ปปช.ชี้'อปท.'ทุจริตมากสุด ร้องจัดซื้อจัดจ้างอันดับ1
"วิชา" ปปช.ชี้8ปีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุจริตมากสุด ตามด้วยมหาดไทย เผยจัดซื้อจัดจ้างถูกร้องเรียนมาอันดับ1
ลั่นปปช.ยืนยันไม่งอมืองอเท้าจะฟ้องเอง ถ้าอสส.ไม่ฟ้อง ด้าน "ปธ.ปปช." ชี้อุปสรรค ความล้าช้า เลือกปฏิบัติ
ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี มีการแถลงผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ครบรอบ 8 ปี (6 ตุลาคม 2549 - 6 ตุลาคม 2557) โดยมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนเป็นผู้แถลง
นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษก กล่าวว่า 8 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงระยะเวลาที่โหดหิน มันฮาด้วยหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะว่าช่วงต้น ๆ ที่เราปฏิบัติหน้าที่มีการปล่อยตัวเงินตัวทอง ซึ่งสร้างความเฮฮาอย่างมาก เพราะตัวเงินตัวทองที่ติดชื่อบางท่านก็ใกล้ถึงวาระสุดท้ายแล้ว แต่บังเอิญว่า เราก็ยังอยู่กันมาได้ จบครบ8 ปี ก็เหลืออีก 1 ปี จะครบวาระ 9 ปี ในช่วงระยะเวลา 8 ปี ทุกท่านที่ดำรงตำแหน่งต่างมีความประทับใจ และความยากลำบากที่ได้พบ
นายวิชา กล่าวว่า ณ วันที่ 6 ตุลาคม 57 มีคดีความที่ค้างอยู่ในป.ป.ช. 11,578 เรื่อง เหตุที่ค้างมหาศาลเพราะป.ป.ช.ชุดที่แล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ถึง 2 ปี ซึ่งโทษกันไม่ได้ ซึ่งนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมามีคดีที่ป.ป.ช.รับมาใหม่ 22,590 เรื่อง ดังนั้น ในช่วงระยะ 8 ปี มีคดีทั้งสิ้น34,528 เรื่อง ดำเนินการสร็จแล้ว 25,012 เรื่อง สรุปแล้วสามารถทำได้เฉลี่ยปีละ 3,000 เรื่อง คงเหลือกว่า 9,516 เรื่อง แบ่งเป็นอยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 7,665 เรื่อง และอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง 1,851 เรื่อง บรรดาคดีเหล่านี้จำเป็นต้องเผด็จศึก โดยเฉพาะที่อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง ได้แบ่งให้ป.ป.จ.ไปตรวจสอบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ปรากฎว่าที่ไต่สวนมาทั้งหมดประเมินมูลค่าความเสียหายได้ 357,809 ล้านบาท แยกเป็นความเสียหายในส่วนราชการ 332,979 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจ 24,776 ล้านบาท และส่วนท้องถิ่น 38,257 ล้านบาท คิดดูว่าการทุจริตก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงเพียงใด จะเห็นว่าป.ป.ช.ไม่ได้นั่งเฉยๆ ทำหน้าที่เอาทรัพย์สินของแผ่นดินคืนมา บางเรื่องเหนือวิสัย เพราะการทุจริตสมัยนี้เงินมันไหลออกนอกประเทศ แต่เราก็มีความร่วมมือกับต่างประเทศอยู่
นายวิชา กล่าวว่า หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ 1.องค์กรปกครองท้องถิ่น ถูกกล่าวหามากที่สุดถึงร้อยละ 50 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 10 2.กระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะกรมที่ดิน 3.ส่วนราชการระดับกรม ไม่สังกัดนายกรัฐมนตรี อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 4.กระทรวงศึกษาธิการ และ5.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิชา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ขณะนี้ป.ป.ช.กำลังทำโครงการปฏิรูปตัวเอง อาทิ เรื่องการนำคดีขึ้นสู่ศาล จะเห็นว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ชุดนี้นำคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 49 รวมทั้งสิ้น 63 คดี แบ่งเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ 7 คดี การแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จหรือจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน 54 คดี และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน 2 คดี โดยเป็นคดีที่ป.ป.ช.ฟ้องเองทั้งสิ้น 15 คดี แสดงว่าคดีส่วนใหญ่อัยการสูงสุด (อสส.) ยังเป็นผู้ฟ้อง แต่ป.ป.ช.มีความชำนาญมากขึ้น ฟ้องคดีเองได้ถึง 15 คดี ฉะนั้นเป็นการพัฒนาการทำงานของป.ป.ช. ให้เห็นชัดเจนว่าเราไม่ได้งอมืองอเท้า ถ้าไม่มีอสส.ฟ้องให้เรา เราสามารถทำงานได้
นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี เรามีอุปสรรคในการดำเนินงาน 2 เรื่อง คือ 1.ความล่าช้าในและคดีที่ค้าง ซึ่งตอนนี้มีคดีค้างประมาณ 9,000 คดี และเรื่องที่ร้องเรียนของ ป.ป.ช. นั้นเพิ่มมากขึ้น ประมาณ 3,000คดีต่อปี แต่ ป.ป.ช. ทำเสร็จแล้ว 2,000 คดีต่อปี ซึ่งฝ่ายเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ไขโดยถ่ายโอนงานไปให้ ป.ป.ช. จังหวัดมากขึ้น และส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาดำเนินการตามกฎหมาย และจะมีการพัฒนาหลักสูตรในการไต่สวนคดีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และเราให้ความสำคัญเรื่องอายุความในคดีใหญ่ ๆ และให้พนักงานไต่สวนเป็นชุดเฉพาะกิจดำเนินการเป็นเรื่อง ๆ
ด้านนายปานเทพ กล่าวว่า เรื่องที่ 2.ความยุติธรรม ถูกกล่าวหาว่าเลือกปฏิบัติ หรือ 2 มาตรฐาน ซึ่งฝ่ายเรายึดหลักกฎหมายและหลักฐานเป็นหลัก คดีที่มีหลักฐานและผิดกฎหมายชัดเจนก็สามารถดำเนินการได้เร็ว ซึ่งยืนยันว่าเราดำเนินการทุกเรื่องไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ส่วนการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลและ ป.ป.ช. ให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้านทุจริต
ส่วนนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดหรือMind Set ของคนให้ได้ ลำพังเราใช้แต่กฎหมายหรือปราบปรามเพียงอย่างเดียว ในสิ่งทีเกิดเป็นคดีขึ้นมาแล้ว แต่ไม่สามารถไปช่วยลดปัญหาได้ในระยะยาว ตรงนี้จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก ที่เราต้องพยายามสร้างภูมิคุ้มกันต่อการทุจริตในอนาคต ยกตัวอย่าง กรณีของโรคติดต่อต่าง ๆ เรายังปลูกฝีหรือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันได้ แต่ปัญหาของการทุจริตเราก็น่าจะสามารถใช้วิธีการสร้างจิตสำนึกเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันได้เช่นเดียวกัน โดยกรอบหลักของการทำงานป้องกันการทุจริตของ ป.ป.ช. ต่อไปนี้เราจะดำเนินการแบบบูรณาการ เพราะการดำเนินการแบบต่างคนต่างทำคงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างแท้จริง
ต่อมานายประสาท กล่าวต่อว่า คดีหลายคดีกว่าจะฝ่าขวากหนามได้ ปลายิ่งตัวโตยิ่งดิ้นแรง แหพังหมด แต่ปลาตัวเล็กก็หมูไม่มีฤทธิ์อะไร แต่ปลาตัวใหญ่มีอำนาจ มีเงิน มีความรู้ไม่ต้องพูดกับใคร ลองนึกดูแล้วกัน ซื้อได้หมด แต่ตนไม่ได้เอ่ยถึงใคร ภาพทั่วไป แต่เรามีจุดยืนที่มั่นคง ตรงนี้ทำให้เรายืนอยู่ได้ถึง 8 ปี ตนดีใจที่ไม่เคยมีเรื่องกล่าวหาว่ารับสินบน หรือทุจริต นี่คือหัวใจของความตรงไปตรงมา
“ส่วนที่ว่า ป.ป.ช. ทำอะไรอยู่คดีถึงช้า ยอมรับว่ามันช้าจริง ๆ ประการแรกไม่มีรัฐบาลที่ไหนในโลกให้เขี้ยวเล็บแก่ ป.ป.ช. ผมพูดแค่นี้ ให้ท่านไปคิดต่อ ขณะที่งานเราท่วมหัว จำนวนเรื่องร้องเรียนต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่ ป.ป.ช. ด้วยความที่เขายอมรับเชื่อถือศรัทธา ป.ป.ช. เราจะทำอย่างไรให้เขายอมรับ ตอนนี้เขารู้จักกันหมด และใช้บริการเราแล้ว ดังนั้นเราบ่นไม่ได้” นายประสาท กล่าว
น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การตรวจสอบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของนักการเมือง เราจะตรวจสอบอย่างเข้มข้น เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ระหว่างทำงานตรวจสอบธุรกรรมการเงินให้ลึก และเมื่อช่วงพ้นตำแหน่งก็ตรวจสอบเช่นกัน หากมีรายการไหนชี้แจงไม่ได้ก็ขออนุญาตยึดคืน เรื่องนี้เป็นกรอบที่ต้องทำงานจริงจัง เราต้องนำปัญหา ไม่ใช่ตามปัญหา ขณะนี้มีคดีค้างอยู่ 3 หมื่นกว่าคดี และมีความเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาท เชื่อว่าคงมีคนหยิบไปมากกว่านั้น ดังนั้นในส่วนนี้เราต้องพยายามทำงานให้ดีที่สุด ให้สถาบันทางการเงินตรวจสอบเชิงลึกระหว่างที่นักการเมืองทำงานอยู่ หากพบสิ่งผิดปกติ เราจะต้องจริงจังกับเรื่องเหล่านี้ ทุกคนที่เข้ามาต้องเสียสละในการทำงาน หากหยิบเกี่ยวอะไรก็ต้องคืน วางไว้ในห้องของประเทศไทย