีแดง” ดิ่งลงเหว จากเบอร์หนึ่งพรรคเสรีนิยม
- ผ่านมาสองปี "ทักษิณ - เพื่อไทย" ยังไม่สามารถกู้เรตติ้ง "ค่ายสีแดง" ให้กลับมายืนหนึ่งได้เหมือนเดิม แม้คะแนน "ผู้นำ" ของ "แพทองธาร" สลับกันนำสลับกันตาม "ณัฐพงษ์" แต่คะแนนพรรค "ขุนพลสีส้ม" ทิ้งห่างอยู่เยอะ
- เดดไลน์ 2 ปี จึง
การพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลของ “พรรคเพื่อไทย” กระชากความนิยมทางการเมืองของ “แบรนด์สีแดง” ดิ่งลงเหว จากเบอร์หนึ่งพรรคเสรีนิยม โดนผลักให้ไปอยู่ในขั้วอนุรักษนิยม
แม้เรตติ้งจะตกลง แต่แลกกับการทำสัญญาปีศาจร่วม “ขั้วอนุรักษ์” ทำให้ “นายใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทย ทำให้ “ขุนพลเพื่อไทย” มั่นใจว่ายี่ห้อ “ทักษิณ” สามารถกอบกู้แต้มการเมืองกลับมาได้ เนื่องจากมีจุดแข็งอยู่ที่การบริหารประเทศ
ทว่าย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของ “นายกฯอิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร คะแนนนิยมค่ายสีแดง ยิ่งตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เหตุผลสำคัญอยู่ที่การทำงานของ “ขั้วรัฐบาล” ที่ต่างเตะสกัดขากันเอง
ตรงกันข้ามกับ “ค่ายสีส้ม” ที่เริ่มโกยแต้มกลับคืนมา แม้จะเปลี่ยวหัวผู้นำจาก “เดอะทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล มาเป็น “หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
ที่สำคัญ เทอมการทำงานของรัฐบาลกำลังเดินเข้าสู่ปีที่ 3 บรรดา “พรรคการเมือง” ต่างขยับวางยุทธศาสตร์เลือกตั้ง ปี 2570 เอาไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเตรียมการเตรียมพร้อม ช่วงชิงความได้เปรียบจากคู่แข่ง-คู่แค้น และเร่งสะสมคะแนนนิยม
ผลสำรวจความนิยมทางการเมือง 4 ไตรมาสของปี 2567 จนถึงไตรมาสแรก ปี 2568 (สำรวจระหว่างวันที่ 24-27 มีนาคม 2568) ของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” เปิดเผยเรตติ้งของ “ผู้นำพรรค-พรรคการเมือง” ย่อมสะท้อนภาพทางการเมือง โดยยังมีเวลาอีก 2 ปี ให้ทุกพรรคการเมืองขยับปรับยุทธศาสตร์
โจทย์ยากค่ายแดง-นายกฯอิ๊งค์
อันดับหนึ่งชื่อของ “แพทองธาร” พลิกกลับมาแซง “ผู้นำสีส้ม” โดยไตรมาส 1 ปี 2567 ยังมีเป็น “เศรษฐา ทวีสิน” นั่งเก้าอี้นายกฯ โดยเจ้าตัวได้รับความนิยมร้อยละ ร้อยละ 17.75 ส่วน “แพทองธาร” ร้อยละ ร้อยละ 6.00 ไตรมาส 2 ปี 2567 “เศรษฐา” ร้อยละ 12.85 “แพทองธาร” ร้อยละ 4.85
ไตรมาส 3 ปี 2567 มีการเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ เนื่องจาก “ศาลรัฐธรรมนูญ” วินิจฉัยให้ “เศรษฐา” ขาดคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร” ดำรงตำแหน่งนายกฯแทน โดยรับความนิยมพุ่งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งทันที อยู่ที่ร้อยละ 31.35 คาดการณ์ว่านโยบายแจกเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ต มีผลในการกระชากเรตติ้งให้สูงขึ้น จนแซง “ณัฐพงษ์”
ในไตรมาส 4 ปี 2567 ความนิยมของ “แพทองธาร” ลดลงมาเหลือร้อยละ 28.80% ส่วนหนึ่งมาจากคะแนนนิยมของ “ณัฐพงษ์” พุ่งสวนขึ้นมา แต่เหตุผลสำคัญอาจจะมาจากการทำงานในตำแหน่งนายกฯ ที่อาจจะไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง
