ฝ่ายค้านระดมสมอง ประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ชง 5 ข้อรับมือ

ฝ่ายค้านระดมสมอง ประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ชง 5 ข้อรับมือ

'ผู้นำฝ่ายค้าน' จัดเสวนาระดมความคิด ประเมินผลกระทบ 'สงครามการค้าสหรัฐฯ' จัดวางตำแหน่งใหม่ เศรษฐกิจไทยในโลกแห่งความผันผวน ชงยุทธศาสตร์ 5 เสา พร้อมรับมือ

เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2568 ที่โรงแรมโนโวเทล แพลตินัม ประตูน้ำ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) พร้อมด้วยทีมนโยบายเศรษฐกิจของพรรค จัดงานเสวนา “Re-positioning Thailand: วางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทยในสงครามการค้า” ภายใต้โครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรพบประชาชน เปิดเวทีแสดงวิสัยทัศน์และระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเปลี่ยนวิกฤตโลกให้เป็นโอกาสในการวางตำแหน่งใหม่เศรษฐกิจไทย 

นายณัฐพงษ์ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า สงครามการค้าจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ไม่เพียงต่อเศรษฐกิจระดับมหภาค แต่ยังส่งผลต่อประชาชนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย ตนในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจึงใช้พื้นที่นี้เป็นเวทีรับฟังความกังวลและข้อคิดเห็นอย่างรอบด้าน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับพิจารณาข้อเสนอการแก้ปัญหาผ่านกลไกนิติบัญญัติต่อไป

ฝ่ายค้านระดมสมอง ประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ชง 5 ข้อรับมือ

นายณัฐพงษ์ ขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “Global Updates and Thailand’s Scenarios: ประเทศอื่นทำอะไร ฉากทัศน์ประเทศไทย และหลักการรับมือ” โดยฉายภาพให้เห็นว่า ความซับซ้อนและไม่แน่นอนของสถานการณ์อาจทำให้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้หลายฉากทัศน์มาก ทั้งฉากทัศน์ที่อาจดีที่สุด (Best Case) คือเจรจาสำเร็จ ไทยโดนภาษีแค่ฐาน 10% ไม่สูญเสียตลาดมากนัก ฉากทัศน์ที่แย่ที่สุด (Worst Case) คือกรณีเจรจาไม่สำเร็จ และหรือเสียเปรียบประเทศคู่แข่งขัน ตลาดโลกอาจปั่นป่วนมาก ไทยเสี่ยงเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายคงพยายามหลีกเลี่ยงฉากทัศน์นี้อย่างเต็มที่ .
ส่วนฉากทัศน์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้มากที่สุด (Base Case) คือการได้ผลลัพธ์จากการเจรจาที่ดีพอสมควร แม้ไทยต้องสูญเสียบางตลาด และตลาดโลกหดตัว คู่ค้าหันไปซื้อของสหรัฐฯ บ้างแต่ไม่มากนัก ทั้งนี้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกลไกรับมือ และกลไกเยียวยาที่ดีพอด้วย

นายณัฐพงษ์ กล่าวย้ำว่า ในสภาวะที่ระเบียบโลกกำลังผันผวน ไทยในฐานะประเทศขนาดกลาง (Middle Power) ควรกำหนดบทบาทและวาระของตนเองให้เป็นประเทศที่กำหนดอนาคตของตนเองได้ พร้อมทั้งเสนอยุทธศาสตร์ 5 เสาที่ไทยควรเตรียมพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้า พร้อมกับใช้โอกาสนี้พลิกโฉมเปลี่ยนประเทศ ได้แก่

ฝ่ายค้านระดมสมอง ประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ชง 5 ข้อรับมือ

1.“เจรจา” (Negotiate) คือการเตรียมเจรจากับสหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และลดกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด 

2. “กระชับ” (Strengthen) คือการกระชับความร่วมมือกับคู่ค้าเดิมและคู่ค้าใหม่ๆ เช่น กลุ่ม BIMSTEC สหภาพยุโรป หรือประเทศในทวีปแอฟริกา ภายใต้หลักการแสวงหาการค้า การแลกเปลี่ยน และความร่วมมือที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน

3. “รับมือ” (Manage) คือการรับมือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะผลกระทบจากสินค้านำเข้าล้นตลาดในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เพื่อป้องกันและรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยจะต้องไม่เป็นการกีดกันหรือตอบโต้ทางการค้ากับประเทศอื่น 

4. “เยียวยา” (Rehabilitate) คือการติดตาม ช่วยเหลือ และเยียวยาในแต่ละห่วงโซ่อุปทานที่ได้รับผลกระทบ 

5. “ลงทุน” (Invest) คือการลงทุนเชิงรุกในนวัตกรรม อุตสาหกรรมใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานอนาคต เพื่อปรับตัว เตรียมพร้อมรับความเสี่ยง และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการผลิต

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัด Opening Dialouge เปิดประเด็นสนทนาเพื่อการเตรียมความพร้อมใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคประชาชน เสนอแนวทางเตรียมความพร้อมเศรษฐกิจภายในประเทศให้พร้อมรับมือสงครามการค้า ผ่านมาตรการ 3R คือ การเยียวยา-บรรเทาผลกระทบเฉพาะหน้า (Relief) การกระตุ้น-ฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น (Recovery) และการปฏิรูป-ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว (Reform) พร้อมย้ำว่า การจะรับมือกับสงครามการค้าได้อย่างมีประสิทธิผล รัฐต้องจัดให้มีศูนย์กลางการตัดสินใจ สื่อสารต่อสาธารณะอย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความสับสน ใช้กลไกนโยบายรัฐที่มีอยู่มาขับเคลื่อนร่วมกัน รวมถึงควรใช้โอกาสนี้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจ (Incentive Structure) และปรับปรุงกฎระเบียบของรัฐที่เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจและการค้า 

ฝ่ายค้านระดมสมอง ประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ชง 5 ข้อรับมือ

ขณะที่ นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร รองหัวหน้าพรรคประชาชน และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ นำเสนอในหัวข้อนโยบายอุตสาหกรรมไทยในยุคสงครามการค้า โดยชี้ว่าปัญหาสำคัญในปัจจุบันคือการบริโภคในประเทศไม่ได้ช่วยเพิ่มการผลิต เพราะเศรษฐกิจไทยมี “รูรั่ว” มหาศาล โดยเฉพาะการที่สินค้านำเข้าจากจีนเข้ามาทดแทนสินค้าไทย จนยอดขาดดุลการค้าของไทยกับจีนปี 2567 ทะยานสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1.6 ล้านล้านบาท ดังนั้น ทีมไทยแลนด์จึงต้องเริ่มต้นด้วยการอุดรูรั่วเศรษฐกิจไทย ใช้มาตรการการค้าสากลเพื่อรักษาการแข่งขันที่เป็นธรรม เพราะถ้าเราไม่เริ่มต้นด้วยการอุดรูรั่ว ยิ่งกระตุ้นการบริโภคในประเทศมากเท่าใด ภาคอุตสาหกรรมไทยก็อาจจะยิ่งเจ็บหนักมากขึ้นเท่านั้น 

หลังจากอุดรูรั่วแล้ว การใช้งบประมาณสำหรับภาคอุตสาหกรรมก็ควรคำนึงถึงความสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย เช่น งบปี 2568 ของไทยที่ลงไปกับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นไม่น้อย มีถึง 8,600 ล้านบาท แต่พอไปดูเนื้อในของงบ ปรากฏว่าเกิน 90% คือการใช้เงินอุดหนุนคนซื้อรถยนต์อีวีรวมแล้ว 8,000 ล้าน เหลืองบส่วนที่จะช่วยด้านพัฒนาทักษะการผลิต-ทักษะแรงงานเพียง 500 ล้าน หรือแค่ 7% เท่านั้น นอกจากนี้ ไทยควรกำหนด “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” เพื่อระดมสรรพกำลัง ขยายเครือข่ายและปริมาณการผลิตเพื่อไม่ให้ตกขบวนเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ละทิ้งการสนับสนุนพื้นฐานให้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น การช่วยหาตลาดใหม่ รวมถึงการลดภาษีเพื่อกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา (R&D) 

ฝ่ายค้านระดมสมอง ประเมินผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ ชง 5 ข้อรับมือ

สำหรับภาคเกษตร นายเดชรัต สุขกำเนิด ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้านฯ และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต (Think Forward Center) พรรคประชาชน กล่าวถึงการเตรียมความพร้อม-วางตําแหน่งใหม่ให้กับภาคเกษตรไทยว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปสหรัฐฯ คิดเป็นเพียง 9.7% ของมูลค่าสินค้าส่งออกทั้งหมด แต่สาเหตุที่สหรัฐฯ เพ่งเล็งภาคเกษตรไทยเป็นการเฉพาะ ก็เพราะต้องการผลักดันให้ไทยเปิดตลาดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ควรกำหนดหลักการหรือแนวทางสำคัญในการเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ โดยต้องอยู่บนหลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วม แจ้งให้สาธารณชนรับทราบ รวมถึงเปิดให้เกษตรกรและองค์กรต่างๆ ได้มีส่วนร่วมแสดงความเห็นก่อนการเจรจา พร้อมกันนี้ต้องประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเจรจาในทุกส่วนของห่วงโซ่อุปทาน และจะต้องพิจารณาถึงมาตรการในการลดผลกระทบควบคู่ไปด้วย

ภายหลังจากการอภิปรายเปิดประเด็น นายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล ประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ และนายวรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ได้ดำเนินกระบวนการแลกเปลี่ยนหารือกับผู้ร่วมงานทั้งผู้แทนภาคธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าระดับจังหวัด อุตสาหกรรมเกษตร อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

โดยข้อคิดเห็นจากผู้ร่วมงานจะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลนำเข้าสำหรับการศึกษาผลกระทบและออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบายในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบจากนโยบายกำแพงภาษีและสงครามการค้า สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสิทธิพลเป็นประธานอนุกรรมาธิการ เพื่อใช้กลไกนิติบัญญัติในการติดตาม แก้ปัญหาให้เต็มประสิทธิภาพ และส่งเสริมให้การทำงานนิติบัญญัติมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งขึ้น