นายกฯเตรียมร่วมประชุมแอคเมคส์22-23มิ.ย.นี้
"นายกรัฐมนตรี" เตรียมเดินทางเข้าร่วมประชุมแอคเมคส์ ครั้งที่ 6 คาดหารือความคืบหน้ากรอบความร่วมมือ 8 สาขาเพื่อความเข้มแข็งของอาเซียน
พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) ครั้งที่ 6 ณ กรุงเนปิดอว์ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน ว่า การประชุมแอคเมคส์ (ACMECS) ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือแอคแมคส์ ใน 8 สาขาคือ 1. การอำนวยความสะดวกการค้า การลงทุน 2. การเกษตร 3. อุตสาหกรรมและพลังงาน 4. การเชื่อมเส้นทางคมนาคม 5.การท่องเที่ยว 6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. สาธารณสุข และ 8. สิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีที่มุ่งส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคและอาเซียน มีเป้าหมายสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคโดยรวม
ทั้งนี้ ความร่วมมือทั้ง 8 สาขามีข้อตกลงร่วมกันแล้ว แต่บางเรื่องอาจมีความล่าช้า หรือบางเรื่องมีความคืบหน้า การประชุม ครั้งนี้จะไปเร่งให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมในทุกด้าน เพราะเรื่องเหล่านี้มีความเกี่ยวพัน และเชื่อมโยงกับประเทศลุ่มแม่น้ำทั้ง 3 สาย นอกจากนี้จะมีการลงนามร่างปฏิญญา กรุงเนปิดอ ครั้งที่ 6 และร่างแผนปฏิบัติการของแอคเมคส์ ครั้งที่ 6 ซึ่งจะเป็นการพูดถึงรูปแบบการปฏิบัติ ว่าจะมีการร่วมมืออย่างไร
พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีย้ำว่า จะต้องทำให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมโดยเร็วทุกสาขาความร่วมมือ โดยเฉพาะสาขาที่ไทยมีความพร้อม อาทิ การอำนวยความสะดวกเรื่องการค้า การลงทุน เรื่องสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การสาธารณสุข การท่องเที่ยว เป็นต้น โดยไทยจะเริ่มเป็นแกนนำทำให้การขับเคลื่อนได้เร็วที่สุด หรือถ้าประเทศอื่นยังไม่มีความพร้อม จะเข้าไปอำนวยความสะดวกให้คำแนะนำ ฝึกอบรม เพื่อทำให้เพื่อนสมาชิกก้าวไปพร้อมกัน
“วัตถุประสงค์ของนายกรัฐมนตรี คือประเทศไทยต้องไม่แข็งแรงประเทศเดียว ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นรายได้หลักของประเทศ เราต้องมีความเข้มแข็ง ขณะนี้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เราเสียเปรียบประเทศอุตสาหกรรมที่ทำรายได้ได้สูงกว่า ถ้าเราค้าขายกับประเทศอื่นเพียงประเทศเดียว อำนาจการต่อรองจะน้อย ทำให้ไม่สามารถดูแลภาคเกษตรกรรมเราได้ ถ้าเราสามารถพูดคุยกับประเทศที่อยู่ในลุ่มน้ำเรื่องการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อสร้างพลังอำนาจการต่อรอง สินค้าเกษตร จะช่วยให้เรามีขีดความสามารถในการดูแลเกษตรกรได้มากขึ้น” พล.ต.วีรชน กล่าว
ส่วนนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงสถานการณ์ในประเทศไทยกับผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้หรือไม่ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ผู้นำที่มาร่วมประชุมต่างคุ้นเคยกัน เพราะพบปะกันหลายครั้งแล้ว ดังนั้นมีความเข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างดี และให้กำลังใจประเทศไทย คนไทย และขอให้ประเทศไทยผ่านพ้นเหตุการณ์ด้วยดี เพราะเขามองว่าความเข้มแข็งไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นความเข็มแข็งที่จะช่วยขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน