อย.ชี้ทำบัญชียาอันตราย หวังแก้ปัญหาใช้ยาในทางที่ผิด
อย.ชี้ทำบัญชียาอันตราย หวังแก้ปัญหาใช้ยาในทางที่ผิด ขอเวลาประเมิน3-6เดือน พร้อมทบทวน
จากกรณีที่กลุ่มเภสัชเพื่อมวลชน เข้ายื่นหนังสือให้กับสภาเภสัชกรรม เพื่อให้สภาเภสัชกรรมเจรจา กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ให้เพิกถอน ประกาศคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) เรื่อง รายการยาอันตรายที่ต้องทำบัญชีขายยา (ข.ย.11)อาทิ เดกซ์โตรเมเธอร์แฟน (Dextromethophan)และ กลุ่มยาแอนติฮีสตามีน (Antihistamine)ที่เป็นยาพื้นฐานและทั่วโลกแนะนำให้ใช้เป็นตัวแรกในการรักษาอาการไอ อาการแพ้ และลดน้ำมูกในโรคหวัดและโรคอื่นๆ ซึ่งประกาศดังกล่าว ให้ผู้รับอนุญาตขายยาและขายส่งยา ต้องจัดทำบัญชีการขายยาตามที่ระบุในประกาศ โดยใช้แบบบัญชี ข.ย.11ซี่งเป็นการขายแก่บุคคลทั่วไป โดยแบบบัญชีดังกล่าวนี้จะต้องระบุชื่อยา หมายเลขการผลิต จำนวนที่ขาย และชื่อ-นามสกุลผู้ซื้อซึ่งเป็นประชาชนทั่วไปที่มารับบริการในร้านขายยา ซึ่งเกิดจากการพบการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ ในกลุ่มยาแก้ปวด แก้แพ้ ซึ่งถูกนำไปใช้เป็นสารเสพติด
ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กล่าวว่า การใช้มาตรการดังกล่าวเป็นความพยายามในการแก้ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา อย.พยายามประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือแล้วอย่างเต็มที่ จากการร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ปปส.)สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยังพบว่าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น และพบการกระทำผิดอย่างต่อเนื่อง มาตรการดังกล่าวจึงออกมาเพื่อแก้ปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งอยากขอความร่วมมือประชาชนในการให้ความร่วมมือกับทางร้านขายยา ในการแจ้งชื่อผู้ซื้อ เพื่อขอซื้อยาในกลุ่มที่ได้ประกาศไป ในระหว่างที่มีการทดลองใช้มาตรการดังกล่าวประมาณ3-6เดือน จะมีการทบทวนและพิจารณาถึงความเหมาะสมในการใช้มาตรการนี้ด้วย
“เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจและให้ความร่วมมือ เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาการใช้ยาในทางที่ผิด ซึ่งร้านขายยาถือเป็นหน่วยที่ให้บริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน การให้ชื่อก็เหมือนกับการให้ชื่อกับหน่วยบริการทางการแพทย์ ซึ่งจำเป็นต้องขอชื่อผู้ให้บริการ ไม่ได้เป็นการริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานแต่อย่างใด”ภก.ประพนธ์ กล่าว
ภก.ประพนธ์ กล่าวอีกว่าสถานการณ์การใช้ยาในทางที่ผิดนั้น แต่ละพื้นที่จะมีลักษณะแตกต่างกัน แต่พบว่าส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ยาในกลุ่มแอนตี้ฮิสตามีน ซึ่งมีประมาณ11รายการโดยพบว่าการใช้ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้แค่ตัวใดตัวหนึ่ง แต่มีการใช้แบบกระจายตัว เพราะยาในกลุ่มดังกล่าวให้ฤทธิ์ง่วงซึมได้ทั้งหมด การห้ามเพียงตัวใดตัวหนึ่ง ก็ยังมีการเปลี่ยนไปใช้ยาที่มีฤทธิ์เหมือนกันตัวอื่นๆในกลุ่มได้อยู่ดีซึ่งการใช้ลักษณะดังกล่าวเป็นการใช้ยาในทางที่ผิด อย่างไรก็ตาม อย. มีคณะอนุกรรมการทบทวนยาอยู่ตลอด จะมีการประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา โดยการใช้มาตรการทำบัญชีการขายยาในครั้งนี้ จะมีการประเมินอีกครั้งว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้หรือไม่ ซึ่งการทบทวนจะพิจารณาในหลายประเด็นด้วยกัน ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมามีการพักใช้ใบอนุญาตร้านขายยาที่ลักลอบขายยาอันตรายโดยไม่เป็นไปตามเกณฑ์แล้ว40ร้าน