เจาะ!ยากจน'ลด'-เหลื่อมล้ำ'พุ่ง'

เจาะ!ยากจน'ลด'-เหลื่อมล้ำ'พุ่ง'

(รายงาน) ยากจนลด-เหลื่อมล้ำพุ่ง บัญชีแค่0.1% ครองเงินฝาก 46.5%

หลายคนบอกว่าประเทศไทยข้ามพ้นการเป็นประเทศด้อยพัฒนามานานแล้ว จำนวนคนยากคนจนในประเทศก็ลดน้อยลง...นั่นก็เป็นข้อมูลที่ถูกต้องในมิติหนึ่ง

ทว่ามีอีกหลายเสียงบอกว่า แม้ประเทศไทยจะมีจำนวนคนยากจนลดลง สถานการณ์ความยากจนไม่รุนแรงเหมือนเก่า แต่"ความเหลื่อมล้ำ" หรืออาจจะเรียกได้ว่า "ช่องว่าง" ระหว่างความจนกับความรวย กลับเพิ่มมากขึ้น

นักพัฒนาเอกชนบางรายถึงกับสรุปฟันธงว่า ประเทศไทยติดกลุ่มมีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก!

ข้อสังเกตนี้สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่ชี้ว่า สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทยลดลงจริง แต่ความยากจนยังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมอยู่ เพราะมีคนจนถึง 15.6 ล้านคน ขณะที่ความเหลื่อมล้ำได้เพิ่มมากขึ้น โดยคนรวยที่สุดกับคนจนที่สุดมีรายได้ห่างกันถึง 25.2 เท่า บัญชีเงินฝากคนรวยเพียง 0.1% ถือครองสินทรัพย์ประเทศมากถึง 46.5% ส่วนการถือครองที่ดินห่างกัน 325.7 เท่า

ข้อมูลดังกล่าวนี้บรรจุอยู่ใน รายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยปี 2555 โดยมีสาระสำคัญชี้ให้เห็นถึงภาวะความยากจนและความเหลื่อมล้ำว่ายังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

สถานการณ์ความยากจน

ความยากจนโดยรวมในปี 2555 ลดลง แต่ความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย โดยความยากจนลดลงจาก 13.2% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศในปี 2554 เหลือ 12.6% ในปี 2555 คิดเป็นจำนวนคนจน 8.4 ล้านคน

หากรวม "คนจน" กับ "คนเกือบจน" แล้วจะมีประมาณ 15.6 ล้านคน หรือ 23.5% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าความยากจนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทย

ทั้งนี้ ความยากจนที่ลดลงในปี 2555 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสร้างโอกาสทางการศึกษา โดยเฉพาะแก่เด็กฐานะยากจน รวมทั้งมาตรการลดค่าครองชีพและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน อันนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในการประกอบอาชีพสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

คนจนส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคนจนประมาณ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 44.5% ของคนจนทั้งประเทศ ส่วนในภาคเหนือมีคนจนประมาณ 2 ล้านคนซึ่งคิดเป็น 24% ของคนจนทั้งประเทศ

นอกจากนี้คนจนส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบท คือ มีประมาณ 5.7 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 67.6% ของคนจนทั้งประเทศ

ความยากจนในระดับจังหวัด การจัดอันดับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 อันดับแรกในปี 2555 ประกอบด้วย จ.แม่ฮ่องสอน ปัตตานีนราธิวาส กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ ตาก นครพนม สกลนคร บุรีรัมย์ และมุกดาหาร

นอกจากนี้ ยังมีจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง กล่าวคือเป็นจังหวัดที่ติดอันดับจังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุด 10 ลำดับแรกเกือบทุกปีในช่วงปี 2543 -2555 ประกอบด้วย 8 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ปัตตานี นราธิวาส กาฬสินธุ์ ศรีสะเกษ ตาก บุรีรัมย์ และนครพนม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จ.แม่ฮ่องสอนนั้นติดอันดับทุกปี และอยู่ในอันดับ 1 ที่มีสัดส่วนคนจนสูงที่สุดมาตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องจนถึงปี 2555

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำ

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้หรือการกระจายรายได้ในภาพรวมค่อนข้างทรงตัว โดยมีปัญหาการกระจายรายได้อยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนจากค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคด้านรายได้ (Gini coefficient) ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อยู่ในระดับ 0.48-0.49 และรายได้กระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนรวยที่สุด 10% ถือครองรายได้ถึง 39.3% ของรายได้ทั้งหมด

