นัก กม.กังขา'พีระพันธุ์' ปมบริษัทกู้ 14 ล.แจ้ง ป.ป.ช.หรือไม่

ณัฐวุฒิ นักกฎหมาย ตั้งคำถามปมงบดุล บจ. รพีโสภาค ของ “พีระพันธุ์” กู้ยืมเงิน 14 ล้าน ระหว่างเป็น รมต. เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท และได้แจ้ง ป.ป.ช.หรือไม่
จากกรณีที่นายสนธิญา สวัสดี อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ตรวจสอบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เนื่องจากพบว่า ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัท และยังไม่ได้โอนหุ้น ภายหลังเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี
นายณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายให้สัมภาษณ์ว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามไว้ตามรัฐธรรมนูญ หากเป็นจริง นายพีระพันธุ์ ย่อมกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 187 สถานะความเป็นรัฐมนตรีของนายพีระพันธุ์ย่อมสิ้นสุดลง และจะต้องเจอ ป.ป.ช.ดำเนินคดีอาญา ฐานจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ รวมถึงยื่นศาลฎีกาดำเนินคดีกรณีการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง มาตรา 235 วรรคหนึ่ง
เนื่องจากข้อเท็จจริงในฐานะเป็นกรรมการบริษัท หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด พิสูจน์กันพยานเอกสารเป็นหลัก ซึ่งเป็นเอกสารมหาชน ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และเอกสารมหาชนอยู่ในความครอบครองของนายทะเบียนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่วัดกันที่พยานบุคคล ที่สามารถช่วยเหลือหรือบิดเบือนข้อเท็จจริงกันง่าย
นายณัฐวุฒิ ระบุด้วยว่า เท่าที่ตนตรวจสอบจากนายทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในปัจจุบัน นายพีระพันธุ์ ยังคงมีสถานะเป็นเจ้าของบริษัท หรือเป็นกรรมการของบริษัท รพีโสภาค จำกัด ที่จดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และยังดำเนินกิจการอยู่ถึงปัจจุบัน
"ถามว่า นายพีระพันธุ์จะชี้แจงสังคมอย่างไร นายพีระพันธุ์ มีสถานะดำรงตำแหน่งกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท นับตั้งแต่ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี และก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2556 ต่อเนื่องตลอดจนถึงปัจจุบัน"
ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ และนางโสภาพรรณ สาลีรัฐวิภาค มารดา ซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ก่อนที่นายพีระพันธุ์เข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรี และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับ แต่ยังเป็นเจ้าของบริษัท หาได้ดำเนินการจดแจ้งต่อทะเบียนเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานะกรรมการบริษัทฯ ไม่แน่ใจว่านักกฎหมายที่เก่ง เขาผิดพลาดหรือไม่
"เท่าที่ตรวจสอบพบว่า บริษัท รพีโสภาค จำกัด ในการดำเนินกิจการบริษัท จะต้องดำเนินโดยกรรมการผู้มีอำนาจ ตามที่จดทะเบียนไว้ในหนังสือบริคณฑ์สนธิ ในการบริหารงานบริษัท เป็นอำนาจเฉพาะตัวของกรรมการที่ได้จดทะเบียนไว้ใช่หรือไม่ สิ้นปีงบประมาณ บริษัทจะต้องจัดทำงบดุลตามความเป็นจริงใช่หรือไม่ และจะต้องรับรองงบดุลการเงินทุกปี ใช่หรือไม่ ในปี 2566 และ 2567 จะต้องส่งงบการเงินต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ใช่หรือไม่"
อย่างไรก็ตาม ตนได้ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทนี้ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 บริษัทนี้ได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 14 ล้านบาท ใช่หรือไม่ โดยกระทำภายหลังนางโสภาพรรณเสียชีวิต และขณะเป็นรัฐมนตรี การดำเนินการ จะต้องทำโดยกรรมการที่มีชีวิตอยู่ ใช่หรือไม่
นายพีระพันธุ์ จำได้หรือไม่ว่าใครลงนามในขณะที่นายพีระพันธุ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งในรัฐบาลเศรษฐา และรัฐบาลนี้ กระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญโดยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบริษัท รพีโสภาค จำกัด หรือไม่ อย่างไร ให้ประชาชนช่วยกันไปดูงบการเงินของบริษัทนี้
"ถามว่าบริษัทนี้ ยังประกอบกิจการอยู่ และกระทำฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ในรัฐบาลแพทองธาร หรือไม่ ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักเลขาธิการนายกฯ ที่สื่อนำมาเผยแพร่ ระบุว่าไม่เคยเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด ผมสงสัยว่า เจ้าหน้าที่กรอกข้อมูลเอง หรือกรอกตามที่นายพีระพันธุ์ให้ไว้"
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า จำนวนเงินกู้ยืม 14 ล้านบาท ตัวเลขกลมๆ ที่งอกในงบฯ การเงิน ระบุเป็นเงินกู้ระยะสั้น ถามว่านายพีระพันธุ์ ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินหรือหนี้สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ ซึ่งมาตรา 187 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือคงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วน หรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไป ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด เป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยผลประโยชน์ขัดกัน การกระทำห้ามบุคคลที่เป็นรัฐมนตรี เว้นจะต้องแจ้งให้ประธาน ป.ป.ช.และทำการโอนหุ้นทั้งหมดให้แก่นิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียน บริหารผลประโยชน์เพื่อบุคคลอื่น
แม้ปรากฏข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบพบว่านายพีระพันธุ์ได้ทำนิติกรรมสัญญาให้นิติบุคคล บริษัทบุคคลภายนอกจัดการ แต่ยังคงสถานะเป็นกรรมการของบริษัท รพีโสภาค จำกัด ที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวในการบริหารจัดการบริษัท ซึ่งต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ประกอบกับการตรวจสอบ การถือครองหุ้นทั้ง 4 บริษัทข้างต้น ยังพบว่านายพีระพันธุ์ ยังคงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ยังมิได้โอนให้แก่นิติบุคคลเพราะถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 5 ของแต่ละบริษัท
ส่วนเจตนารมณ์ ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 187 เป็นบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ห้ามรัฐมนตรีเด็ดขาด เป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วน หรือกรรมการบริษัท และผู้ถือหุ้น อันเป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สถานะความเป็นเจ้าของ หรือกรรมการบริษัท มีสถานะไม่แตกต่างจากห้างหุ้นส่วนผู้จัดการ ของห้างหุ้นส่วนจำกัด เป็นไปตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
"เท่าที่ผมอ่านดู เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งจากเอกสารว่า นายพีระพันธุ์ ยังเป็นสถานะเป็นกรรมการบริษัท รพีโสภาค จำกัด ยังคงมีอำนาจหลัก แต่เพียงผู้เดียว เพราะมารดาได้เสียชีวิตไปแล้ว ในการบริหารจัดการภายในกิจการของบริษัท เช่น การบริหารจัดการ การรับรองงบการเงินประจำปี ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยบริษัท ได้บัญญัติในอำนาจหน้าที่กรรมการบริษัทไว้ ถือว่าเป็นพฤติกรรมเป็นการกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 187 หรือไม่" นายณัฐวุฒิ กล่าว