สวมแว่นวิชาการมอง 'กัญชา' สู่ข้อเสนอลดโทษทางอาญา

สวมแว่นวิชาการมอง 'กัญชา' สู่ข้อเสนอลดโทษทางอาญา

(รายงาน) สวมแว่นวิชาการมอง "กัญชา" สู่ข้อเสนอลดโทษทางอาญา

เมื่อเอ่ยถึง “กัญชา” สิ่งแรกๆ ที่สังคมไทยนึกถึงคือ “ยาเสพติด” หรือเป็นภาพสัญลักษณ์เชิงลบต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดศีลธรรม แต่ในฟากฝั่งตะวันตก กัญชามีบริบทที่แตกต่างออกไป เช่น ผูกโยงกับความอิสระ เสรี เป็นต้น


ในประเทศไทยกัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครองและไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์แต่อย่างใด


ในขณะที่อีกหลายประเทศมีความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลถอนกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดผิดกฎหมาย และกำหนดให้วันที่ 20 เม.ย.ของทุกปี เป็นวันเรียกร้องสิทธิในการเสพกัญชา และพร้อมใจกันจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่ บทลงโทษรุนแรงเกินไป
การลงทุนปราบปรามกัญชาเสียมากกว่าได้ และการจับกุมทำให้ผู้เสพกัญชามีประวัติอาชญากรติดตัว ทำให้หางานทำยาก


ดังนั้นเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับ เพจ กัญชาชน จึงถือโอกาสจัดงาน 1st Annual Thailand 420 หรือ งานวันกัญชาโลกครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่พูดคุยในเชิงวิชาการเกี่ยวกับกัญชา ในหัวข้อ “ความเป็นไปได้ในการลดทอนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: ศึกษากรณีกัญชา”


นายกอบกูล จันทวโร อนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติด คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า ปัญหากัญชาเป็นปัญหาระดับโลก เนื่องจากมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก แม้ในไทยจะมองเป็นเรื่องไม่ใหญ่โต สถิติการจับกุมยังมีน้อย แต่หากเทียบในระดับโลกแล้วปัญหากัญชาก็ยังมีความสำคัญ


เขาบอกว่า การปรับแก้กฎหมายเกี่ยวกับกัญชา แม้ตามหลักแล้ว กฎหมายระหว่างประเทศจะไม่มีผลบังคับใช้ แต่ในการร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาก็ต้องมีการมาศึกษาเพื่อดูความเป็นไปได้ หากจะนำมาใช้ในไทย


โดยอนุสัญญาที่ไทยได้เข้าร่วมมีอยู่ 3 ฉบับ ได้แก่ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1961, อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดให้โทษและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท


สำหรับกฎหมายของประเทศไทย นายกอบกูล มองว่า มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2465 หรือเกือบร้อยปี ซึ่งมีการกำหนดโทษทางอาญา ฉะนั้นจึงยึดความผิดอาญาเป็นหลัก ไม่เปิดช่องอย่างอื่น


“ถ้าพิจารณาจากตรงนี้ เราไม่มีทางเลือก นอกจากปฏิบัติตาม การจับกุมมีสถิติอยู่ในลำดับต้นๆ ของประเทศ การที่แก้ไขด้วยการลงโทษทางอาญาควรจะกลับมามองกันใหม่ว่าเหมาะสมหรือไม่กับความผิดบางประเภท ในขณะนี้มีนักโทษคดียาเสพติดที่ถูกจำคุกอย่างน้อย 3 แสนคน ทั้งๆ ที่คุกสร้างมารองรับคนจำนวน 1 แสนคนเท่านั้น”


“เราแก้ปัญหา ไม่ควรมองแค่ประเทศไทยอย่างเดียว เพราะปัญหากัญชาเป็นปัญหาในระดับสากล ซึ่งต้องย้อนกลับมาดูว่าถึงเวลาแล้วหรือไม่ ในการจัดการทางเลือกอื่นสำหรับความผิดของกัญชา จะเป็นเสรีหรือจะผ่อนปรนรวมกับการบังคับคดีได้หรือไม่ ต้องคิดกัน"


เขากล่าวว่า ปัจจุบัน สหรัฐ กลุ่มประเทศยุโรป รวมทั้งกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ยอมผ่อนปรนเรื่องความผิดเกี่ยวกับกัญชา ในเรื่องการเสพ การครอบครอง โดยไม่ถือเป็นความผิดที่จะต้องลงโทษอย่างรุนแรง แต่ในเรื่อง “การค้า” ยังต้องปราบปราม


