ชี้82ปีเปลี่ยนแปลงการปกครองมอง'คนไม่เท่ากัน'
82 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนาฯ2475 "ประจักษ์"ระบุประชาชนยังถูกลดทอนศักดิ์และสิทธิ ความคิดมองคนไม่เท่ากัน
ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ได้จัดงานเนื่องในวันครบรอบ 82 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475 และเนื่องการครบรอบ 19 ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยมีประชาชน นักคิด นักเขียน นักการเมือง และนักวิชาการที่สนใจ อาทิ นายวรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต, นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, นายเกษียร เตชะพีระ, นายชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายชรินทร์ หาญสืบสาย อดีต ส.ว.ตาก,น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. เข้าร่วม
นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ การเดินทางของความเสมอไม่ภาคในสังคมไทย ตอนหนึ่งว่า ปัญหาความไม่เสมอภาค ถือเป็นส่วนที่ทำให้การพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยล้มลุกคลุกคลาน เพราะหากไม่ทำให้สังคมไทยมองพลเมืองร่วมชาติอย่างมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมย่อมส่งผลกระทบต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ทั้งนี้ในหลักสำคัญของการปกครองของระบอบประชาธิปไตย คือ หลักการเสรีภาพ และ หลักการเสมอภาค เพื่อให้สังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์ต้องให้สังคมมีทางเลือกในการแก้ปัญหาที่หลากหลาย มีการตรวจสอบผู้มีอำนาจเพื่อให้ดำเนินนโยบายเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง นอกจากนั้นความมีเสรีภาพที่ไม่ได้อยู่บนฐานของความเสมอภาค จะทำให้เสรีภาพไม่มั่นคง ดังนั้นถึงเวลาที่สังคมไทยต้องช่วยปลูกฝังความคิดเรื่องความเสมอภาคอย่างจริงจัง เพื่อสันติภาพของการอยู่ร่วมกัน
นายประจักษ์ กล่าวด้วยว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือไม่มีใครที่สูงส่งกว่าคนอื่นโดยธรรมชาติ โดยประชาธิปไตยที่อยู่บนเสียงข้างมากย่อมมีข้อบกพร่อง แต่มีวิธีการแก้ไขคือการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนและจำกัดอำนาจของกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจ ไม่ใช่การลดอำนาจของประชาชน ทั้งนี้ความเป็นประชาธิปไตยไม่เคยสมบูรณ์เพราะด้วยเป็นกระบวนการต่อสู้ที่ต่อเนื่องเพื่อสิทธิเสมอภาคของประชาชน
"เป็นเรื่องน่าเศร้าใจ แม้จะผ่านไป 82 ปี ประชาชนจำนวนมากของประเทศยังถูกลดทอนศักดิ์และสิทธิ มีฐานะเป็นเพียงพลเมืองชั้นสอง ผมมองว่าความคิดที่มองคนไม่เท่ากัน ได้สร้างวิกฤตให้กับประชาธิปไตยไทยอย่าลึกซึ้ง หากไม่เปลี่ยนทัศนคติ ประเทศไทยไม่สามารถมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ ทั้งนี้ผมมองด้วยว่าหากสังคมยอมรับความเท่าเทียม จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของความปรองดองและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขที่แท้จริง" นายประจักษ์ กล่าว
ด้านนายชัยวัฒน์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมงานว่า ทิศทางการขับเคลื่อนประเทศไทยภายหลังการยึดอำนาจถือเป็นความจำเป็นที่ต้องหาทางออก ส่วนแนวทางที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พยายามดำเนินการ เช่น การปฏิรูปนั้นตนเชื่อว่าไม่มีบุคคลใดคัดค้าน แต่ปัญหาที่ต้องพิจารณาคือแนวทางที่นำไปสู่การปฏิรูปคืออะไร และจะใช้รูปแบบใด เพื่อให้คุ้มค่ากับราคาที่เสียไป แต่หากไม่สามารถจัดการได้อาจจะกลายเป็นปัญหา