ผู้ว่าฯภูเก็ต เผยการตรวจสอบปลากัดนักท่องเที่ยวพบเป็น “ปลาสาก” หรือ “ปลาบาราคูด้า” ซึ่งมีฟันแหลมคม หากินบริเวณผิวน้ำ ยืนยันไม่ใช่ปลาฉลามตามที่มีข่าว
ความคืบหน้ากรณีเมื่อเวลา 10.15 น. วันที่ 16 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพกมลา ต.กมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า มีนักท่องเที่ยวถูกปลาไม่ทราบชนิดกัด มีบาดแผลฉกรรจ์บริเวณส้นและด้านข้างเท้าซ้าย เหตุเกิดบริเวณหาดกมลา หน้า สภ.กมลา ขอให้ไปช่วยเหลือทำแผล และจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว ภูเก็ต
นำโดย ร.ต.อ.เจษฎา วิเชียร รอง สว.ส.ทท.ภูเก็ต ทราบว่านักท่องเที่ยวคนดังกล่าวชื่อ นาย Keira Kosigoe อายุ 36 ปี สัญชาติญี่ปุ่น พักอยู่ที่โรงแรมชูการ์ปาล์ม แกรนด์ กะรน ภูเก็ต อ.เมืองภูเก็ต สอบถาม น.ส.นัฏฐิกา บุญมี อายุ 23 ปี ชาวจังหวัดสงขลา แฟนสาวของผู้บาดเจ็บ ทราบว่า ผู้บาดเจ็บได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา และมีกำหนดเดินทางกลับวันที่ 31 สิงหาคมนี้
โดยก่อนเกิดเหตุ นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวได้ไปเล่นวินเซิร์ฟ (กระดานโต้คลื่น) ที่บริเวณชายหาดกมลาห่างจากฝั่งไปประมาณ 15 เมตร ระหว่างเล่นได้หย่อนขาซ้ายลงในน้ำ ปรากฏว่ามีปลาไม่ทราบชนิดและขนาดกัดเข้าที่บริเวณส้นเท้า ทำให้ตกใจกระชากเท้าขึ้นจากน้ำ และรีบกลับขึ้นฝั่ง ขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการบริเวณหน้าชายหาด และเจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประจำชายหาด ประสานหน่วยกู้ชีพกมลาเพื่อทำแผลเบื้องต้น จากนั้นได้เดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเอง เพื่อทำการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ซึ่งได้ทำการเย็บบาดแผล จำนวน 50 เข็ม และอนุญาตให้กลับที่พัก โดยนัดดูอาการอีกครั้งในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
วันนี้ (17 ส.ค.2560) นายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ผู้สื่อข่าว”ว่า ได้รับทราบรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว และทราบว่าขณะนี้นักท่องเที่ยวได้เดินทางกลับไปพักรักษาตัวอยู่ที่โรงแรมที่พักในพื้นที่ ต.กะรน อ.เมืองภูเก็ต และจากที่ได้สอบถามนักวิชาการด้านประมง ซึ่งมีการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า รอยบาดแผลที่ส้นเท้าของนักท่องเที่ยวนั้น เป็นรอยกัดของปลาบาราคูด้า (ปลาน้ำดอกไม้) หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ปลาสาก” ไม่ใช่ปลาฉลามหูดำตามที่มีการนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
"จากที่ข่าวออกมาหลายกระแสว่า นักท่องเที่ยวถูกปลาชนิดที่ดุร้ายกัด นั้นขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะจากการตรวจสอบข้อมูลจากทั้งนักวิชาการของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลฝั่งอันดามัน ระบุว่า ปลาที่กัดนักท่องเที่ยวนั้นเป็นปลาที่ชื่อว่าปลาบาราคูด้า หรือปลาน้ำดอกไม้ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าปลาสาก ซึ่งจะมีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว มีฟันที่แหลมคม และมักจะมาหากินปลาตัวเล็กๆ บริเวณผิวน้ำ ส่วนใหญ่ปลาชนิดนี้จะใช้สำหรับทำเป็นลูกชิ้นปลา นอกจากนี้ได้สอบถามไปยังกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ต่างยืนยันตรงกันว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยพบปลาชนิดที่ดุร้าย เช่น ปลาฉลาม เป็นต้น บริเวณชายฝั่งหาดกมลา แต่ส่วนของปลาสากจะพบอยู่ทั่วไป ซึ่งเหตุที่ปลาดังกล่าวกัดเท้านักท่องเที่ยว อาจเนื่องจากช่วงที่เล่นวินเซิร์ฟ และเกิดฟองคลื่นทำให้เข้าใจผิดว่า เป็นปลาตัวเล็กๆ จึงงับเข้าที่เท้าจนเกิดเป็นแผล”
นายนรภัทร กล่าวและว่า จากข่าวลือที่เกิดขึ้นนั้น เพื่อเป็นการป้องกันความเข้าใจผิด ทางจังหวัดได้ประสานยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสื่อมวลชนช่วยประชาสัมพันธ์ยืนยันว่า บริเวณชายฝั่งหาดกมลาไม่มีปลาฉลามที่ดุร้าย และสามารถลงเล่นน้ำได้ตามปกติ ขณะเดียวกันได้เน้นย้ำให้หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ไลฟ์การ์ดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและลาดตระเวนบริเวณชายหาด รวมทั้งจัดเรือลาดตะเวนตามแนวชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ได้ประสานไปยังผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้แจ้งนักท่องเที่ยวที่ลงเล่นน้ำอย่าออกไปนอกเขตแนวชายมากนัก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายขึ้น โดยเฉพาะระยะนี้เป็นช่วงฤดูมรสุม ซึ่งคลื่นลมแรง
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบบรรยากาศบริเวณหน้าชายหาดกมลาเช้าวันนี้พบว่า มีคลื่นลมค่อนข้างแรง และมีการปักธงแดงเตือนระมัดระวังการลงเล่นน้ำ แต่ยังมีนักท่องเที่ยวที่ลงไปทำกิจกรรมหน้าชายหาดตามปกติ