บทเรียนน้ำมั่นรั่ว ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
บทเรียนน้ำมั่นรั่ว ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เอ็นจีโอยื่น 3 หมื่นชื่อ ตั้งกรรมการอิสระตรวจสอบ
เหตุการณ์น้ำมันดิบจำนวนกว่า 5 หมื่นลิตรของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี)รั่วไหลในทะเลระยอง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในมาตรการป้องกันอุบัติภัยทางทะเลจากอุบัติเหตุน้ำมัน แต่ยังนำมาซึ่งการบทเรียนให้หน่วยงานรัฐ เอกชน และหลายภาคส่วนต้องหันกลับมองจุดอ่อนที่เกิดขึ้น
"กลุ่มจับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว" นำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จัดเวที “คำถามที่ปตท.ต้องตอบ... ก่อนที่ความจริงจะหายไปพร้อมกับคราบน้ำมัน” โดยมีตัวแทนนักวิชาการ องค์กรอนุรักษ์ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ร่วมสะท้อนหายนะทางทะเลอ่าวไทย
" ตั้งแต่เกิดเหตุแขกยกเลิกการจอง และแขกวอล์กอินไม่มีเลย แม้แต่ช่วงวันหยุดมีแขกที่จองห้องพักไว้10 ห้องยังโทรมาขอยกเลิก ฝากถามปตท.ว่าแบบนี้จะทำอย่างไร หรือแค่บอกคำว่าขอโทษ เสียใจแล้วจบ" ดุจหทัย นาวาพานิช ตัวแทนผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะเสม็ด สะท้อนปัญหา
ไม่ต่างเสียงของวีระศักดิ์ ครณรงค์ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่ว จ.ระยอง บอกพร้อมกับโชว์คราบตะกอนน้ำมันที่พัดไปไกลถึงหาดแม่รำพึง และอ.แกลง จ.ระยอง
วีระศักดิ์ บอกว่า ขณะนี้ชาวประมง ยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่าง100% ทั้งที่เจอผลกระทบในวงกว้างและระยะยาว แต่เขากลับบอกว่าน้ำมันลงทะเล และหกรดทรายครั้งนี้ไม่มีผลกระทบ หน่วยงานไปพิสูจน์ตอนเช้า เย็นมาบอกว่าไม่มีผลกระทบ
"ตอนนี้การกินสัตว์น้ำมีผลข้างเคียงจริงๆ เพื่อนชาวประมงเขากินปลาไปแล้ว กินกุ้ง กินหมึก 3 คนผื่นขึ้น 3 คน ผมถามว่าถ้าผมจับปลาได้ 400 กิโลกรัมแล้วไปให้คน 400 คนถ้าเขากินแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แต่วันนี้ทั้งรัฐ และปตท.พยายามบอกว่าไม่มีอะไรแล้ว ข้อเท็จจริงคือ ปตท. และจังหวัด ต้องแก้ไข ไม่ใช่ปกปิดให้จมลงในน้ำทะเล เพราะวันนี้ จะ 1 หรือ 50% หรือร้อยก็เป็นมลพิษเหมือนกัน วันนี้ต้องแก้ไข เพราะไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่จะแก้ไขแล้ว"วีระศักดิ์ ให้ข้อมูล
ขณะที่ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นอุบัติเหตุครั้งที่ 226 ในรอบ 40 ปี และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้น ทำให้กลุ่ม “จับตาน้ำมัน ปตท. รั่ว” ได้ร่วมกันรณรงค์ผ่านทาง เวปไซด์ www.change.org/oilspill เพื่อเชิญชวนให้ผู้สนใจร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง โดยเป้าหมายหลักเพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดจากกรณีปัญหาน้ำมันรั่ว รวมถึงตรวจสอบผลกระทบ และความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสนอหลักการฟื้นฟูความเสียหายและข้อเสนอแนะทางโครงสร้างกฎหมาย และกลไกรับมือให้กับรัฐบาล
เธอบอกว่า ขณะนี้มีผู้สนับสนุนข้อเรียกร้องนี้จำนวน 3 หมื่นรายทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ และเตรียมนำรายชื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 27 ส.ค.นี้ โดยจะไม่มีกำหนดตายตัวว่ารัฐบาลจะยอมตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาเมื่อไหร่ เพราะเรื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดและดูใจว่ารัฐบาลสนใจเสียงเรียกร้องของประชาชนหรือไม่