ทว่าในไตรมาสแรก ปี 2568 เรตติ้งของ “แพทองธาร” ฟื้นกลับอยู่ที่ ร้อยละ 30.90 แซง “ณัฐพงษ์” ที่ได้ ร้อยละ 25.80 โดยประชาชนอยากให้โอกาสพรรคเพื่อไทยบริหารต่อไปเพื่อพิสูจน์ผลงาน
แต่โจทย์ใหญ่ของค่ายสีแดงคือความนิยมของ “พรรคเพื่อไทย” แม้จะมีบางจังหวะกระเตื้องขึ้นมาบ้าง แต่ยังเป็นรอง “พรรคประชาชน” โดยความนิยมของพรรคเพื่อไทยปี 2567 ไตรมาส 1 ร้อยละ 22.10 ไตรมาส 2 ตกลงไปร้อยละ 16.85 ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นมาร้อยละ 27.15 และไตรมาส 4 ร้อยละ 27.70 โดยไตรมาส 1 ปี 2568 อยู่ที่ 28.05 เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย
โจทย์ใหญ่ของ “ทักษิณ-แพทองธาร-เพื่อไทย” คือการฟื้นความนิยมคืนกลับมา เพราะการเลือกตั้งปี 2566 และการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล แถมยังมาเจอกลเกมเตะถ่วงของ “ขั้วสีน้ำเงิน” ทำให้ “รัฐบาลเพื่อไทย” ยากที่จะโชว์ผลงานให้โดดเด่น
“ขั้วส้ม”ลุ้นคดีปั้น“ผู้นำใหม่”
ลำดับสองมาจาก “ขุนพลสีส้ม” หากย้อนไปก่อนการยุบพรรคก้าวไกล ในปี 2567 ไตรมาส 1 ชื่อของ “พิธา” ยังได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ร้อยละ 42.75 ไตรมาส 2 ร้อยละ 45.50 ขยับเพิ่มมากกว่าเดิม
หลังจากนั้น “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีคำสั่งให้ยุบพรรคก้าวไกล ทำให้ “พิธา” โดนตัดสินทางการเมือง ส่งไม้ต่อให้ “ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ” และตั้งพรรคใหม่ชื่อ “พรรคประชาชน”
ทว่า ความนิยมในตัวของ “ณัฐพงษ์” กลับมาสู้ “พิธา” ไม่ได้ โดยเรตติ้งจากนิด้าโพลในไตรมาส 3 ปี 2567 ตกลงมาอยู่ที่ร้อยละ 22.90 โดน “แพทองธาร” ขยับแซงขึ้นไป ก่อนจะขยับขึ้นมาในไตรมาส 4 ปี 2567 ร้อย 29.85 ขยับแซง “แพทองธาร” คืนกลับมาได้
อย่างไรก็ตามในไตรมาส 1 ปี 2568 ความนิยมของ “ณัฐพงษ์” กลับลดลงเหลือ ร้อยละ 25.80 โดน “แพทองธาร” แซงกลับขึ้นไปได้ สะท้อนให้เห็นว่า “ตัวผู้นำ” ของพรรคประชาชนยังมีปัญหาพอสมควร
สำหรับความนิยมของอดีตพรรคก้าวไกลปี 2567 ไตรมาส 1 ร้อยละ 48.45 ไตรมาส 2 ร้อยละ 49.20 ก่อนเปลี่ยนมาเป็น “พรรคประชาชน” ผลสำรวจไตรมาส 3 ร้อยละ 34.25 และไตรมาส 4 ร้อยละ 37.30 โดยในไตรมาส 1 ปี 2568 ร้อยละ 37.10 ถือว่ายังรักษาฐานคะแนนเอาไว้ได้
โจทย์ใหญ่ของ “พรรคประชาชน” คือการกระตุ้นเรตติ้ง “ณัฐพงษ์” ให้พุ่งขึ้นเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับที่ “พิธา” เคยทำได้ ไม่เช่นนั้นโอกาสการชนะเลือกตั้งในปี 2570 จะลดน้อยลง เนื่องจาก “คู่แข่ง-คู่แค้น” ต่างเตรียมยุทธวิธีรับมือกระแสสีส้มเอาไว้แล้ว
โดยเฉพาะ “การเมือง บ้านใหญ่” ระดับท้องถิ่นที่ยังเป็นจุดอ่อนของ “ขุนพลสีส้ม” ต้องยอมรับว่ากระแสสีส้ม มาจากตัวผู้นำ ไล่ตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2562 ผู้นำคือ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” และปี 2566 คือตัวของ “พิธา”
อย่างไรก็ตาม “ขุนพลสีส้ม” อาจจะต้องหาตัว “ผู้นำคนใหม่” เนื่องจาก “ณัฐพงษ์” อยู่ในข่ายที่อาจจะโดน ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดี 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ยื่นญัตติแก้ไข ม.112 อยู่ด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่าโอกาสรอดของ “ณัฐพงษ์” มีน้อย จึงขอรอลุ้นคดีก่อนปั้น “ผู้นำสีส้ม” คนใหม่
