'พลเดช'แจงปมขัดแย้ง ร่างพรบ.สมัชชาคุณธรรมฯ

'พลเดช'แจงปมขัดแย้ง ร่างพรบ.สมัชชาคุณธรรมฯ

"นพ.พลเดช" ชี้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ไม่เอี่ยว กมธ.ยกร่างรธน. ยุบผู้ตรวจการแผ่นดิน มองบทบาท สมัชชาฯ จะทำงานมีคุณภาพมาก-ไร้อคติ

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาล ให้สัมภาษณ์ว่าหากที่ประชุมสปช. ผ่านรายงานของคณะกรรมการปฏิรูปคุณธรรมฯ และให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ พ.ศ... เพื่อตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมของผู้บริหาร,ข้าราชการ, นักการเมือง และตรวจสอบการกระทำผิดตามมาตรฐานจริยธรรม ในวันนี้ (2 มี.ค.) ทางสปช. จะส่งรายงานและร่างพ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาและเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณาและตราเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ โดยส่วนตัวเชื่อว่าในกระบวนการพิจารณาของสนช. นั้นจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และมีการตั้งคณะทำงานของสปช. เข้าไปเป็นกรรมาธิการร่วมของสองสภาพิจารณา


สำหรับสาระสำคัญของการมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระเพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตราฐานจริยธรรมและคุณธรรมธรรมของข้าราชการ ผู้บริหาร นักการเมือง และมีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องตามการร้องเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้ภาคสังคมและประชาชนได้เกิดความตระหนักในพฤติกรรมดังกล่าวและปรับให้เป็นกระบวนการและมาตรการโซเชียลแซงชั่นในอนาคตได้ และเมื่อเสริมเข้ากับกระบวนการพิจารณาทางกฎหมายที่มีความเข้มแข็ง เชื่อว่าจะเป็นทางออกของปัญหาจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลที่เกิดขึ้นในอดีตได้

“ผมเชื่อว่าสมัชชาคุณธรรมจะไม่ใช่แค่เสือกระดาษ เพราะกระบวนการเอาผิด หรือลงโทษผู้ที่ถูกตรวจสอบจริยธรรม คุณธรรม และธรรมาภิบาลโดยสมัชชาคุณธรรมจะถูกส่งต่อไปยังหัวหน้าหน่วยงานที่กำกับบุคคลที่ถูกตรวจสอบ เช่น นักการเมือง จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ขณะเดียวกันรายงานการตรวจสอบนั้นจะมีการเผยแพร่สู่สาธารณะให้สังคมได้รับทราบเป็นการทั่วไปด้วย” นพ.พลเดช กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ มีผู้วิจารณ์ว่าเพื่อทำตามความต้องการของนายเทียนฉาย และส่งผลให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณายุบผู้ตรวจการแผ่นดินรวมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นพ.พลเดช กล่าวว่า ประเด็นที่มีการวิจารณ์ตนไม่สามารถห้ามได้ ส่วนจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจยุบผู้ตรวจการแผ่นดินของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ตนไม่ทราบ

ทั้งนี้ตนก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านายเทียนฉาย ไม่เกี่ยวข้องเพราะนายเทียนฉายอยู่ในฐานะประธานกรรมการบริหารศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ด้วย แต่ในหลักการตนมองว่าการมีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่แม้จะคล้ายคลึงกับผู้ตรวจการแผ่นดิน แต่ลักษณะโครงสร้างและการทำงานจะมีความเข้มแข็งและมีคุณภาพมากกว่าในประเด็นการตัดสินใจเรื่องที่มีการร้องเรียน โดยเฉพาะความมีอคติในการตัดสินใจ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดิน มีจำนวน 3 คน แต่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติจะมีผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบและลงคะแนนด้วยสมาชิกขั้นต่ำ 55 คน


อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะเสริมงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติให้ได้ดียิ่งขึ้น แต่หากไม่มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติสามารถทำงานได้ โดยการประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น วัด เป็นต้น ขณะที่มีการกล่าวถึงว่าสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ควรยกระดับองค์กรและทำเป็นพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่าอาจไม่จำเป็นเพราะการมีกฎหมายให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติที่ทำงานอย่างอิสระก็เพียงพอแล้ว