'กมธ.ปราบโกง' คาใจปมฮั้ว ทำ 'ตึก สตง.ถล่ม' ชงเสนอ 'ป.ป.ช.' ร่วมสอบ

'กมธ.ปราบโกง' คาใจปมฮั้ว ทำ 'ตึก สตง.ถล่ม' ชงเสนอ 'ป.ป.ช.' ร่วมสอบ

"กมธ.ปราบโกง" สภาฯ ตั้งข้อสังเกต ปมตึก สตง. ถล่ม เป็นเพราะการฮั้วหรือไม่ ค้นสาเหตุเพราะบ.ไทย หรือ บ.จีน พร้อมมองการตรวจสอบ ควรให้ "ป.ป.ช." ดำเนินการร่วม

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุม คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกมธ. ซึ่งมีวาระตรวจสอบกรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน แห่งใหม่ถล่ม (ตึกสตง.ถล่ม) เมื่อ 28 มี.ค. ซึ่งใช้เวลาพิจารณานานกว่า 4 ชั่วโมง

โดยภายหลังการประชุม นายฉลาด ให้สัมภาษณ์ว่า  ผู้ว่าสตง. พร้อมคณะทั้งหมด 19 คน มาชี้แจงในรายละเอียดที่สังคมคาใจ เช่น ประเด็นการลงนามรับรองแบบ คนลงนามไม่ใช่ผู้ควบคุมงาน และมีตัวละครที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเอกสาร โดยเฉพาะ นายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร และวุฒิสมาชิก สาขาวิศกรรมสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมงานในฐานะผู้รับจ้างจาก สตง.    

ขณะที่ นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กมม. พรรคประชาชน ฐานะกมธ. ให้สัมภาษณ์ด้วยว่าเป็นการเข้าชี้แจงครั้งแรกของ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่า สตง. ทั้งนี้กมธ.ได้ติดตามเพิ่มเติมใน 3 ประเด็นคือ   การออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน สำหรับการออกแบบ กมธ.ฯ ตั้งประเด็นถึงการเลือกแบบเฉพาะ แทนที่จะประมูลแบบก่อสร้างตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.ประกวดแบบจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งผู้ว่า สตง. ระบุว่าเป็นตึกที่มีความซับซ้อน และมีประกาศของกฎกระทรวงรองรับไว้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้าง กมธ.ฯตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ระยะเวลาที่สั้นเพียงแค่  1 เดือน ในการเลือกแบบก่อสร้าง 

นายธีรัจชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างยังใช้ระบบอี-บิดดิ้ง สามารถลดราคาได้ 300 ล้านบาทในปี 2563 แต่ในปี 2562 ธนาคารโลกแบนบริษัทที่รับเหมาก่อสร้าง เพราะมีเหตุการก่อสร้างโดยบริษัทดังกล่าวถล่มที่ประเทศชิลี ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นข่าวที่แพร่ออกไปทั่วโลก แต่ทำไมยังใช้บริษัทนี้รับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการจดทะเบียนในประเทศไทยเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น รวมไปถึงการซื้อซองประมูลโครงการก่อน แต่ภายหลังไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลอะไร ตนไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องของผลงานหรือไม่ ถึงใช้ชื่อบริษัทในประเทศไทยที่มีผลงานมารับซองต่อ เพราะยังตั้งคำถาม ถึงหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างหลักว่าเป็นของไทยหรือจีน ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏนั้นตนเห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทจีนส่วนใหญ่ แม้ว่าไทยจะถือหุ้น  51% และจีน 49% 

"กมธ.ตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบวัสดุในการก่อสร้างของคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างจาก สตง. ว่า ถ้ามีการฮั้วจริง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าไม่เกิดก็ไม่เป็นอะไร  ลักษณะที่เกิดขึ้นนี้ ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน การออกแบบ อาจไม่ละเอียดพอ ซึ่งจากการชี้แจง ผมตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เป็นการบกพร่องผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่ หรือถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่ และการตรวจสอบจะโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ของ สตง. และการก่อสร้างทุกขั้นตอน ดังนั้นอยากให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบภายในเพิ่มเติม เพราะ สตง.ไม่ใช่หน่วยงานรัฐทั่วไป จะใช้ระเบียบทั่วไปไม่ได้" นายธีรัจชัย กล่าว.