พีระพันธุ์-รทสช.เรตติ้งลด
อีกคนที่น่าจับตามองอย่างยิ่งคือ “เดอะตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ รมว.พลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ความนิยมในปี 2567 ไต่ขึ้นเป็นลำดับไตรมาส 1 ความนิยมร้อยละ 3.55 ไตรมาส 2 ร้อยละ 6.85 ไตรมาส 3 ร้อยละ 8.65 และไตรมาส 4 ร้อยละ 10.25 แต่ในปี 2568 ไตรมาส 1 เรตติ้งตกลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 8.45
เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ความนิยมปี 2567 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไตรมาส 1 ร้อยละ 5.10 ไตรมาส 2 ร้อยละ 7.55 ไตรมาส 3 ร้อยละ 9.95 และไตรมาส 4 ร้อยละ 10.60 แต่ปี 2568 ไตรมาส 1 เรตติ้งพรรคตกลงมาอยู่ที่ ร้อยละ 8.75
ปัจจัยหลักที่ทำให้เรตติ้งของ รทสช. ตกลงมาจากปีก่อนคือผลงานของ “พีระพันธุ์” จากที่เคยวาดฝันแก้ปัญหาราคาพลังงาน ผ่านไป 2 ปี ผลงานยังไม่เป็นรูปธรรม
อนุทิน-ภูมิใจไทย ความนิยมฮวบ
อีกพรรคที่แม้จะไม่เน้นการเมืองกระแส แต่คาดหวังให้พรรคมีเรตติ้ง โดยปีในปี 2567 “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.มหาดไทย หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไตรมาส 1 ร้อยละ 1.45% ไตรมาส 2 ร้อยละ 2.05 ไตรมาส 3 ร้อยละ 4 และไตรมาส 4 ร้อยละ 6.45 แต่ในปี 2568 ไตรมาส 1 อยู่ที่ร้อยละ 2.85 เรตติ้งตกฮวบลงมาอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ต่างจาก “พรรคภูมิใจไทย” ความนิยมปี 2567 ไตรมาส 1 ร้อยละ 1.70 ไตรมาส 2 ร้อยละ 2.20 ไตรมาส 3 ร้อยละ 3.55 และไตรมาส 4 ร้อยละ 5.15 แต่ในปี 2568 ไตรมาส 1 เรตติ้งอยู่ที่ ร้อยละ 2.00
ทั้งความนิยมของ “ผู้นำ - พรรค” ของเครือข่ายสีน้ำเงิน ตกลงค่อนข้างเยอะ อาจจะมาจากสาเหตุการ “ภูมิใจขวาง” เกือบทุกนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทำให้ “ผู้นำสีน้ำเงิน” เรตติ้งฮวบ
เดดไลน์ 2 ปี พิสูจน์ฝีมือ “ขั้วรัฐ”
เมื่อเทอมรัฐบาลเหลืออีกเพียง 2 ปี แต่ “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” กลับไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายสำคัญให้ผลิดอกออกผลมาได้ ต่างติดกับดักกลเกมทางการเมืองที่แย่งชิงการนำกันไปมา
หาก “ทักษิณ - พรรคเพื่อไทย” ติดเดดล็อกปั๊มผลงานไม่ได้ คะแนนนิยมของ “แพทองธาร - พรรคเพื่อไทย” อาจจะลดน้อยถอยลง และจะเป็นแรงเหวี่ยงไปเติมเรตติ้งให้ “ขุนพลสีส้ม” คู่แข่ง - คู่แค้น อาจจะส่งผลเสียอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เดดไลน์ 2 ปี จะพิสูจน์ฝีมือ “ทักษิณ - พรรคเพื่อไทย” จากที่เคยเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ที่ไม่มีพรรคร่วมรัฐบาลมาขัดขา ขับเคลื่อนนโยบายได้เต็มกำลัง วันนี้ “ทักษิณ - พรรคเพื่อไทย” ต้องอาศัยเสียงจาก “ขั้วพรรคร่วมรัฐบาล” จนไม่สามารถผลักดันนโยบายได้
ต้องจับตาว่า “ทักษิณ - พรรคเพื่อไทย” จะกล้าพอไหมที่จะเปิดฉากรบ “เครือข่ายสีน้ำเงิน” เพื่อบริหารงานรัฐ กระชากเรตติ้งให้กลับคืนมา