ระทึก!คำพิพากษาศาลโลก ปมพระวิหาร

จับตาคำพิพากษาศาลโลก ส่งผล "3 ปราสาท" ริมแดนไทย-กัมพูชา
แม้ว่าคณะต่อสู้คดีปราสาทพระวิหาร รวมทั้งนักกฎหมายหลายคน ตลอดจนผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาล จะแสดงความเชื่อมั่นว่าคำร้องของรัฐบาลกัมพูชาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก เพื่อให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2505 ว่า บริเวณโดยรอบปราสาท หรือ vicinity มีขอบเขตแค่ไหน ถึงที่สุดแล้วศาลน่าจะไม่รับตีความนั้น
ทว่าหากพิจารณาในทางร้ายสุดๆ ก็ใช่ว่าโอกาสที่ศาลจะ "รับตีความ" คำร้องของกัมพูชาจนก่อผลเสียกับไทย จะไม่เกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะกัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความขอบเขต vicinity ว่า ถูกกำหนดโดย "เส้นเขตแดน" หรือไม่ และเส้นเขตแดนให้ใช้แผนที่ 1:200,000 ของฝรั่งเศส
คณะต่อสู้คดีฝ่ายไทยยอมรับเองว่าหากศาลโลกรับตีความ และยืนยันว่ามีอำนาจพิจารณา คำพิพากษาย่อมมีโอกาสออกได้ 3 แนวทาง กล่าวคือ
- vicinity หรือ บริเวณโดยรอบปราสาทเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีของไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 (สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ วัดจากแกนปราสาทออกไปทุกด้าน 100 เมตร)
- vicinity เป็นไปตามความต้องการของกัมพูชา ซึ่งถ้าออกแนวทางนี้ ไทยอาจเสียพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร
- ออกกลางๆ คือ อาจให้ขยาย vicinity แต่จะมีปัญหาตามมาหลายอย่าง เช่น การถ่ายแผนที่ 1:200,000 ลงมาเป็นแผนที่จริง
หากคำพิพากษาออกมาในแนวทางที่ 2 คือ ขอบเขตของบริเวณโดยรอบปราสาทเป็นไปตามเส้นเขตแดนที่กัมพูชายึดถือ และยึดโยงกับแผนที่ 1:200,000 จะถือว่าเป็น "ข่าวร้ายสุดๆ" ของไทย
แม้แต่ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ซึ่งเคยมีส่วนทำงานในคดีพิพาทต่างๆ บนศาลโลก ยังบอกว่า หากศาลไปยึดถือแผนที่ 1:200,000 จะเกิดความโกลาหล เพราะแผนที่ฉบับนี้ไม่ได้กำหนดรายละเอียดจำเพาะบริเวณตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่เป็นเส้นเขตแดนตลอดแนวเทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฉบับนี้
แม้ อาจารย์วีรพัฒน์ ชี้ว่า โอกาสที่ศาลจะชี้ขาดในลักษณะดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อย แต่ก็ยอมรับว่าถ้าเกิดขึ้นจริงจะไม่ได้มีแค่คดีปราสาทพระวิหาร ทว่าจะบานปลายกลายเป็นข้อพิพาทแห่งเทือกเขาพนมดงรักเลยทีเดียว
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ "กรุงเทพธุรกิจ" พบว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงที่มีความเชี่ยวชาญด้านเส้นเขตแดน ได้เคยจัดทำเอกสารรายงานหน่วยเหนือเกี่ยวกับปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชา สรุปว่ามีปัญหาถึง 13 จุด และมีราว 6 จุด ที่อยู่ในแนวเทือกเขาพนมดงรัก (รวมปราสาทพระวิหาร) ในจำนวนนี้ 3 จุด เป็นที่ตั้งของปราสาทและกลุ่มปราสาท (ไม่รวมปราสาทพระวิหาร) เริ่มจาก
1.ปราสาทตาควาย อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองปราสาทตาควาย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหลักเขตแดนที่ 21 และ ที่ 22 จากการตรวจสอบโดยประมาณของฝ่ายไทยฝ่ายเดียว พบว่า ตัวปราสาทตั้งคร่อมสันปันน้ำ การพิสูจน์ให้แน่ชัดต้องมีการสำรวจโดยละเอียด แต่ปัจจุบันไม่สามารถกระทำได้
ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์ในตัวปราสาทตาควาย เกิดขึ้นภายหลังจากที่ฝ่ายกัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกในปี 2551 และพยายามอ้างกรรมสิทธิ์ในปราสาทหลังอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บริเวณแนวพรมแดนไทย-กัมพูชา
2.ปราสาทตาเมือน อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เป็นกลุ่มปราสาท ประกอบด้วยปราสาท 3 หลัง ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของฝ่ายไทย ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และ ปราสาทตาเมือนบายกรีม
ทั้งนี้ กลุ่มปราสาทตั้งอยู่ใกล้ชายแดนไทย-กัมพูชา และใกล้ที่ตั้งหลักเขตแดนที่ 23 ซึ่งสูญหาย โดยในปี 2550 ชุดสำรวจร่วมไทย-กัมพูชา ได้สำรวจและกำหนดที่ตั้งหลักชั่วคราวของหลักเขตแดนที่ 23 แตกต่างกันประมาณ 800 เมตร โดยฝ่ายไทยกำหนดที่ตั้งหลักให้ปราสาททั้งสามหลังอยู่ในเขตไทยเป็นหลักสีน้ำเงิน ส่วนฝ่ายกัมพูชากำหนดที่ตั้งหลักให้ปราสาท 2 หลัง คือ ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาเมือนโต๊ด อยู่ในเขตกัมพูชาเป็นหลักสีแดง
3.ปราสาทโดนตวล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของไทย โดยฝ่ายกัมพูชายังไม่ได้ทักท้วงหรืออ้างกรรมสิทธิ์ในตัวปราสาท
นอกจากนั้น ยังมีบริเวณช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ที่ฝ่ายไทยยึดถือแนวเขตแดนตามแผนที่ชุด L 7017 ส่วนกัมพูชากลับยึดถือแนวสันปันน้ำ และยังมีปราสาทสด๊กก๊อกธม อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ที่ฝ่ายกัมพูชาเคยอ้างว่าน่าจะอยู่ในเขตแดนของตนอีกด้วย
ย้อนกลับไปที่ปัญหาปราสาทพระวิหาร ข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงที่เชี่ยวชาญ ระบุว่า ไทยยึดถือเส้นเขตแดนไปตามอนุสัญญาปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1907 ซึ่งเป็นไปตามสันปันน้ำของทิวเขาพนมดงรัก โดยจะกันตัวปราสาทพระวิหารไว้ในเขตไทย ในขณะที่กัมพูชายึดถือเส้นเขตแดนไปตามแผนที่ของคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส มาตราส่วน 1:200,000 โดยแผนที่ปักปันเขียนแนวเส้นเขตแดนไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญา ซึ่งต้องไปตามสันปันน้ำ แต่กลับเขียนกันปราสาทพระวิหารไว้ในฝั่งกัมพูชา จึงเป็นสาเหตุให้ไทยและกัมพูชาเกิดข้อพิพาทกรณีปราสาทพระวิหาร จนต้องนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505
ปัจจุบัน ความแตกต่างของสันปันน้ำตามที่ไทยยึดถือ กับเส้นเขตแดนบนแผนที่คณะกรรมการปักปันฯ ทำให้เกิดพื้นที่พิพาทขนาดประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร ประกอบกับในพื้นที่พิพาท ฝ่ายกัมพูชาได้ละเมิดบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ปี พ.ศ. 2543 ข้อ 5 โดยการสร้างถนนและวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ เพื่อแสดงกรรมสิทธิ์ในพื้นที่พิพาทด้วย
น่าเชื่อว่า การแถลงด้วยวาจาต่อศาลโลกของคู่ความทั้งกัมพูชาและไทย น่าจะทำให้มองเห็นรายละเอียดของคดีและหลักฐานที่ต่างฝ่ายต่างหยิบมาอ้างเพิ่มมากขึ้น ก่อนจะต้องลุ้นด้วยใจระทึกว่า คำพิพากษาของศาลโลกเที่ยวนี้ จะเป็นการยุติข้อพิพาทว่าด้วยปราสาทพระวิหาร หรือขยายวงปัญหาให้ลุกลามบานปลายมากขึ้นกว่าเดิม!