ทปอ.พบ'รมว.ศธ.'หารือตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา
"ทปอ." พบ "รมว.ศธ." หารือตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา พร้อมวอนตามเรื่องเงินเยียวยาพนักงานมหาวิทยาลัย
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ(มศว.) เปิดเผยภายหลังประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) และคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) ประชุมร่วมกับ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ว่า การหารือกับ รมว.ศึกษาธิการในวันนี้ ทปอ. ได้นำร่างระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา มาหารือกัน ทั้งนี้ ทปอ.ได้ศึกษาเรื่องการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษามาหลายปีแล้ว ถือว่ามีความจำเป็นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุดมศึกษา
ขณะเดียวกัน การแยกจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาออกมาก็ไม่ใช่กระทรวงใหม่ ในอดีตเคยมีทบวงมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ทั้งนี้ นอกจากวามเห็นของ ทปอ.แล้ว ทางที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ทปอ.ม.ราชมงคล สมาคมอุดมศึกษาเอกชน ก็เห็นด้วยกับการตั้งกระทรวงอุดมศึกษาเช่นกัน รวมไปถึง กกอ.และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ด้วย โดยในวันนี้ กรรมาธิการการศึกษาและกีฬา ได้มีการประชุมวันนี้และได้ให้ความเห็นชอบร่างมตินี้ด้วยเสียงเอกฉันท์
"ในประเด็นนี้ รมว.ศธ.ไม่ขัดข้องกับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา แต่ให้อยู่ในช่วงเวลาเหมาะสม ซึ่งก็สอดคร้องกับความเห็นของ สนช. ที่เห็นว่าควรจะรอดูในสองสามเรื่อง เรื่องแรก ให้รอดูร่าง รธน.ฉบับใหม่และให้รอดูความพร้อมของฝ่ายบริหาร ซึ่งก็คือ ครม.และกระทรวงศึกษาธิการ แต่ทั้งนี้ก็ได้ชี้แจงกับ รมว.ศธ.ไปว่าการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณก่อสร้างกระทรวงใหม่ สามารถใช้อาคารเดิมของทบวงได้รวมถึงไม่ต้องจัดตั้งตำแหน่งปลัดเพิ่มโดยให้เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เป็นปลัดได้เลย ทั้งนี้ การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา จะทำให้กระทรวงสามารถเข้าไปดูแลการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยได้มากขึ้น หากการจัดการศึกษาของสถาบันใดมีปัญหาก็สามารถอาศัยข้อกฏหมายเข้าไปควบคุมดูแลได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการขยายขอบเขตการทำงานของอุดมศึกษา
จากเดิมจะดูแลเฉพาะการจัดการศึกษาให้ประชากรวัย 18-25 ปี ให้สามารถเข้าไปดูแลวิทยาลัยชุมชน และแรงงานในวัยทำงาน ที่อายุ 15-60 ปี ซึ่งมีอยู่ประมาณ 47 ล้านคนด้วย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งจบการศึกษาระดับประถมศึกษา. มีเพียง 1 ใน5 เท่านั้นที่จบระดับอุดมศึกษา ปัญหาดังกล่าวยากที่จะผลักดันให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประเทศกลับดักรายได้ปานกลาง เข้าสู่ดิจิตอลอิโคโนมีได้ จำเป็นต้องยกระดับทักษะคุณภาพของแรงงานก่อน”
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นยังได้ขอให้ รมว.ศธ.ช่วยติดตามเรื่องเงินเยียวยาของพนักงานมหาวิทยาลัยทั้ง 3 กลุ่มด้วย คือกลุ่มที่ก่อนเข้าทำงาน 1 ม.ค. 2555, กลุ่มที่เข้าทำงานก่อน 1 ม.ค. 2556 และกลุ่มที่เข้าทำงานก่อน 1 ม.ค. 2557 ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มใดได้รับเงินเยียวยาครบตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือนน้อยกว่าข้าราชการพลเรือนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ถึง 8% ซึ่งคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(ก.พ.ร.)ได้มีมติให้เสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณาแล้ว จึงขอให้ รมว.ศธ.ติดตามเรื่องนี้ให้ โดยรมว.ก็รับปาก
ด้าน พล.พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ในเรื่องการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา ตนเพิ่งได้รับตัวร่างกฏหมายนี้จาก ผศนพ.เฉลิมชัย อย่างไรก็ตาม โดยหลักการตนไม่ขัดขวางที่จะมีการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา แต่ยังไม่ใช่เวลานี้