สั่งคุก-ไม่รอลงโทษ '2นปช.' คดีบุกไล่ล่ารัฐบาลอภิสิทธิ์

สั่งคุก-ไม่รอลงโทษ '2นปช.' คดีบุกไล่ล่ารัฐบาลอภิสิทธิ์

ศาลอาญา สั่งจำคุก2ปี4เดือน ไม่รอลงอาญา "2นปช." มั่วสุม10คนขึ้นไป บุกสถานที่ราชการไล่ล่ารัฐบาลอภิสิทธิ์

ที่ห้องพิจารณา 905 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก - ศาลอาญา พิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือนไม่รอลงอาญา “ 2 แนวร่วม นปช.” บุกรุกกระทรวงมหาดไทย ปี 52 - มั่วสุม 10 คนขึ้นไป ชุมนุมขวาง “ อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ”ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รอลุ้นยื่นประกันสู้คดีชั้นอุทธรณ์

28 ก.ย. 59 เวลา 09.00น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.598/2557 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายชัยวัฒน์ ทองมูล อายุ 57 ปี และนายอรุณ ฉายาจันทร์ อายุ 49 ปี ทั้งสองร่วมการชุมนุม ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยที่ 1- 2 ในความผิดฐานร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป โดยกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ,ร่วมกันบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย , ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย และหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 , 310 , 358 , 362 , 364 , 365

ตามฟ้องอัยการโจทก์ บรรยายพฤติการณ์สรุปว่า ก่อนวันที่ 12 เม.ย.52 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง จัดชุมนุม บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล มีผู้เข้าร่วมชุมนุมหลายพันคน โดยมีจำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเข้าร่วมชุมนุม และมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน กับพวกอีกหลายคน แบ่งหน้าที่สั่งการผู้ชุมนุม ตั้งเวทีปราศรัยเพื่อขับไล่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น โดยอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ต่อมาวันที่ 12 เม.ย.52 แกนนำผู้ชุมนุม สั่งการ กล่าวปราศรัย ยุยงปลุกปั่น ผ่านเครื่องขยายเสียงให้จำเลยทั้งสองกับพวกผู้ชุมนุมหลายพันคน เคลื่อนขบวนไปทำการปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย เพื่อจับตัวนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี และขัดขวางไม่ให้นายอภิสิทธิ์ เข้าไปในกระทรวงมหาดไทยเพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยจำเลยทั้งสองใช้กำลังประทุษร้ายร่างกาย เจ้าหน้าที่ซึ่งรักษาความปลอดภัยให้นายอภิสิทธิ์ รวมทั้งผู้ติดตามได้รับบาดเจ็บหลายราย และใช้ก้อนหินขว้างทำลายรถยนต์ประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มีนายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีนั่งอยู่ในรถ ซึ่งจำเลยได้ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวาย และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นสถานที่ราชการ เหตุเกิดที่ แขวงราชบพิธ เขตพระนคร และ แขวง – เขตดุสิต กทม. จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า เจ้าพนักงานของรัฐ 3 ปากพยานโจทก์ ต่างเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุม พากันไปปิดล้อมและเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย ทำลายทรัพย์สินของราชการ แต่ไม่ได้ยืนยันตัวบุคคล โดยพยานนั้นไม่เคยรู้จัก หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน รับฟังได้ว่าพยานโจทก์ เบิกความตามเหตุการณ์ที่พบเห็นมา ซึ่งการที่กลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมและเข้าไปภายในกระทรวงมหาดไทย แล้วทำลายทรัพย์สินทางราชการจึงไม่ถือว่าเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่เป็นการมั่วสุมตั้งแต่ 10 ขึ้นไปเพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เมื่อจำเลยทั้งสอง รับว่าได้เข้าร่วมชุมนุมและได้เข้าไปในกระทรวงมหาดไทยด้วย จำเลยทั้งสองจึงถือเป็นตัวการร่วมในการกระทำผิด และร่วมกันบุกรุกเข้าไปในที่ราชการโดยไม่มีเหตุอันควร

ส่วนที่จำเลยทั้งสอง นำสืบต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองเดินทางไปถึงกระทรวงมหาดไทยภายหลังจากที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดประตูรั้วเข้าไปในกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมได้ทำลายทรัพย์สินทางราชการ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีเจตนาบุกรุกนั้น ศาลเห็นว่า แม้วันเกิดเหตุ ได้มีการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการโดยกระทรวงมหาดไทยได้ปิดทำการ แต่การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในกระทรวงมหาดไทยก็ไม่ใช่เพื่อติดต่อราชการดังนั้นจำเลยทั้งสองจึงไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งไม่ได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจ ดังนั้นพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสอง ที่ได้ตามผู้ชุมนุมที่พังประตูรั้วเข้าไปเพื่อจะรวมกลุ่มกับผู้ชุมนุมในกระทรวงมหาดไทยนั้นจึงเป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร

ส่วนความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นฯ ศาลเห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานใดมาเบิกความยืนยันว่าเห็นจำเลยทั้งสองร่วมกันทุบตีรถยนต์ของนายกรัฐมนตรีและของคณะ หรือร่วมกันทำลายทรัพย์สินของทางราชการ อีกทั้งพยานโจก์ปาก ร.อ.วิชาญ นามประเทือง เจ้าหน้าที่ชุดสนับสนุนทางยุทธวิธีทำหน้าที่อารักขา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีขณะนั้น เบิกความว่า วันเกิดเหตุนายอรุณ จำเลยที่ 2 เดินทางมาที่รถยนต์และเข้ามานั่งในรถยนต์ โดยเพียงสอบถามเรื่องอาวุธปืนที่อยู่ในรถเท่านั้นว่าพยานเป็นคนยิงหรือไม่ และจะขอนำอาวุธปืนไปตรวจสอบ โดยบอกกับพยานว่าให้ตามไปและให้พยานอยู่ใกล้ๆ ซึ่งพยานยินยอมไปด้วยความสมัครใจและเมื่อตามไปถึงบริเวณทำเนียบรัฐบาลก็ได้ไปพูดคุยกับจำเลยที่ 2 ในห้องที่มีลักษณะเป็นตู้คอนเทรนเนอร์ ซึ่งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 กระทำการใดที่เป็นการบังคับขืนใจแต่อย่างใด

จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยเพียงว่า จำเลยทั้งสอง ร่วมกันกระทำผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 ขึ้นไป ฯ และร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ แต่ยังไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันให้เสียทรัพย์ และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นฯ

จึงพิพากษาว่า ให้จำคุก จำเลยทั้งสอง คนละ 6 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปกระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคแรก และฐานร่วมกันบุกรุกสถานที่ราชการ ตาม ม.364 , 365 ให้จำคุกอีกคนละ 3 ปีรวมจำคุกทั้งสองคนละ 3 ปี 6 เดือน

โดยทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกทั้งสองคนละ 2 ปี 4 เดือน ส่วนข้อหาร่วมกันให้เสียทรัพย์ และร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นฯ ให้ยกฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาแล้ว นายชัยวัฒน์ และนายอรุณ แนวร่วม นปช. ทั้งสอง ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่