'พ.ต.อ.วทัญญู'ชื่อนี้'ตระกูลชินวัตร'เลือกและไว้ใจ

'พ.ต.อ.วทัญญู'ชื่อนี้'ตระกูลชินวัตร'เลือกและไว้ใจ

'พ.ต.อ.วทัญญู'ชื่อนี้'ตระกูลชินวัตร'เลือกและไว้ใจ ที่ปรากฏอยู่ในขบวนรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์

ภาพ พ.ต.อ.วทัญญู วิทยผโลทัย ผู้ช่วยนายเวร (สบ.4) รองผบ.ตร หรือ "สารวัตรหนุ่ย " ที่ปรากฏอยู่ในขบวนรถของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในขณะที่ถูกทหาร-ตำรวจตั้งด่านตรวจที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้ชื่อของพ.ต.อ.วทัญญู โดดเด่นขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้การถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะทุกครั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรากฏตัวในที่สาธารณะ จะต้องมีภาพของ พ.ต.อ.วทัญญู ทำหน้าที่ยืนอยู่ด้านหลังคอยติดตามอารักขาดูแลความปลอดภัยทุกครั้ง

เส้นทางชีวิตราชการ พ.ต.อ.วทัญญู เริ่มจากนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 49 บรรจุครั้งแรกในกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ซึ่งทำให้ได้มีโอกาสรู้จักมักคุ้นกับ พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งในกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน กระทั่งเมื่อพล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ได้โยกมาเป็นรองผบก.ส.3 ทำหน้าที่เกี่ยวกับการดูแลงานอารักขาบุคคลสำคัญ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมอารักขา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ พ.ต.อ.วทัญญู ก็ถูกเรียกตัวเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมอารักขา

แต่ภายหลังเกิดรัฐประหาร ปี 2551 พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ เตมียาเวส ผบ.ตร.ในขณะนั้น ได้เซ็นคำสั่งโยกย้ายให้พ.ต.อ.วทัญญู ไปเป็น สว.สป.สภ.กรงปินัง จ.ยะลา แต่ปรากฏว่า พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงษ์ รองผบ.ตร.ในขณะนั้นได้มีคำสั่งขอตัวให้พ.ต.อ.วทัญญู มาช่วยราชการในสำนักงานรองผบ.ตร.

และทันทีที่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้ง พ.ต.อ.วทัญญูได้กลับเข้ามานั่งในตำแหน่ง สว.ฝขว.10 บก.ส. 1 (บก.น.7) ทำหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัย "บ้านจันทร์ส่องหล้า "
ต่อมา พ.ศ.2555 พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ผบ.ตร.ในขณะนั้นได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งนอกวาระให้ พ.ต.อ.วทัญญู ขยับขึ้นเป็นรองผกก.ในตำแหน่ง ผู้ช่วยนายเวร(สบ.3) พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. ซึ่งการแต่งตั้งครั้งนั้นเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะเหลือระยะเวลาเพียงอีกแค่เดือนเศษก็จะถึงวาระการแต่งตั้งประจำปีแล้ว

ถึงแม้พ.ต.อ.วทัญญ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.พงศพัศ แต่ปรากฏว่าเขาก็ไม่ได้ทำหน้าที่นี้แต่อย่างใด ยังคงทำหน้าที่เป็นทีมอารักขา น.ส.ยิ่งลักษณ์ เหมือนเดิม จนกระทั่งเมื่อ 14 มิถุนายน 2556 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในขณะนั้นได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้ง พ.ต.อ.วทัญญู อีกครั้ง เป็นถึงระดับผู้กำกับการ ในตำแหน่งผู้ช่วยนายเวร (สบ.4) ผบ.ตร. โดยใช้วิธียกเว้นกฎ ก.ตร. เฉพาะรายเนื่องจากอยู่ในตำแหน่งรองผกก.ไม่ครบ 2 ปี จึงยกเว้นหลักเกณฑ์

เมื่อดูเส้นทางชีวิตราชการของ พ.ต.อ.วทัญญู เป็นไปในลักษณะอิงการเมืองมาโดยตลอด
กระทั่งล่าสุดเริ่มมีคำถามว่า ทำไม พ.ต.อ.วทัญญู ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจต้องติดตามดูแล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เรื่องนี้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยว่า ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีหนังสืออนุญาตให้ พ.ต.อ.วทัญญู ไปปฎิบัติหน้าที่ให้ความคุ้มครองดูแล ติดตามอดีตนายกฯ เนื่องจากทางสำนักนายกฯ ในสมัยที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นนายกฯ ได้มีหนังสือขอผ่านทางกองบังคับการตำรวจสันติบาล 3 ให้ไปช่วยปฎิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย โดยให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลสำคัญ ถึงแม้ว่าเมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ก็สามารถจะขอเจ้าหน้าที่ไปดูแลรักษาความปลอดภัยได้