ด้าน รศ.ศรีสมบัติ โชคประจักษ์ชัด อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการศึกษาเกี่ยวกับยาเสพติด พบว่า ประเทศไทยมีนโยบายปราบปรามจำนวนมาก รวมทั้งการแก้ไขฟื้นฟู แต่สวนทางกับตัวเลขสถิติการจับกุมในคดียาเสพติด ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่มีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้ง ปี 2548 -2551 มีจำนวนผู้ถูกจับกุมมากถึง 3 เท่าตัวจากการคำนวณปริมาณประชากร 1 แสนคน


อาจารย์ศรีสมบัติ บอกว่า ต้องกลับมาดูว่านโยบายที่ใช้มีความผิดพลาดอย่างไร และไม่ถูกทางอย่างไร


"ทุกประเทศมีปัญหาที่คล้ายกัน ในเรื่องค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ จึงมีการเสนอแนวคิด เช่น การทำให้กัญชานั้นถูกกฎหมาย รวมทั้งการไม่เอาโทษทางอาญา และนโยบายรณรงค์อันตรายจากการใช้ยาเสพติด ที่หลายประเทศกำลังใช้กันอยู่ แต่ไม่ใช่ว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด หลายประเทศก็ยังมีการถกเถียงกัน"


ขณะที่ มุมมองทางการแพทย์ นพ.อังกูร ภัทรากร รองผู้อำนวยการสถาบันธัญญารักษณ์ พูดถึงกัญชาในหัวข้อ การนำกัญชาไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งเขาบอกว่า สารที่อยู่ในกัญชา ส่งผลกระทบต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอารมณ์ ทำให้ความอ่อนไหว เปลี่ยนแปลง ความคิดเลื่อนลอย สับสน ความจำเสื่อม เป็นต้น


จากการศึกษาวิจัยพบที่เป็นประเด็นสำคัญประการแรกๆ คือ ร่างกาย ไม่สามารถประกอบการงานได้ ใช้ไปในเวลานานจะมีความเชื่องช้าต่อการตอบสนอง


“ผู้ที่ใช้กัญชาเป็นระยะเวลานาน จะมีผลร้าย จะเกิดการติดเชื้อโรค เพราะภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกทำลาย ต่อมาเป็นเรื่องการทำลายสมอง แม้จะใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ก็ตาม จะทำให้เกิดความสูญเสียความทรงจำ และเป็นโรคสับสนกังวล และหากใช้อย่างต่อเนื่อง ก็นำไปสู่การเป็นโรคจิตเภท โรคซึมเศร้า ในโรงพยาบาลจิตเวช มากกว่า 78% ของคนไข้ที่เข้ารับการรักษา มีประวัติการเสพกัญชาเป็นระยะเวลานาน แล้วเกิดภาวะสมองฝ่อ”


หมออังกรู บอกด้วยว่า ในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเรียกว่า กัญชาว่าเป็นสมุนไพรหรืออะไรก็ตาม แต่การที่เราเดินหน้าไปสู่โลกยุคใหม่ มีการค้นพบสารที่ใช้รักษาโรคได้มากมายหลายชนิด ทำไมจึงอยากย้อนกลับไปใช้สารที่อยู่ในดินในต้นไม้ มารักษาพยาบาลทั้งที่มีสารพิษเจือปนอยู่


ส่วน นายวีระพันธ์ งามมี เลขาธิการมูลนิธิโอโซน มองว่า การรับรู้ของสังคมมองกัญชาเหมือนผี ไม่เคยหาความรู้ ทำความเข้าใจ ทั้งๆ ที่ตัวเลขจากสถิติกลับพบว่า ผู้ที่เสพแอลกอฮอล์และบุหรี่มีจำนวนมากกว่า และก่อความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเมาแล้วขับ


“ตัวเลขผู้ที่ใช้สารเสพติดต่างๆ พบว่า ผู้ดื่มแอลกอฮอลล์มีมากถึง 27 ล้านคน เยาวชนในสถานพินิจฯ ก่อเหตุหลังจากการดื่มสุรา ผู้สูบหรี่ 12 ล้านคน กัญชาเป็นอันดับ 3 นอกจากนั้นก็จะเป็นยาประเภทอื่นๆ จึงทำให้ต้องบอกว่า ประเทศไทยควรจะเลิกตื่นตระหนกกับประเด็นยาเสพติดได้แล้ว"