คุกไทยมี'นักโทษหญิง'มากสุดในโลก
คุกไทยมี "นักโทษหญิง" มากสุดในโลก ชงเป็น "วาระชาติ" รื้อนโยบายปราบยา
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดเสวนาเรื่อง "ผู้ต้องขังหญิงล้นคุก" เพื่อนำเสนอสถานการณ์และแนวทางแก้ปัญหาต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้มุ่งเน้นการหาแนวทางลดจำนวนผู้ต้องขังหญิงเป็นหลัก หลังจากพบว่าไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีปัญหา "คนล้นคุก" โดยพบว่าจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำนั้นมีทั้งนักโทษคดีเด็ดขาด ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ หรือฎีกา ผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดี และผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งต้องถูกกักขังเพราะไม่สามารถขอประกันตัวได้จากคดีที่มีโทษรุนแรง และไม่มีเงินหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ไทยมีปัญหา "คนล้นคุก" จากการคำนวณพื้นที่เรือนจำทั่วประเทศ 145 แห่ง พบว่า นักโทษ 1 คนใช้พื้นที่ต่ำกว่า 2.25 ตารางเมตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐาน และความแออัดดังกล่าวทำให้เกิดปัญหาตามมา โดยเฉพาะผู้ต้องขังหญิงที่มีสภาพความเป็นอยู่แออัดกว่าชาย
น.ส.กุลภา วจนสาระ นักวิจัยในโครงการฯ ระบุว่า จากสถิติในปี 56 พบว่าไทยมีสัดส่วนผู้ต้องขังหญิงสูงสุดในโลก หรือ 68.2 ต่อประชากรแสนคน ทั้งนี้ มาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของผู้ต้องขังหญิงภายใน 5 ปี (2552-2557) เพิ่มสูงขึ้น 15,845 คน ตัวเลข ณ เดือน มิ.ย. 2557 มีผู้ต้องขังหญิง 44,204 คน ส่วนใหญ่หรือคิดเป็นร้อยละ 74 เป็นผู้ต้องขังที่ต้องโทษเด็ดขาด
สำหรับการคุมขังนั้น มีสถานที่สำหรับผู้ต้องขังหญิง 3 ประเภท ประกอบด้วย ทัณฑสถานหญิง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ และแดนหญิงที่อยู่ในเรือนจำชาย โดยกว่าร้อยละ 64 จะอยู่ที่เรือนจำชาย สาเหตุสำคัญมาจากการมีผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและคดียังไม่สิ้นสุดจำนวนมาก ขณะที่การพิจารณาคดีก็มีระยะเวลาและขั้นตอนยาวนาน การประกันตัวเป็นไปได้ยากสำหรับคนยากจน รวมไปถึงอัตราโทษที่สูงในคดียาเสพติด
ทั้งนี้ ผู้ต้องขังหญิงส่วนใหญ่ในคดียาเสพติดมักได้รับโทษมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากมักต่อสู้คดี เพราะเชื่อว่าตัวเองไม่ผิด และไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง เพียงมีความสัมพันธ์ทางใดทางหนึ่งกับผู้ชายที่กระทำผิด ขณะที่ฝ่ายชายรู้ตัวว่ากระทำผิดและรับสารภาพไปแล้ว ทำให้ได้รับการลดหย่อนโทษ
ดังนั้นในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ จึงเสนอ 3 แนวทางการแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1.แก้กฎกระทรวงว่าด้วยการพักการลงโทษ หรือปล่อยผู้ต้องขังก่อนกำหนดให้อยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ กำหนดให้นักโทษชั้นเยี่ยมที่จำคุกมาแล้วครึ่งหนึ่งของโทษที่ได้รับ นักโทษชั้นดีมากที่จำคุกมาแล้ว 2 ใน 3 และนักโทษชั้นดีจำคุกมาแล้ว 3 ใน 4 มีสิทธิได้รับการพักโทษ ซึ่งจะมีนักโทษที่เข้าข่ายได้รับการพักโทษ 50,000 คนต่อปี