" มีหลายประเด็นที่ยังไม่เคลียร์ เช่น ปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเล การใช้สารเคมีย่อยสลายคราบน้ำมันที่มีรายงานสูงกว่า 32,000 ลิตร ถือว่ามากเกินมาตรฐาน ผลกระทบต่อสารเคมี สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเยียวยากับทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุนี้ โดยคาดหวังให้กรรมการชุดนี้เป็นอิสระ แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี มีอำนาจในการเรียกสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงจากหน่วยงานรัฐเอกชน ส่วนองค์ประกอบน่าจะมีตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน เพื่อให้มีข้อเท็จจริงที่ปราศจากข้อกังขาของสังคม" เพ็ญโฉม บอกเป้าหมาย
ขณะที่ มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่พร้อมต่อการรับมือ และเก็บกู้คราบน้ำมันที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมของปตท. และเผยถึงงานวิจัยของนักวิจัยชาวอิสราเอลที่ยืนยันว่าปะการังมีความอ่อนไหวจากคราบน้ำมันและสารเคมีที่ย่อยสลายโดยตรง
มล.กรกสิวัฒน์ บอกว่า ถ้าดูจากการเก็บกู้คราบน้ำมัน เราไม่เห็นการใช้อุปกรณ์เครื่องกลในการล้อมวงน้ำมันดิบที่รั่วลงทะเล และล้อมคราบน้ำมันเพื่อดูดกลับ หรือแม้แต่การทำทุ่นล้อมทั้งที่รู้ทิศทางการเคลื่อนตัวของน้ำมันที่เข้าที่เกาะเสม็ด ขณะที่ความสงสัยต่อการเลือกใช้สารเคมี 2 ชนิดคือที่ขออนุญาตจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพียง 5,000 ลิตร แต่ใช้ไปถึง 32,000 ลิตรในทางวิชาการมีความผิดปกติหรือไม่ ขณะที่ผลกระทบจากสารเคมีที่สลายเองตามธรรมชาติโดยใช้เวลา 50 วันขึ้นไป แต่ผู้ใหญ่กลับบอกว่าย่อยสลายภายใน 2 วัน
" การใช้สารเคมีควรเป็นทางเลือกสุดท้ายในการปฏิบัติงานเก็บกู้คราบน้ำมันทางทะเล ซึ่งเคสนี้ผิดทั้งขั้นตอนการทำงาน และขาดความพร้อมต่ออุปกรณ์ และยังไม่กล้าตอบความจริงต่อสังคม โดยเฉพาะผลกระทบจากสารเคมีและคราบน้ำมันที่รั่วไหลนั้น มีรายงานวิจัยของอิสราเอลที่ชี้ชัดว่าภายใน 24 ชั่วโมงหากปะการังสัมผัสสารเคมีย่อยสลายคราบน้ำมันเพียง แค่ 1 ใน 4 จะทำให้ปะการังทุกชนิดตาย และมีอัตรารอดช้า"
เขาย้ำว่า แต่พื้นที่เสม็ดมีการใช้สารเคมีปริมาณมาก และมีระยะเวลาตกลงท้องทะเลที่ลึกไม่เกิน 20 เมตรเท่านั้น แน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้รัฐต้องเอาความจริงออกมาทั้งหมด เพื่อใช้เป็นบทเรียน และสามารถประเมินผลกระทบความเสียหายที่แท้จริง และอย่านำปัญหาไปซุกไว้ใต้ทะเล
สอดคล้องกับความเห็นของนายธรรมศักดิ์ ยีมีน ผู้เชียวชาญนิเวศวิทยาแนวปะการัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง บอกว่า เกาะเสม็ดมีฐานทรัพยากรทางทะเลหลากหลาย ไม่เพียงแค่แนวปะการัง แต่ยังมีหาดทราย ชายหาด หาดหิน หาดโคลน แหล่งหญ้าทะเล กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก และสัตว์หน้าดินที่ต้องติดตามผลกระทบทางอ้อมทั้งระยะสั้น และระยะยาว ซึ่งทั้งหมดเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศน์เดียวกัน บางฐานทรัพยากรอาจติดตามแค่ 1 ปี แต่บางชนิด เช่น ป่าชายเลนอาจใช้เวลาถึง 10 ปี การประเมินผลกระทบของทรัพยากร ที่ไม่ใช่ของใคร แต่เป็นสมบัติของแผ่นดิน ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องมีคนสะท้อนให้รอบด้าน เพราะเป็นฐานทางเศรษฐกิจของคนทั้งประเทศ