เคาะ 'องค์คณะ 9 คน' ตัดสินอุทธรณ์สลายม็อบพันธมิตร
ศาลฎีกาเลือกแล้ว "องค์คณะจำนำข้าว 2 คน" ร่วมคณะอุทธรณ์คดีนักการเมืองชุดแรก ตาม รธน.ใหม่ หลัง "ป.ป.ช." อุทธรณ์คดีอดีต ผบช.น. "สุชาติ เหมือนแก้ว"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นอุทธรณ์คดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ปี 2551 ตามสิทธิที่บัญญัติไว้ใหม่ในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 195 วรรคสี่ที่ระบุว่า คําพิพากษาของศาลฎีกาฯ ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาฯ มีคําพิพากษา โดย ป.ป.ช.ยื่นอุทธรณ์ในส่วนของ พล.ต.ต.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 4 เพียงคนเดียว ต่อที่ประชุมศาลฎีกา เมื่อวันที่ 31 ส.ค.60 ภายหลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาวันที่ 2 ส.ค.60 ยกฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 , พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หรือบิ๊กจิ๋ว อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. จำเลยที่ 1-4 ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 กรณีขอคืนพื้นที่การชุมนุมจากกลุ่ม พธม.ที่ปิดล้อมทางเข้ารัฐสภา ปี 2551 จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยล่าสุดที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ซึ่งนายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา เรียกประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ขณะนี้มีจำนวน 176 คน เพื่อลงคะแนนเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา 9 คนมาเป็นองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์คดีตามรัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 มาตรา 195 วรรคสี่ "ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติเลือกผู้พิพากษาจํานวน 9 คนเป็นองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา หรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดํารงตําแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งผู้พิพากษานั้นต้องไม่เคยพิจารณาคดีดังกล่าวมาก่อนและเมื่อองค์คณะของศาลฎีกาดังกล่าวได้วินิจฉัยแล้วให้ถือว่าคําวินิจฉัยนั้นเป็นคําวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา"
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ลงมติ เลือก "นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 3 , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกาคนที่ 5 , นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกาคนที่ 6 , นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ,นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา ,นายสู่บุญ วุฒิวงศ์ ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา ,นายสุรพันธุ์ ละอองมณี ประธานแผนกคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา และนายทวี ประจวบลาภ ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา" เป็นองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์คดีสลายชุมนุม พธม.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้นำรายชื่อผู้พิพากษาทั้ง 9 คนที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะฯ ติดประกาศไว้ที่ศาลฎีกาภายใน 5 วัน นับแต่วันที่ประชุมใหญ่มีมติวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความในคดีได้รับทราบ ซึ่งเปิดโอกาสให้คู่ความสามารถคัดค้านรายชื่อผู้พิพากษาองค์คณะที่ได้รับเลือกได้หากว่ามีปัญหาต่อการพิจารณาคดี โดยการยื่นคัดค้านนั้นคู่ความสามารถยื่นได้ตั้งแต่วันที่มีการติดประกาศ
สำหรับองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์คดีสลายชุมนุม พธม.นี้ใหม่ มีผู้พิพากษา 2 คนที่เป็นองค์คณะฯ พิจารณาพิพากษาคดีโครงการจำนำข้าวที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 28 น้องสาวของนายทักษิณด้วย ได้แก่ "นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา คนที่ 1 , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา คนที่ 3 "
ส่วน "นายสุนทร ทรงฤกษ์" ประธานแผนกคดีภาษีอากรฯ ปัจจุบันก็เป็นเจ้าของสำนวนคดีออกหนังสือเดินทางให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 23 ในคดีหมายเลขดำ อม.51/2560 ที่ อัยการสูงสุด (ยุค ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อายุ 64 ปี อดีต รมว.ต่างประเทศ ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยด้วย
และ "นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์" ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกานั้น เคยเป็นเจ้าของสำนวนคดีหมายเลขดำ อม.177/2560 ที่ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกล่าวหา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จฯ ด้วย