แฉ!ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เม็ดละ3หมื่น
เครือข่ายด้านเอดส์ แฉบริษัทยายักษ์ใหญ่ โขกราคายารักษาไวรัสตับอักเสบซี เม็ดละ 3 หมื่น อ้างต้นทุนแค่หลักร้อย จี้พาณิชย์ถอน 6 คำขอจดสิทธิบัตร
ที่กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายองค์กรด้านเอดส์ ได้แก่ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมด้วย มูลนิธิโอโซน มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการรักษาเอดส์ และชมรมเภสัชชนบท นำโดยนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)เพื่อขอให้เร่งรัดตรวจสอบและดำเนินการหาแนวทางเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยารักษาไวรัสตับอักเสบชนิดซี โดยมีนพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รักษาการปลัดสธ.รับหนังสือแทน
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์เพื่อเข้าถึงการรักษา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมียาใหม่ที่รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีให้หายขาดได้ ระยะเวลาการรักษาสั้นลงและแทบไม่มีผลข้างเคียง แต่ยามีราคาแพงมาก อย่างเช่น ยาโซฟอสบูเวียร์(sofosbuvir) ของบริษัทกิลิแอด หากรักษาจนครบ 3 เดือนจะต้องจ่ายเงินประมาณ 2.5 ล้านบาท หรือตกเม็ดละ 30,000 บาท โดยนักวิเคราะห์บางคนประเมินว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริงอาจมีราคาไม่ถึง 100 บาทต่อเม็ด ซึ่งในระดับสากลยาวันนี้ยังมีปัญหาเรื่องความไม่ชัดเจนว่าสมควรที่จะได้รับสิทธิบัตรในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ยุโรป อียิปต์ โมร็อคโค ยูเครน รัสเซีย จีน อินโดนีเซีย เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตยาไม่เข้าหลักเกณฑ์การให้การคุ้มครองสิทธิบัตรในเรื่องความใหม่และขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้น
นายนิมิตร์ กล่าวว่า บริษัทกิลิแอดได้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2551 และยื่นคำขอเพิ่มเติมรวม 6 คำขอ แต่เนื่องจากการเข้าถึงหรือสืบค้นข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรของกรมทรัพย์สินทางปัญหาโดยบุคคลทั่วไปทำได้ยาก ทำให้การยื่นคัดค้านคำขอรับสิทธิบัตรซึ่งสามารถทำได้ตามกฎหมายกระทำได้ไม่ทันการณ์ ส่งผลให้คำขอ 1 ใน 6 คำขอหมดเวลาในการคัดค้าน ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องถอนคำขอทั้ง 6 คำขอ เพื่อที่จะไม่มีการจดสิทธิบัตรยาตัวนี้ในประเทศไทย ช่วยให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช่ยาตัวนี้เข้าถึงยาได้มากขึ้น
“ขณะนี้มีคนไทยที่ต้องใช้ยารักษาไวรัสตับอักเสบซี 1.2 ล้านคน ปัจจุบันแม้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะคุ้มครองการรักษาแต่เป็นยาฉีดที่ต้องฉีดเป็นเวลา 6เดือน มีผลข้างเคียงสูงมาก ขณะที่ยาที่ดีที่สุดตอนนี้เป็นยากินใช้กินเพียง 3 เดือน ฉะนั้น หากกระทรวงพาณิชย์จดสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบชนิดเม็ดนี้ จะเกิดการผูกขาดยานี้เป็นเวลาถึง 20 ปี ทำให้คนไข้เข้าไม่ถึงยาตัวนี้ ทั้งที่หากผู้ป่วยได้รับยานี้จะทำให้รักษาโรคนี้ได้หายขาด แต่หากใช้ยาฉีดแล้วรอยากินไปเรื่อยจนตับแข็งมากขึ้นก็ไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นและเสี่ยงกลายเป็นมะเร็งตับ”นายนิมิตร์ กล่าว
นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับเรื่องนี้ การนำมาตรการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐหรือซีแอล(Compulsory Licensing : CL)มาใช้เป็นทางออกที่ดี ซึ่งจากการหารือร่วมกับนักกฎหมายภาคเอกชนไทยและในหลายๆประเทศและดูข้อกำหมายแล้ว ระบุว่า ยาที่ยังไม่ได้รับสิทธิบัตรหากมีความจำเป็น คือ เกิดวิกฤติ และเข้าไม่ถึงยาสามารถที่จะทำซีแอลได้ กรณียารักษาไวรัสตับอักเสบซีนี้ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)จึงสามารถพิจารณาทำซีแอลได้เลยแม้ยาตัวนี้ยังไม่ได้สิทธิบัตรในไทยก็ตาม เพราะเกิดการผูกขาดยาเข้าข่ายคนไข้เข้าไม่ถึงยา โดยยาตัวนี้องค์การเภสัชกรรม(อภ.)สามารถผลิตได้โดยนำเข้าวัตถุดิบจากจีนหรือเกาหลีใต้ ราคาจะเหลือเม็ดละราว 71 บาทเท่านั้น
ด้านนพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคงยังไม่สามารถให้คำตอบได้ในขณะนี้แต่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) อภ.และกระทรวงพาณิชย์ หารือกันก่อนและพิจารณาแนวทางที่สร้างความสมดุลและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนแนวทางที่เครือข่ายฯเสนอเรื่องการยกเลิกขึ้นทะเบียนนั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและแนวทางปฏิบัติทางกฎหมายอย่างละเอียด เพราะพบว่าบางประเทศก็ไม่อนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเนื่องจากไม่ใช่ยาใหม่ แต่ต้องยึดขั้นตอนทางกฎหมายด้วย