'ประชาสังคม'ลดท่าทีแข็งกร้าว หลัง'พลเดช'พบนายกฯ

'ประชาสังคม'ลดท่าทีแข็งกร้าว หลัง'พลเดช'พบนายกฯ

เครือข่าย "ประชาสังคม" ลดท่าทีแข็งกร้าว หลัง "นพ.พลเดช" พบนายกฯแล้ว -เปิดข้อ อดีต7บอร์ด สสส. เป็นกรรมการมูลนิธิต่างๆ

เครือข่ายภาคประชาสังคม ขอร่วมหารือและประเมินสถานการณ์กันก่อนที่จะดำเนินการอย่างไร ภายหลังได้ข้อมูลเกี่ยวกับ การพบปะหารือกันระหว่าง นพ.พลเดช ปิ่นประทีป กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา

นายคำรณ ชูเดชา เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอฮอล์ กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายยังไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไร เพียงแต่มีความสงสัยในการปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน เพราะในเรื่องความทับซ้อนเป็นข้อเสนอที่ภาคีภาคประชาสังคมและบอร์ด สสส. มีความเห็นชอบแล้วว่า จะต้องมีการปรับปรุงแก้ไข แต่เมื่อผ่านขั้นตอนตรงนี้ไปแล้วเราก็จะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด

นายคำรณ ยอมรับว่า ได้รับรู้ถึงผลการหารือร่วมกันระหว่าง นพ.พลเดช กับนายกรัฐมนตรีแล้ว และเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น แต่ที่สำคัญ อยากให้คตร.เร่งพิจารณาเรื่องงบประมาณ เพื่อให้การเบิกจ่ายได้เร็วขึ้น สถานการณ์ก็จะคลี่คลายได้มากขึ้นไปด้วย

นอกจากนี้ นายคำรณ ยังเรียกร้องให้มีการช่วยหาทางออกในเรื่องภาษีที่กรมสรรพากรได้แจ้งให้องค์กรเอกชนที่ไปขอสนับสนุนเงินจาก สสส. โดยสรรพากรแจ้งให้ไปชำระย้อนหลังเป็นเวลาถึง 5 ปี

อย่างไรก็ตาม ในวันจันทร์ที่ 11 ม.ค.นี้ กลุ่มเครือข่ายจะมาประชุมกันที่สำนักงานนักเรียนคริสเตียน ประมาณ 10.00 น. โดยที่มีหนังสือตอบรับว่าจะมามีกว่า 20 ภาคี อาทิ แพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เหล้า ยาสูบ ที่เกี่ยวข้องด้านสุขภาพเป็นหลัก โดยจะประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

นายคำรณ บอกว่า กลุ่มเครือข่ายจะติดตามและมอนิเตอร์การปลดบอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน และติดตามกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่บอร์ด สสส.ทั้ง 7 คน โดยภาคประชาสังคมก็มีส่วนในการเลือกกรรมการสรรหา ว่าจะมีใครเข้ามาอยู่ในบอร์ด จะมีนอมินีกลุ่มนายทุนหรือกลุ่มธุรกิจที่เป็นปฏิปักษ์กับหลักการและเหตุผลของ สสส.หรือไม่

ทั้งนี้ กรรมการสรรหานั้นจะมาจาก ผู้แทนสำนักใน สสส. ผู้แทนภาคีประชาสังคม ผู้แทนจาก กรรมการ สสส. โดยจะคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ตามที่กฎหมายของ สสส.กำหนดไว้ เมื่อคัดเลือกได้แล้วจะนำรายชื่อทั้งหมดเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า จะดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 ในการแต่งตั้งบุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่

ขณะที่ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “ชั่วโมงที่ 26” ถึงคำสั่งของ คสช. ปลดบอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ทั้ง 7 คนว่า ถ้ามองในสายตาเครือข่ายและประชาชนเหล่านี้ถือว่าเป็นกระทำของรัฐที่ใช้อำนาจเกินเลย เพราะว่าเครือข่ายตรงนี้เรียนรู้ว่า สสส.เป็นองค์กรที่มีนวัตกรรม และเป็นนวัตกรรมการทำงานในภาครัฐร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ก้าวหน้าที่สุดที่เคยมีมาในประเทศไทย และขณะนี้ยังไม่มีเครือข่าย หรือองค์กรไหนทำได้ดีเท่านี้

สำหรับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ที่จะมาแทน 7 ตำแหน่งนั้น จะมาแทนตำแหน่ง รองประธานบอร์ด สสส. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการพัฒนาชุมชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการพัฒนาชุมชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการด้านการสื่อสารมวลชน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการกีฬา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านศิลปะวัฒนธรรม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการบริหาร

ก่อนที่ คสช. สั่งปลด 7 บอร์ด สสส.นั้น นพ.วิชัย โชควิวัฒน ซึ่งเป็นรองประธานบอร์ด สสส. คนที่สอง ยังเป็นกรรมการในมูลนิธิมิตรภาพบำบัด มูลนิธิแพทย์ชนบท มูลนิธิเด็ก มูลนิธิโกมลคีมทอง มูลนิธิ 14 ตุลา มูลนิธิสร้างสุขไทยอีกด้วย

เช่นเดียวกัน นายสงกรานต์ ภาคโชคดี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ที่เป็นกรรมการมูลนิธิวิถีสุข อีกตำแหน่ง

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการพัฒนาชุมชน ก็เป็นกรรมการมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการด้านการสื่อสารมวลชน มีตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย

นายสมพร ใช้บางยาง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการกีฬา มีตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

รศ.ประภาภัทร นิยม กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านศิลปะวัฒนธรรม เป็นกรรมการสถาบันอาศรมศิลป์ อีกตำแหน่ง

และ นายวิเชียร พงศธร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนด้านการบริหาร ก็เป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย และมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม อีกหนึ่งตำแหน่ง

ภาพจาก-thaihealth.or.th