โดยทางตร.ได้อนุมัติให้ปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ 25 ส.ค 2557 - 24 ส.ค 2558 โดยยังคงรับเงินเดือนตามปกติ เป็นไปตามระเบียบหลักเกณฑ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหลังจากหมดวาระคำสั่งขอตัวไปช่วยก็ถือว่าสิ้นสุดการทำงาน ตามระเบียบจะต้องกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิม ส่วนจะมีการขอตัวไปอีกหรือไม่นั้น ต้องแล้วแต่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะพิจารณาอีกครั้ง

ทำไมตระกูล "ชินวัตร" ต้องเลือก"พ.ต.อ.วทัญญู" เท่านั้น แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกฯ ได้ทำหนังสือมาถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการระบุเฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคลว่า ต้องเป็น พ.ต.อ.วทัญญู ทำให้ทาง พล.ต.อ.อดุลย์ ผบ.ตร.ในขณะนั้น เซ็นคำสั่งให้พ.ต.อ.วทัญญู มาช่วยราชการดูแลความปลอดภัย ทำให้เขาเปรียบเสมือนเป็นคนในครอบครัว"ตระกูลชินวัตร"ไปแล้ว เนื่องจากว่า มีความคุ้นเคย และอารักขามาอย่างต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯทักษิณ อดีตนายกฯสมชาย จนมาถึง อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เขาได้รับความไว้วางใจจากครอบครัว"ชินวัตร" ทำให้ พ.ต.อ.วทัญญู มีบทบาทเด่นชัดต่อภาพลักษณ์ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นอย่างมาก

และหากมองย้อนไป ตลอดเวลา "292 วัน" ที่ "ยิ่งลักษณ์" นั่งในเก้าอี้นายกฯจนถึงช่วงหลังจากยุบสภา บวกกับช่วงเวลาที่เดินสายหาเสียงในช่วงลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเบอร์1 ของพรรคเพื่อไทยนั้น "สารวัตรหนุ่ย" ก็ติดตามอารักขาโดยตลอดในฐานะนายตำรวจคนสนิท

โดยในส่วนของชื่อนอกจากเรียก "สารวัตรหนุ่ย" ที่เรียกกันติดปากแล้ว ก็มีอีกชื่อที่สื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลส่วนหนึ่งและทีมข่าวสร.1 ซึ่งเป็นกลุ่มนักข่าวทุกสำนักติดตามทำข่าวนายกฯ เรียกชื่อเขาเป็นรหัสประจำตัวว่า "สองสี่"

ซึ่ง "สองสี่" มีภารกิจที่ติดตาม"นาย"มากกว่าหัวหน้าทีมรปภ.คนอื่นๆ คือ ภารกิจหลักทำหน้าที่ประสานชุดรักษาความปลอดภัยทั้งชุดปกติ ชุดล่วงหน้า ตำรวจท้องที่ ในการจัดระบบรักษาความปลอดภัยให้ "นาย"ในการเดินทางไปแต่ละครั้ง

ส่วนภารกิจรอง "แต่จำเป็น" คือ ต้องทำหน้าที่ประสานสื่อมวลชนในบางครั้ง ในการประสานว่าจะให้ "นายหญิง"อยู่ตรงจุดไหนอย่างไร ตกลงเรื่องมุมกล้องตรงไหน รวมถึงจะยืนข้างหลัง"นายหญิง"ในช่วงที่สัมภาษณ์และบางครั้งจะช่วยตัดบทเมื่อรู้สึกว่าสัมภาษณ์ยาวเกินไปหรือต้องรีบไปภารกิจอื่น

และอีกงานที่สำคัญคือ ยังจะต้องทำหน้าที่เป็นช่างภาพประจำตัวนายกฯ โดยมีอุปกรณ์ประจำตัวที่พกพาง่ายเป็นสมาร์ทโฟนของตัวเอง หรือไม่ก็กล้องคอมแพ็คขนาดเล็กที่มีความละเอียดสูง เพื่อนำภาพไปอัพลงเฟซบุค อินสตาแกรม หรือทวิตเตอร์ ส่งให้ทีมงานของนายกฯให้ส่งต่อมายังสื่อมวลชนอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นในบางครั้งงานไหนที่สื่อมวลชนเข้าไปถ่ายไม่ได้ "สองสี่" จะจัดให้อย่างทั่วถึงไม่ว่าสื่อนั้นจะต่างขั้วหรือไม่

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่า เมื่อ 24 ส.ค.นี้ มาถึง ซึ่งครบกำหนดที่ทางตร.อนุมัติให้ พ.ต.อ.วทัญญู ดูแลความปลอดภัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ จะมีการทำหนังสือขอตัวให้พ.ต.อ.วทัญญู มาอารักขาเหมือนเดิมหรือไม่