คสช.เกาะติดเคลื่อนไหว 'กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง' หวั่นบานปลายก่อนเลือกตั้ง
"พล.ต.ปิยพงศ์" เผย "คสช." เกาะติดเคลื่อนไหว "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" หวั่นบานปลายก่อนวันเลือกตั้ง ด้านนายกฯสั่งดำเนินการอย่างระมัดระวัง
พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงแนวทางดำเนินการ ต่อแกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในนามคนอยากเลือกตั้ง ประกอบด้วย นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นายรังสิมันต์ โรม นายอานนท์ นำภา นายสุกฤษฎิ์ เพียรสุวรรณ และน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว ยืนยันจะเคลื่อนไหวเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้ต่อไป แม้จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย ภายหลังได้นำมวลชนจำนวนประมาณ 300 คน มาชุมนุมบริเวณขอบถนนราชดำเนินใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวานนี้ (10 ก.พ.2561)ว่า คสช.ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมต่อไป ควบคู่การทำความเข้าใจกับประชาชน ตลอดจนถึงการดูแลรักความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
พล.ต.ปิยพงศ์ บอกว่า ในห้วงนี้เป็นระยะสำคัญที่เราจะต้องเดินไปสู่การเลือกตั้งในอนาคตอันใกล้ และนำพาการบริหารราชการแผ่นดินใหม่ไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นการดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยถือว่ายังเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดูแล เป็นเพื่อประคับประคองและสนับสนุนให้การบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลดำเนินการต่อไปได้
พล.ต.ปิยพงศ์ ย้ำว่า เหตุการณ์ชุมนุมที่เกิดขึ้นเมื่อคืนนี้ (10 ก.พ.)เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เจ้าหน้าที่ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารมีการประสานงานอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยและเตรียมพื้นที่รองรับอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ และมีการปฏิบัติหน้างานต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามขั้นตอนและอยู่ในกรอบของกฎหมาย ไปจนเสร็จสิ้นการชุมนุมและมีการร้องทุกข์กล่าวโทษตามกรอบกฎหมายที่ผู้ชุมนุมได้ดำเนินการ
"ภาพที่ปรากฎเจ้าหน้าที่ระมัดระวังการกระทบ กระทั่ง ยื้อยุดฉุดกระชาก การทะเลาะ เบาะแว้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม หรือผู้ชุมนุมกับประชาชนที่สัญจรไปมา ภาพโดยรวมถือว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถเตรียมการบริหารจัดการสถานการณ์หน้างานเป็นไปด้วยความเรียบร้อยตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม ส่วนเงื่อนไขของผู้ชุมนุมที่เรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งในปีนี้นั้น ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าในเวลานี้บ้านเมืองดำเนินไปด้วยหลักเหตุและผลของกฎหมาย แต่เมื่อมีผู้ออกมาเคลื่อนไหวเราก็จะต้องทำความเข้าใจและสร้างความรับรู้ในสิ่งที่ถูกต้องให้กับประชาชน" พล.ต.ปิยพงศ์ กล่าวและว่า
เชื่อว่าทุกคนที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะทำความเข้าใจกับประชาชนถึงการเลื่อนการเลือกตั้ง จากปี 2561 ไป ปี 2562 กับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มนักการเมือง และผู้ชุมนุมที่ออกมาเคลื่อนไหวและที่สำคัญประชาชนทั้งประเทศจะต้องรับรู้ร่วมกันว่า บ้านเมืองในขณะนี้กำลังทำอะไรอยู่ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะประคับประคองสถานการณ์ให้เป็นไปตามโรดแมป โดยไม่ให้มีอะไรมากระทบกระเทือนทั้งสิ้น เมื่อมีประชาชนกลุ่มหนึ่ง รู้สึกว่าการเลือกตั้งช้าเกินไป ไม่ทันใจ เราก็ต้องพยายามทำความเข้าใจชี้แจง
เมื่อถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมจุดกระแสติดหรือไม่ พล.ต.ปิยพงศ์ ระบุว่า การรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เจ้าหน้าที่จะต้องระมัดระวังในการปฏิบัติต่อสถานการณ์ อะไรก็ตามที่จะเป็นเงื่อนไขและนำไปสู่ความไม่เรียบร้อย จะต้องมีการศึกษาข้อมูลและหาวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและใช้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมายไม่ไปละเมิดหรือไปรังแกใคร ดูแลสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้จบลงไปด้วยความเรียบร้อย
พล.ต.ปิยพงศ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ คสช.ยังไม่มีแนวคิดจะเรียก นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย หลังโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว จะออกมาร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ในนามคนอยากเลือกตั้ง ในครั้งต่อไป มาพูดคุยทำความเข้าใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการบังคับใช้กฎหมายปกติมากกว่ากฎหมายพิเศษ พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อรักษาบรรยากาศความปรองดองและการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งช่วงเวลาที่กำลังเดินไปในทุกวินาทีนี่ เพื่อไปสู่หลักของการเลือกตั้งตามโรดแมป ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช.เน้นย้ำมาตลอดให้หน่วยงานความมั่นคงได้ติดตามและพยายามทำให้สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นคลี่คลาบไปในทางที่ดี
มีรายงานข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำชับ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ติดตามความเคลื่อนไหวการชุมนุมทางการเมืองของทุกกลุ่มในห้วงเวลานี้อย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำการแจ้งความเอาผิดกลุ่มเคลื่อนไหวดังกล่าวให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเป็นกลุ่มนักศึกษา และเกรงว่าจะเป็นเงื่อนไขทำให้สถานการณ์บานปลายออกไปก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง
โดยแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ที่ คสช.กำลังจับตาอยู่ ประกอบด้วย นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นายรังสิมันต์ โรม กลุ่มแกนนำพรรคการเมือง นักศึกษา นักวิชาการ ธรรมศาสตร์ เคลื่อนไหวกิจกรรมการเมือง จัดกิจกรรมเดินเพื่อมิตรภาพจากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดขอนแก่น หวังสร้างกระแสให้เหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 16 ตุลา และกลุ่มหัวรุนแรง โดยเฉพาะอาวุธสงครามที่ทะลักเข้าไทย เมื่อปี 2553 และสามารถตรวจยึดได้เพียง 50% เปอร์เซ็นต์เท่านั้น