2.ขยายเรือนจำออกนอกเมือง และออกแบบให้มีขนาดกว้างขึ้น 3.เพิ่มทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนคุมขัง เช่น การคุมประพฤติ การคุมตัวภายในบ้าน การให้ทำงานสาธารณะ หรือมีศูนย์ปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดในชุมชน แทนส่งไปรับโทษในเรือนจำ ให้ภาคเอกชนควบคุมผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีได้ เป็นต้น 4.แยกสถานที่กักขังต่างฐานความผิด เช่น ผู้รอตรวจพิสูจน์ ผู้กักขังแทนค่าปรับ ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และนักโทษเด็ดขาด ต้องขังคนละสถานที่กัน
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ผู้ต้องขังล้นคุกมาจากคดียาเสพติด จากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดที่สร้างวาทกรรมให้กับสังคมว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากกว่าคดีอื่นๆ ทำให้การดำเนินคดีจนถึงการพิพากษาคดีเป็นไปอย่างเข้มงวด
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้วในคดียาเสพติดแล้ว มีแนวโน้มจะกระทำผิดซ้ำ จากการที่สังคมไทยยังไม่ได้ยอมรับผู้ที่เคยต้องขังอย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้หญิง
ดังนั้นการแก้ปัญหาอาจไม่ได้หมายถึงการสร้างคุกเพิ่ม เพราะปัจจุบันงบประมาณของกรมราชทัณฑ์เพียงกรมเดียวถือว่าสูงมากอยู่แล้ว ในปี 2558 สูงถึง 11,000 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายหลักมาจากการค่าดูแลผู้คุมขังต่อหัวต่อปี 21,000 บาทสำหรับผู้หญิง และ 21,300 บาทสำหรับผู้ชาย โดยเสนอให้ทุ่มงบประมาณไปที่การป้องกันไม่ให้คนเข้าคุกมากกว่า
"ปัญหาคนล้นคุก ทำให้เราต้องหาโอกาสพระราชทานอภัยโทษ เพื่อระบายคนออกจากคุก ซึ่งวิธีการนี้ไม่ได้ทำให้เราสบายใจ และวิธีแก้ปัญหาก็ไม่ได้อยู่ที่สร้างคุกเพิ่ม แต่อยู่ที่การหาวิธีไม่ให้คนเข้าคุกมากกว่า"
ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธาน กสม. กล่าวว่า ในกระบวนการยุติธรรมต้องมองหาทางเลือกใหม่ และเปลี่ยนวิธีการลงโทษ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังหญิง รวมถึงเปลี่ยนวิธีการวินิจฉัยคดีจากการตีความตามตัวอักษรอย่างเคร่งครัด มาตีความแบบก้าวหน้าเพื่อไปสู่สังคมที่ดีกว่า
ขณะที่ ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการอิสระ กล่าวในตอนท้ายของการเสวนาว่า นโยบายทำสงครามกับยาเสพติดเมื่อปี 2546-2547 เป็นต้นตอให้เกิดปัญหาคนล้นคุก เพราะไม่ได้เตรียมการรองรับด้านอื่น ทั้งยังทำให้กระบวนการยุติธรรมทั้งหมดมุ่งเน้นการลงโทษหนัก มีการจับกุมด้วยการล่อซื้อ ซึ่งเป็นวิธีที่มักง่าย หลายคดีจับผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดอย่างแท้จริง สร้างผลกระทบจนถึงปัจจุบัน
ดังนั้นเห็นว่าถึงเวลาต้องกำหนดให้เรื่องคนล้นคุกเป็น "วาระแห่งชาติ" เพื่อให้ทุกฝ่ายปรับเปลี่ยนไปพร้อมกันทั้งระบบ โดยเฉพาะในคดียาเสพติดที่ต้องปรับทั้งการดำเนินคดี และการลงโทษที่ต้องทบทวนใหม่ จากการจำคุกในเรือนจำเป็นวิธีการลงโทษทางอื่น เช่น พักโทษและให้ชุมชนดูแลกันเอง โดยดึงท้องถิ่นที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมมือนำร่องและขยายผลไปที่ท้องถิ่นอื่น เชื่อว่าหากทำอย่างนี้ได้ จะทำให้คนในคุกเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น