‘ชวน’ สิ้นมนต์ ขาลง ‘พรรคสีฟ้า’ ธนกิจการเมือง ปิดฉากพรรคคนใต้

หลังเลือกตั้งซ่อม คนเมืองคอน พูดกันสนั่นเมืองว่า “นายชวนแพ้ แต่บ้านใหญ่ชนะ” และให้จับตาการปรับ ครม.ในเร็ววันนี้ อาจมีคนโชคดี ได้โบนัสตอบแทนผลงาน
KEY
POINTS
- ช่วงทศวรรษ 2530 ปชป.พยายามโฆษณา “ความเป็นคนใต้” ที่แตกต่างจากภาคอื่น มีความกระตือรือร้นทางการเม
ควันหลงเลือกตั้งซ่อม สส.นครศรีธรรมราช เขต 8 ยังวิจารณ์กันไม่จบ กรณีพรรคประชาธิปัตย์ ส่ง “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” ลงสนาม และได้อันดับสาม 4,190 คะแนน
เนื่องจากผลคะแนนของชินวรณ์ น้อยกว่าการเลือกตั้ง สส.นครศรีฯ เขต 8 ปี 2566 ที่ประชาธิปัตย์ส่ง “ปุณณ์สิริ บุณยเกียรติ” ลูกสาวชินวรณ์ ได้ 10,529 คะแนน
อีกประเด็นหนึ่งที่มีคนพูดถึงกันมาก กรณี “ชวน หลีกภัย” หรือ “นายชวน” ขวัญใจคนปักษ์ใต้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ทุ่มเทแรงกายแรงใจหาเสียงช่วยชินวรณ์ แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
หลังเลือกตั้ง ชวน หลีกภัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชวน หลีกภัย Chuan Leekpai ถึงผลการเลือกตั้งซ่อมเขต 8 นครศรีธรรมราช โดยยืนยันว่า การลงไปช่วยหาเสียงที่เขต 8 เป็นการเผยแพร่แนวทางความเชื่อว่า ประเทศรุ่งเรืองเมื่อบ้านเมืองสุจริต
“ผมขอเป็นกำลังใจแก่พี่น้องชาวนครศรีธรรมราช ให้ยึดมั่นศรัทธาต่อการปกครองระบอบนี้ และการเมืองที่สุจริตเที่ยงธรรมตลอดไป”
ขณะที่ เฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค ปชป. คงทำใจไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ชินวรณ์จะปราชัยในสนามนี้ เพราะเดิมที “สส.แทน” ชัยชนะ เดชเดโช ต้องการให้ “สจ.บิ๊กโอ” ก้องเกียรติ เกตุสมบัติ ลงสนามเลือกซ่อม เขต 8 แต่ชินวรณ์ไม่ยอมถอย ทางพรรค ปชป.จึงตัดสินใจส่งอดีต สส.9 สมัยลงแข่ง
ช่วงทศวรรษ 2530 พรรคประชาธิปัตย์ พยายามโฆษณา “ความเป็นคนใต้” ที่แตกต่างจากภาคอื่น มีความกระตือรือร้นทางการเมือง ชื่นชอบนักการเมืองที่มีคุณธรรม และต่อต้านอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล
ดังนั้น แคมเปญหาเสียงของประชาธิปัตย์ช่วงปี 2535-2539 จึงชูภาพ “พรรคคนใต้” ผ่านสโลแกนว่า “พรรคของเรา คนของเรา”
นับแต่การเลือกตั้งปี 2562 วัฒนธรรมการเมืองภาคใต้เริ่มเปลี่ยน “ธนกิจการเมือง” เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในการเลือกตั้งทั้งท้องถิ่น และระดับชาติ
ปี 2566 คำว่า “การเมืองบ้านใหญ่” ได้เข้ามาแทนที่ “การเมืองสุจริต” ที่เคยเป็นจุดแข็งของ ปชป.ยุคชวน หลีกภัย
ดังนั้น ชวน หลีกภัย จึงตัดสินใจมาช่วยชินวรณ์ เพราะต้องพิสูจน์คำว่า การเมืองสุจริต ยังขายได้หรือไม่
“หากนายชินวรณ์ ทำการเมืองรูปแบบเหมือนพรรคการเมืองอื่นๆ คือ การซื้อเสียง ผมจะไม่ลงมาช่วยอย่างเด็ดขาด” ชวนกล่าว
พูดกันตรงๆ “นายชวน” รู้แต่แรกแล้วว่า ชินวรณ์คงแพ้เลือกตั้ง แต่อยากรู้ว่าจะได้คะแนนกี่มากน้อย ซึ่งผลคะแนน 4 พันเศษ ดูจะโหดร้ายกับขวัญใจคนใต้ นายกฯ ของคนใต้ มากเกินไป
คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบัน เรียกว่า “ปชป.ยุคบ้านใหญ่” โดยการนำของ เฉลิมชัย ศรีอ่อน เดชอิศม์ ขาวทอง และชัยชนะ เดชเดโช ซึ่งมีผู้อาวุโส 3 คน เป็นเสมือนตัวแทนแบรนด์เก่า
มีข้อน่าสังเกต การเลือกตั้งซ่อม เขต 8 เที่ยวนี้ แทบจะไม่เห็นบทบาทของ “แทน” ชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภาคใต้
มีเพียง “เจ๊ต้อย” กนกพร เดชเดโช อดีตนายก อบจ.นครศรีธรรมราช มารดาของ สส.แทน ที่ไปขึ้นเวทีช่วยชินวรณ์ 2 ครั้ง
ส่วน สส.เมืองคนอื่น อย่าง ราชิต สุดพุ่ม ทรงศักดิ์ มุสิกอง พิทักษ์เดช เดชเดโช ยุทธการ รัตนมาศ และอวยพรศรี เชาวลิต ก็โผล่ไปแค่วันปราศรัยใหญ่ครั้งสุดท้าย
การเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช ปี 2566 ปชป.ได้ สส. 6 ที่นั่ง จากทั้งหมด 10 ที่นั่ง ถือว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในยามที่ ปชป.ตกต่ำทั่วภาคใต้
ด้วยเหตุนี้ “สส.แทน” จึงขยับขึ้นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ และมีความพร้อมที่จะเป็นรัฐมนตรี แต่บังเอิญ ปชป.ได้โควตา 2 เก้าอี้ จึงตกเป็นของเฉลิมชัย ศรีอ่อน และเดชอิศม์ ขาวทอง
หลังเลือกตั้งซ่อม คนเมืองคอนพูดกันสนั่นเมืองว่า “นายชวนแพ้ แต่บ้านใหญ่ชนะ” และให้จับตาการปรับ ครม.ในเร็ววันนี้ อาจมีคนโชคดีได้โบนัสตอบแทนผลงาน
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์