สถิติชี้'ดื่มแล้วขับ'แนวโน้มลด

สถิติชี้'ดื่มแล้วขับ'แนวโน้มลด

(รายงาน) สถิติชี้"ดื่มแล้วขับ"แนวโน้มลด สะท้อนรณรงค์ตรงจุด-มุ่งปรับทัศนคติ

อุบัติเหตุบนท้องถนนที่มีสาเหตุจากคนขับ "ขาดสติ" หรือ "ประมาท" นั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น และหากเกิดขึ้นก็ยากที่ใครจะยอมรับได้เพราะแต่ละครั้งล้วนสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมิอาจประเมินค่าได้


บางเหตุการณ์เกิดแค่เพียงเสี้ยววินาทีก็พลิกชีวิตผู้ตกเป็นเหยื่อจากคนปกติให้กลายเป็นคนพิการ ทนทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ


ทุกปีจึงมีการรณรงค์เตือนสติให้ผู้คนขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ขับอย่างมีสำนึกรับผิดชอบ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่และสงกรานต์ ซึ่งมีการเฉลิมฉลองกันข้ามวันข้ามคืน ภายใต้แคมเปญที่ทุกวันนี้เรียกกันติดปากว่า "เมาไม่ขับ" โดยมีเป้าหมายเพื่อลดอุบัติเหตุร้ายแรงถึงชีวิตให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด


เช่นเดียวกับในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า 2557 ต้อนรับปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ก็มีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตรายกันทั่วประเทศ แม้ปีนี้สถานการณ์อาจดูไม่แตกต่างจากปีก่อนๆ มากนัก แต่หากพิจารณาสถิติตัวเลขในรายละเอียดแล้วพบว่า มีบางอย่างเริ่มส่งสัญญาณไปในทิศทางบวก


จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กองบังคับการตำรวจจราจร พบว่า สาเหตุของอุบัติเหตุที่เพิ่มสูงขึ้นคือ การใช้ความเร็วเกินกำหนด คิดเป็นร้อยละ 27.17 การตัดหน้ารถระยะกระชั้นชิด คิดเป็นร้อยละ 23 ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด


นอกจากนี้ อุบัติเหตุจากการขี่จักรยานยนต์อย่างไม่ปลอดภัยก็ยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีถึงร้อยละ 84.17
ขณะที่ ปัญหา "ดื่มแล้วขับ" มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในบริเวณพื้นที่กรุงเทพฯ ที่มีอัตราการเสียชีวิตจากการดื่มแล้วขับเป็นศูนย์


ส่วนผลการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ทั่วประเทศกว่า 1 แสนคน พบจำนวนผู้ที่มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดลดลงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี


โดยในปี 2555 มีประมาณ 3 หมื่นคน ปี 2556 ลดลงเหลือกว่า 2 หมื่นคน และในปีล่าสุด 2557 ลดลงเหลือกว่า 1 หมื่นคน


ข้อมูลสถิติของพื้นที่การเกิดอุบัติเหตุ เปรียบเทียบกับพื้นที่ที่มีการรณรงค์ขับขี่อย่างปลอดภัยภายใต้โครงการ "เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย" ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ร่วมกับเอกชนดำเนินกิจกรรมเข้าสู่ปีที่ 5 แสดงให้เห็นว่า การรณรงค์ให้ความรู้เพื่อการรู้เท่าทันแอลกอฮอล์ การดื่มอย่างรับผิดชอบ การให้ความรู้เกี่ยวกับผลของแอลกอฮอล์ต่อร่างกาย และการเคารพกฎจราจรแก่เจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป สามารถกระตุ้นจิตสำนึกของผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีความระมัดระวังและตระหนักถึงผลของการดื่มมากยิ่งขึ้น นำไปสู่การลดพฤติกรรมเสี่ยงและอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วขับ


พ.ต.อ.วีระวิทย์ วัจนะพุกกะ รองผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจจราจร (รอง ผบก.จร.) เห็นว่า จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับมีแนวโน้มลดลง

แสดงให้เห็นว่าการรณรงค์ให้ความรู้ในประเด็นรู้ทันแอลกอฮอล์ ซึ่งครอบคลุมเรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ และผลของแอลกอฮอล์ต่อร่างกายแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นวิธีที่มีประสิทธิผล


"เป็นการปรับทัศนคติของประชาชนให้ตระหนักถึงผลของการดื่มแล้วขับ ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยเราจะดำเนินกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการดื่มอย่างรับผิดชอบ พร้อมกระตุ้นจิตสำนึกการเมาไม่ขับ ภายใต้โครงการเมาไม่ขับ กลับปลอดภัย ร่วมกับพันธมิตรต่างๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป ไม่มุ่งเน้นเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น"


เขาบอกว่า การรณรงค์ต่างๆ จะต้องทำไปพร้อมๆ กับการรณรงค์ให้ความรู้การขับขี่อย่างปลอดภัย เพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดจากการละเมิดกฎจราจรต่างๆ เช่น การใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่เคารพสัญญาณไฟจราจร ขับปาดหน้า เป็นต้น ที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง เพื่อสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง


รอง ผบก.จร. ทิ้งท้ายว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายในการร่วมรับผิดชอบ ซึ่งผลจากการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชนแสดงให้เห็นว่าเรามาถูกทางแล้ว จึงเตรียมจัดกิจกรรมไปยังพื้นที่อื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับทัศนคติและกระตุ้นให้ประชาชนเกิดจิตสำนึกถึงความสำคัญของการดื่มอย่างรับผิดชอบและการเคารพกฎจราจร ไม่สามารถเกิดได้ชั่วข้ามคืน จึงควรทำอย่างต่อเนื่อง


นายธนากร คุปตจิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ดีเอ็มเอชที (DMHT) กล่าวว่า ความรู้และจิตสำนึกจะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน


"หัวใจสำคัญของโครงการรณรงค์ เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย คือ การปรับทัศนคติและลบล้างความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลเสียจากการดื่มอย่างไม่รับผิดชอบ แม้จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มีความเข้าใจผิดๆ เช่น หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพียงเล็กน้อยจะช่วยให้ร่างกายตื่นตัวมากขึ้น"


ทั้งนี้ ดีเอ็มเอชที จึงเตรียมที่จะขยายการให้ความรู้เรื่องดังกล่าวให้ครอบคลุมและเข้าถึงกลุ่มผู้ดื่มและคนใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาโครงการ "เมาไม่ขับ กลับปลอดภัย" ได้จัดอบรมให้ความรู้ในหัวข้อ "DRINKiQ รู้ทันแอลกอฮอล์" แก่ตำรวจ เจ้าหน้าที่คุมประพฤติ แท็กซี่ รวมถึงสถานประกอบการ
นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการสร้างจิตสำนึกของผู้ประกอบการให้ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม รวมถึงการให้ความรู้แก่ผู้ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อให้เป็นหูเป็นตาร่วมตรวจสอบ ไปจนถึงช่วยดูแลผู้ดื่มได้


นายประสิทธ์ คำเกิด รองประธานคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ประสบภัยจากรถ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ในแต่ละปีมีมากกว่า 4,500 ล้านบาท สำหรับการบาดเจ็บ ทุพพลภาพถาวร และการเสียชีวิตที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน


ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงทรัพย์สินและค่าเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ เช่น ความสูญเสียทางด้านจิตใจของครอบครัวผู้สูญเสียหรือความพิการที่ต้องติดตัวตลอดชีวิต ซึ่งเกิดจากการขับรถด้วยความเร็วสูง เมาแล้วขับขี่ ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่ ไม่มีวินัยจราจร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากคนทั้งนั้น คนที่ขาดจิตสำนึกในเรื่องของความปลอดภัยทางถนน คนที่ขาดวินัยจราจร คนที่ไม่มีน้ำใจต่อผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน คนที่ประมาทคึกคะนอง ฯลฯ


"อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของเราทุกคน สามารถป้องกันได้ง่ายๆ โดยเริ่มจากตัวเรา เพียงแค่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด มีสติ มีวินัย มีน้ำใจ อุบัติเหตุทางถนนก็ลดลงแล้ว"


จากสถิติการดื่มสุราแล้วขับขี่ที่มีตัวเลขลดลงนั้นเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นว่าการรณรงค์เดินทางมาถูกทาง หากร่วมแรงร่วมใจกันอย่างจริงจังและต่อเนื่องต่อไป หลักชัยอัตราการเสียชีวิตจากเมาแล้วขับเป็นศูนย์คงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม