ประชุมใหญ่กฤษฎีกาเห็นชอบวุฒิเลือกปธ.วุฒิ
มติที่ปช.ใหญ่กฤษฎีกา 68:7 เคาะไฟเขียววุฒิสภาเลือกปธ.วุฒิสภา และรองปธ.วุฒิสภา2 ได้ ไม่ขัดพ.ร.ฎ.เรียกประชุม
นายดิสฐัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แถลงผลการประชุมใหญ่กรรมการกฤษฎีกา ต่อประเด็นที่นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกฯ ฐานะปฏิบัติหน้าที่นายกฯ รักษาการ ได้ส่งเรื่องมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการเพื่อให้หารือต่อประเด็นการเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 แทนตำแหน่งที่ว่าง ที่ได้ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 57 ว่า เป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2557 หรือไม่ เนื่องจาก มาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญฯ ได้บัญญัติให้วุฒิสภาดำเนินการประชุม เพื่อพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่งคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง และ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยที่ประชุมได้เชิญผู้แทนหน่วยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาร่วมชี้แจง โดยในส่วนของผู้แทนสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้ตอบข้อซักถามเยอะที่สุด ถึงข้อเท็จจริงในการดำเนินงานข้อกฎหมายและระเบียบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
จากนั้นที่ประชุมที่มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 84 คนได้ลงความเห็นว่าการดำเนินการของวุฒิสภาต่อเรื่องดังกล่าวเป็นไปโดยชอบเพราะถือเป็นกิจการภายในของวุฒิสภา จำนวน 68 เสียง และเห็นว่าทำไม่ได้ จำนวน 9 เสียงและมีกรรมการที่งดออกเสียง 7 เสียง ส่วนการดำเนินการต่อไปนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจะได้ทำความเห็นส่งไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) อย่างช้าภายในต้นสัปดาห์หน้า
นายดิสฐัต กล่าวต่อว่าในประเด็นของอำนาจการทูลเกล้ารายชื่อ ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 โดยนายนิวัฒน์ธำรงนั้นที่ประชุมไม่ได้มีการหารือ แต่ด้วยกระบวนการคาดว่าต้องเป็นตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตามต่อเรื่องการปฏิบัติตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกานั้น ที่ผ่านมามีมติคณะรัฐมนตรีได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้อยู่แล้ว
"ที่ประชุมมีการถกเถียงในแบบวิชาการ ว่า พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสมัยวิสามัญที่เป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร มีผลเป็นบทบังคับ หรือ จำกัดอำนาจของสวหรือไม่ และได้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 132 พิจารณาประกอบ ว่ามีปัญหาหรือไม่ " นายดิสทัต กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าความเห็นของที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกาจะถือเป็นบรรทัดฐานให้วุฒิสภาดำเนินเรื่องใดๆ ในที่ประชุมได้หรือไม่ นายดิสทัต กล่าวว่า ต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ว่าอยู่ในขอบเขตข้อเท็จจริง หรือความต่างอย่างไร และต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆ ส่วนกรณีที่วุฒิสภาจะมีอำนาจตั้งนายกฯ โดยอาศัยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 132(2) ที่ประชุมใหญ่กรรมการกฤษฏีกาไม่ได้พิจารณา และส่วนตัวไม่มีความเห็นต่อเรื่องนี้