ปิด'เคเอฟซี'16ก.ค.3สาขาชายแดนใต้
"เคเอฟซี"3สาขาสามจว.ภาคใต้ปิดตัว16ก.ค. เหตุผวาภัยความไม่สงบ แถมเจอแรงกดดันไม่มีเครื่องหมายรับรองฮาลาล
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานโดยอ้างคำกล่าวของผู้ช่วยผู้จัดการร้านไก่ทอดชื่อดัง "เคเอฟซี" สาขาห้างไดอาน่า อ.เมือง จ.ปัตตานี ยืนยันว่าเคเอฟซีมีนโยบายปิดร้านจำหน่ายไก่ทอดทุกสาขาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากมีข่าวลือในพื้นที่มาระยะหนึ่ง
ปัจจุบันร้านเคเอฟซีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีประชากรกว่าร้อยละ 85 นับถือศาสนาอิสลามนั้น มีด้วยกัน 3 สาขา อยู่ใน จ.ปัตตานี 2 สาขา คือ สาขาห้างบิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์ และสาขาห้างไดอาน่า ทั้งคู่อยู่ใน อ.เมืองปัตตานี ส่วนอีก 1 สาขาอยู่ใน อ.เมืองยะลา ที่ชั้นล่างของห้างโคลีเซี่ยม ยะลา ขณะที่ จ.นราธิวาส ไม่มีการเปิดสาขาของเคเอฟซี
ที่ผ่านมาร้านไก่ทอดเคเอฟซีสามารถสร้างกระแสตอบรับจากประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมาก โดยเฉพาะสาขาบิ๊กซี ปัตตานี มีลูกค้ามุสลิมและศาสนิกอื่นไปต่อคิวซื้อไก่ทอดเป็นจำนวนมากทุกวัน ขณะที่พนักงานในร้านเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิม หากเป็นหญิงก็สวมผ้าฮิญาบระหว่างให้บริการ ทำให้ลูกค้ามีความมั่นใจว่าถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามอย่างแน่นอน ขณะที่ในวันหยุดหรือเทศกาลต่างๆ จะมีลูกค้าแน่นจนล้นร้าน หาที่นั่งแทบไม่ได้
อย่างไรก็ดี เริ่มมีกระแสโจมตีและตั้งคำถามในระยะหลังเกี่ยวกับการขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาล (รับรองว่าทั้งวัตถุดิบและวิธีปรุงอาหารเป็นไปตามหลักอิสลาม) เนื่องจากร้านเคเอฟซี สาขา จ.ภูเก็ต ได้รับเครื่องหมายรับรองฮาลาลจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ต แต่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกสาขากลับไม่มีเครื่องหมายนี้แสดงไว้ที่หน้าร้านเพื่อความสบายใจของลูกค้า กระทั่งมีการเปิดร้านไก่ทอดสไตล์เคเอฟซีของมุสลิมในพื้นที่ จึงมีข่าวเรื่องการปิดตัวเองของเคเอฟซีทั้ง 3 สาขาในสามจังหวัด
ยันปิดแน่ 16 ก.ค.-ย้ายพนง.ไปสงขลา
นายอัซมี เบญจมันต์ ผู้ช่วยผู้จัดการร้านเคเอฟซี สาขาห้างไดอาน่าปัตตานี ซึ่งเป็นชาว อ.หนองจิก จ.ปัตตานี กล่าวว่า เคเอฟซีสาขาห้างไดอาน่า เปิดเป็นสาขาแรกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดบริการมาเป็นปีที่ 12 แล้ว และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ผลประกอบการน่าพอใจ สร้างงานให้คนในพื้นที่ได้จำนวนไม่น้อย แต่เนื่องจากสาเหตุหลายประการ ทำให้สำนักงานใหญ่แจ้งปิดสาขาในสามจังหวัด โดยแจ้งล่วงหน้ามา 1 เด้อนแล้ว
"เคเอฟซีสาขานี้ได้รับผลกระทบจากเหตุรุนแรงใหญ่ๆ ในพื้นที่หลายครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อปี 2547 ที่มีระเบิดหน้าร้านพิธานพาณิชย์ (จำหน่ายรถจักรยานยนต์) ซึ่งตั้งอยู่ติดกัน และเมื่อปีที่แล้วที่มีระเบิดหน้าห้างไดอาน่ากับโชว์รูมรถยนต์โตโยต้า อ.เมืองปัตตานี ซึ่งอยู่ในละแวกใกล้เคียงกับร้านเคเอฟซี ทางร้านก็พลอยได้รับความเสียหายไปด้วย"
"ที่ผ่านมาสำนักงานใหญ่ต้องการให้ปิดสาขาในสามจังหวัดตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เราขอกับทางผู้จัดการภาคว่าให้เปิดต่อ ระหว่างนั้นก็มีเหตุการณ์ตลอดในพื้นที่ ประกอบกับเมื่อปลายเดือน พ.ค.เพิ่งเกิดเหตุระเบิดใหญ่ในปัตตานีกว่า 20 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น แต่ในร้านเคเอฟซีก็มีน้องพนักงานติดอยู่ในร้านขณะเกิดเหตุด้วย"
"จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทางสำนักงานเรียกไปประชุมที่ จ.นครศรีธรรมราช เพราะเห็นว่าสถานการณ์ในพื้นที่หนักขึ้น จะไม่รอให้เหตุร้ายเกิดขึ้นกับทุกสาขา เราก็เริ่มตัดสินใจว่าคงไปต่อไม่ไหวเหมือนกัน เขาแจ้งล่วงหน้ามา 1 เดือน โดยมีกำหนดปิดในวันที่ 16 ก.ค.นี้ พนักงานคนไหนที่จะทำงานต่อ ให้ย้ายไปทำงานที่สาขาห้างโลตัส อ.จะนะ และสาขา จ.สงขลา แต่น้องจากสาขาไดอาน่าไม่มีใครย้ายไป เพราะมีครอบครัวอยู่ที่ปัตตานี ส่วนทางสาขาบิ๊กซี ปัตตานี มีย้ายไป 4-5 คน"
