'ผู้ว่า สตง.' พร้อมรับผลตรวจสอบ ยันไม่มีการปลอมวิศวกร

"มณเฑียร" พร้อมรับผลการตรวจสอบ ตึก สตง.ถล่ม ยอมรับมีการแก้ไขแบบให้เหมาะสมกับสถานที่จริง ยันไม่มีการปลอมวิศวกร บอก บ.ก่อสร้าง เสนอชื่อมาตั้งแต่แรก
ที่รัฐสภา นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเข้าชี้แจงต่อ กรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กรณีตึก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ถล่ม (ตึกสตง.ถล่ม) จากเหตุแผ่นดินไหว เมื่อ 28 มี.ค. ซึ่งใช้เวลานานกว่า 4 ชั่วโมง ว่า ในการก่อสร้างได้การจ้างบริษัทก่อสร้าง วงเงิน 2,100 ล้านบาท โดยจ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด เป็นเงิน 966 ล้านบาท ทั้งนี้ในเรื่องการออกแบบที่ระบุว่าไม่มีการลงนามรับรองนั้น ตนได้นำเอกสารให้ กมธ.ได้ดูและถามไปยังบริษัทผู้ออกแบบ ซึ่งได้คำตอบว่า บุคคลที่ลงนามรับรองทำงานอยู่กับบริษัทที่ออกแบบ ขณะที่การจ้างควบคุมงานบุคคลที่อ้างว่าไม่ได้ลงนามควบคุมงานนั้น มีวิศวกรอยู่ 2 ประเภท คือ วิศวกรที่ปรึกษากับวิศวกรที่ควบคุมงาน ซึ่งวิศวกรที่ควบคุมงานต้องมาคุมงาน แต่วิศวกรที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องมาควบคุมงานแต่ต้องรับรองเอกสาร ทั้งนี้ชื่อของนายสมเกียรติ ชูแสงสุข วิศวกรผู้ควบคุมงาน เป็นชื่อที่ถูกเสนอมาตั้งแต่แรก ไม่เคยเปลี่ยน และไม่ใช่มีชื่ออย่างเดียว วิศวกรแต่ละคนต้องมีหนังสือยินยอมว่าจะมารับผิดชอบงานนี้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดยมีหลักฐานวุฒิบัตร บัตรประจำตัวประชาชน ส่วนกรณีที่นายสมเกียรติบอกว่าไม่รับรู้ต้องไปดำเนินคดีกัน
"สำหรับบุคคลที่เป็นข่าวนั้นคือวิศวกรที่ปรึกษา เพราะฉะนั้นการวิศวกรที่ปรึกษาไม่ต้องมาคุมงาน แต่เอกสารที่จะลงนามในฐานะบริษัท ที่เป็นผู้คุมงานที่เราจ้างมา ต้องผ่านการรับรอง ของวิศวกรที่มีวุฒิวิศวกรโยธา ทั้งนี้ที่ผ่านมาไม่เคยมีการเปลี่ยนตัว อย่างไรก็ดีผมได้มอบข้อมูลทั้งหมดให้กมธ.แล้วและพร้อมเปิดให้มีการตรวจสอบ ทั้งคณะของรัฐบาล กรมสอบสวนคดีพิเศษ พนักงานสอบสวน และหน่วยงานต่าง ๆ ตรวจสอบ"นายมณเฑียร กล่าว
นายมณเฑียร กล่าวตอบคำถามถึงการแก้ไขแบบก่อสร้างที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นประเด็นให้ตึกถล่ม ว่า การก่อสร้างต้องปรับแก้ไขแบบตามสถานที่จริงซึ่งเป็นปกติของตึกขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อจ้างคนออกแบบแต่คนก่อสร้างเห็นว่าขัดกับแบบ หรือก่อสร้างขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อหลักวิศวกรรม หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหาย จะเสนอผ่านผู้ควบคุมงาน เพื่อให้พิจารณาปรับแบบบ้าง ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายทางวิศวกรรม
เมื่อถามว่าเรื่องปล่องลิฟท์เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ใช่หรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ใช่ ขณะที่การแก้ไขแบบและวัสดุต่างๆ นั้นยอมรับว่ามีการแก้ไขจริง แต่การแก้ไขจะมีผลกระทบอย่างไรนั้น ต้องรอผลการตรวจสอบ ซึ่งสตง.รับได้หมด
เมื่อถามว่า สตง. ในฐานะเจ้าของโครงการ จะรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร นายมณเฑียร กล่าวว่า
"เป็นความผิดของใครก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นเอกชนที่มารับจ้างหรือข้าราชการสตง. เราดำเนินคดีถึงที่สุด ทุกคนไม่เว้น"
ผู้สื่อข่าวถามถึงการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่ของสตง. นายมณเฑียร กล่าวว่า ต้องรอ 90 วัน ทั้งนี้ สตง. เป็นองค์กรตรวจสอบ ต้องยึดตามกฎหมาย ตามระเบียบ ทุกอย่างเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นเรื่องเอกสาร และยินดีให้ความร่วมมือ กับคณะกรรมการตรวจสอบ และกมธ. แต่ทุกอย่างจะต้องยืนอยู่บนฐานของความถูกต้อง
เมื่อถามว่ามีตัวแทนบริษัทอื่นอีกหรือไม่นอกจากไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 หรือไม่ เพราะมีการปรากฏภาพ 2 พ่อลูกคนจีน เข้ามาอยู่ในวันที่ลงนาม นายมณเฑียร กล่าวว่า เหตุการณ์นั้นตนไม่ได้อยู่ เพราะเพิ่งเข้ามาไม่ถึงปี แต่ตนจะไปตรวจสอบให้ เพราะตอบไปเดี๋ยวผิด และเท่าที่รู้ตอนนี้คนที่รับผิดชอบตามสัญญาคือบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10
เมื่อซักถึงเรื่องการบอกเลิกสัญญาตอนต้นปี แต่สัญญาไม่ได้ถูกยกเลิก เพราะอะไร ด้วยเหตุผลใด ผู้ว่า สตง. กล่าวว่า อยู่ในกระบวนการ ซึ่งการบอกเลิกสัญญาของราชการ จะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 1 ปี ทั้งนี้บริษัทดังกล่าวทำงานแล้วมีปัญหา เขาก็จะบอกเลิกสัญญาอยู่หลายหน่วยงานแล้ว แต่กระบวนการบอกเลิก ใช้เวลานาน ต้องให้เวลาชี้แจง.