ขณะที่กลุ่มคนจนที่สุด 10% ถือครองรายได้เพียง 1.6% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น จึงทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยที่สุดกับกลุ่มคนจนที่สุดห่างกันถึง 25.2 เท่า

ความเหลื่อมล้ำด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค หรือความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐานการดำรงชีวิตของคนในสังคมไทยก็ยังมีอยู่ แต่มีปัญหาน้อยกว่าความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ โดยกลุ่มประชากร 10% ที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด มีมาตรฐานการดำรงชีวิตสูงกว่ากลุ่มประชากร 10% ที่มีการใช้จ่ายต่ำที่สุดประมาณ 11 เท่า

นอกจากนี้ ยังมีประชากร 8.4 ล้านคน (คนจน) ที่ได้รับสารอาหารและสินค้าอื่นๆ ที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ถือว่ามีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่แย่ที่สุดในสังคมไทย

ความเหลื่อมล้ำด้านสินทรัพย์ทางการเงิน สินทรัพย์ทางการเงินกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ โดยสะท้อนจากเงินออมในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และประจำของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนน้อย คือ บัญชีเงินฝากที่มีวงเงินเกิน 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเพียงประมาณ 0.1% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากสูงถึง 46.5% ของวงเงินฝากทั้งหมด

ในขณะที่บัญชีเงินฝากขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท มีถึง 99.9% ของจำนวนบัญชีทั้งหมด แต่มีวงเงินฝากเพียง 53.5% ของวงเงินฝากทั้งหมด

ความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดินในประเทศไทยสูงมาก มีการถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ประเภทโฉนดที่ดินกระจุกตัวอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ โดยกลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20% ที่มีการถือครองที่ดินมากที่สุด มีสัดส่วนการถือครองที่ดินสูงกว่ากลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20% ที่มีการถือครองที่ดินน้อยที่สุด คิดเป็น 325.7 เท่า

กลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20% ที่ถือครองที่ดินมากที่สุด มีสัดส่วนพื้นที่ถือครองที่ดินสูงถึง 79.9% ของพื้นที่ทั้งหมด ในขณะที่กลุ่มผู้ถือครองที่ดิน 20% ที่ถือครองที่ดินน้อยที่สุด มีสัดส่วนพื้นที่ถือครองที่ดินเพียง 0.3% ของพื้นที่ทั้งหมดเท่านั้น

ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา โอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการศึกษามีอัตราลดลงตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยอัตราการเข้าเรียนสุทธิระดับประถมศึกษา 87.6% มัธยมต้น 67.6% มัธยมปลาย 55.1% และปริญญาตรี 28.5% รวมทั้งโอกาสในการเข้าถึงบริการด้านการศึกษามีความแตกต่างกันมากระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะความเป็นอยู่แตกต่างกันระหว่างเขตเมือง-ชนบท และระหว่างภูมิภาค โดยเฉพาะการศึกษาในระดับปริญญาตรี จึงส่งผลทำให้โอกาสในการพัฒนาอาชีพและสร้างรายได้มีความแตกต่างกันมาก

กลุ่มประชากร 10% ที่มีฐานะความเป็นอยู่ดีที่สุด มีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากกว่ากลุ่มประชากร 10% ที่มีฐานะความเป็นอยู่ด้อยที่สุด ประมาณ 16.3 เท่า

นักศึกษาในเขตเมืองมีโอกาสเข้าถึงสูงกว่านักศึกษาในเขตชนบท นักศึกษาในกรุงเทพมหานครมีโอกาสเข้าถึงสูงสุด โดยภาคใต้ต่ำสุด

ความเหลื่อมล้ำหรือความไม่เสมอภาคทางเพศ โอกาสการเข้าถึงการศึกษามีความแตกต่างกันระหว่างเพศ โดยเฉพาะในระดับมัธยมปลายขึ้นไป โดยเพศหญิงมีโอกาสเข้าถึงการศึกษามากกว่าเพศชาย แต่ในด้านการทำงาน ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าผู้ชาย รวมทั้งด้านบทบาทในการตัดสินใจทั้งทางการเมืองและการบริหารของผู้หญิงจะน้อยกว่าผู้ชาย