พนักงาน17คนหางานใหม่
นายอัซมี กล่าวอีกว่า เคเอฟซีสาขาห้างไดอาน่า มีผู้จัดการและพนักงานร้านรวม 17 คน ทุกคนเป็นคนในพื้นที่ เมื่อทราบเรื่องที่เกิดขึ้น ทุกคนก็กังวลกับอนาคต แต่ก็ต้องตั้งสติ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้ และหาหนทางใหม่ในเรื่องอาชีพ แต่ทุกคนจะได้รับสิทธิและเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
"ผมเองไม่ได้ย้ายไปไหน เพราะครอบครัวอยู่ที่นี่ ออกไปก็คิดทำธุรกิจค้าขายส่วนตัว เพราะชอบงานค้าขาย แต่คงต้องตั้งหลักสักพักก่อน ส่วนน้องๆ ในร้านก็แยกย้ายกันไปหางานหาอาชีพใหม่ทำกันต่อไป"
สำนักงานใหญ่ไม่เคยแจงปม"ฮาลาล"
ต่อข้อถามเรื่องการขอเครื่องหมายรับรองฮาลาลเพื่อความถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม และความสบายใจของลูกค้ามุสลิมนั้น นายอัซมี บอกว่า ทางสำนักงานใหญ่ไม่ได้บอกเหตุผลเรื่องนี้ ส่วนสาขาที่ตนดูแลอยู่ มั่นใจในกระบวนการผลิตทุกอย่างว่าฮาลาลจากฝีมือมุสลิมแน่นอน แต่ในส่วนผสมและวัตถุดิบที่ส่งมาจากสำนักงานใหญ่ ตนไม่ทราบ
"จริงๆ ก็อยากได้เครื่องหมายรับรองฮาลาลที่ออกโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมาติดหน้าร้าน เพื่อการันตีว่าฮาลาลจริงในทุกขั้นตอน เพราะหลังจากสาขาที่ภูเก็ตมีปัญหาจากการออกเครื่องหมายรับรองฮาลาลโดยคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดภูเก็ตเองให้กับเคเอฟซีในภูเก็ต ก็เป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน ซึ่งในความเป็นจริงกิจการที่มีหลายสาขา ทางสำนักงานใหญ่ต้องขออนุญาต และได้เครื่องหมายรับรองฮาลาลก่อน ทุกสาขาจึงสามารถใช้เครื่องหมายนี้ได้ด้วย ลูกค้าเห็นก็จะได้สบายใจ" นายอัซมี ระบุ
ผู้นำศาสนายันปัญหา"ไร้รับรองฮาลาล"
นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า หากร้านเคเอฟซีปฏิบัติตามขั้นตอนของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยในการขอเครื่องหมายรับรองฮาลาล ก็คงไม่มีปัญหาเช่นนี้
"ในเมื่อเขาก็รู้ว่าลูกค้ามุสลิมต้องบริโภคอาหารฮาลาลที่วัตถุดิบและส่วนผสมจะต้องฮาลาลถูกต้องตามหลักการอิสลามตั้งแต่ต้น แต่ทำไมเขาไม่ทำ เขาขายมาได้เป็นสิบปีแต่ไม่ได้แก้ไขปรับปรุงเรื่องนี้เลย เราต้านได้โดยใช้หลักการอิสลาม ไม่สามารถทำอย่างอื่นได้"
นายแวดือราแม กล่าวด้วยว่า ข้อมูล ณ ปัจจุบัน คือ เคเอฟซีไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลจากคณะกรรมกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่วนทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดของปัตตานีและยะลาก็ไม่ออกให้อยู่แล้ว เพื่อความเป็นเอกภาพ ไม่ให้เกิดความสงสัยและสับสน ต้องขอให้ช่วยบอกพี่น้องมุสลิมด้วยว่าเคเอฟซีทุกสาขาไม่ได้ขอเครื่องหมายรับรองฮาลาล และขอให้ทุกคนเข้าใจว่าอาหารฮาลาลเป็นอาหารที่สำคัญที่ต้องให้ความใส่ใจในทุกขั้นตอน ทุกกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
"เคเอฟซี"ส่วนกลางอ้างยังไม่ปิด3สาขาใต้
ด้าน นางแววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล ผู้จัดการทั่วไป เคเอฟซี ประจำประเทศไทย บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปิดร้านเคเอฟซีที่ตั้งอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนเรื่องเครื่องหมายรับรองฮาลาลนั้น บริษัทยังไม่ได้ขอรับรองฮาลาลทั่วประเทศ แต่บริษัทมีนโยบายยื่นเรื่องขอรับรองเฉพาะสาขาในพื้นที่ที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่ส่วนใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันสาขาในพื้นที่ดังกล่าวได้รับการรับรองฮาลาลอยู่แล้ว
นางแววคนีย์ กล่าวเสริมว่า ส่วนผสมที่ใช้ในการปรุงเมนูอาหาร ถือว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามสำหรับผู้บริโภคที่เป็นมุสลิม และทางเคเอฟซีก็ไม่ได้มีการจำหน่ายเมนูที่เป็นเนื้อหมู
ส่วนแนวทางการสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคนั้น ในเบื้องต้นจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนผสมหลักในเมนูอาหารของทางร้าน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการการผลิต และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาล