ยธ.สับสื่อต่างชาติ ละเมิดกติกาสัมภาษณ์ 'ทีมหมูป่า'
รองปลัดยธ. ตำหนิสื่อต่างชาติละเมิดกติกาสัมภาษณ์เยาวชนทีมหมูป่า. จวกมาตรฐานต่ำ-ขาดสามัญสำนึก หวั่นพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง
เมื่อวันที่ 20 ก.ค.61 นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีสื่อมวลชนต่างประเทศเดินทางไปสัมภาษณ์เยาวชนทีมฟุตบอลหมูป่าว่า เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำอย่างยิ่ง นอกจากนี้บางคำถามอาจกระตุ้นให้เด็กเกิดความกลัวซ้ำๆ โดยเฉพาะคำถามที่เกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อนำเด็กออกมาจากถ้ำ ซึ่งคำถามลักษณะนี้จะทำให้เด็กย้อนกลับไปคิดถึงสถานการณ์ที่กดดัน และอาจเป็นเหตุให้เกิดโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ในอนาคต และไม่ควรย้ำถึงคำถามเกี่ยวกับการใช้ยาของแพทย์ในกรณีนี้ เนื่องจากได้รับการยกเว้นทางกฎหมายเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่กำหนดให้การฉีดยาหรือเจาะของเหลวในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครอง แต่ในกรณีนี้ถือเป็นข้อยกเว้นเพราะเป็นการช่วยชีวิต จึงขอตำหนิการทำงานของสื่อต่างชาติที่ละเมิดข้อตกลงและการขอความร่วมมือของทางการไทยในการให้พื้นที่ส่วนตัวกับเยาวชนทีมหมูป่าและครอบครัว และขอชื่นชมการทำงานของสื่อมวลไทยที่เคารพกฎ กติกา และให้ความสำคัญกับกฎหมายคุ้มครองเด็กและจริยธรรมสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด จึงขอกราบสื่อไทยด้วยหัวใจ
"แม้สื่อต่างชาติจะอ้างว่าการเข้าสัมภาษณ์เยาวชนทีมหมูป่าและครอบครัวครัวนั้น ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ถูกต้องเพราะได้มีการแจ้งกฎกติกาการทำข่าวอย่างชัดเจนให้กับสื่อไทยและต่างชาติแล้ว ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กๆอาจยังตั้งตัวไม่ทัน แต่ต่อไปควรต้องแจ้งนายอำเภอเพื่อแจ้งตามลำดับชั้นตามที่เคยได้ตกลงกันไว้เมื่อมีสื่อมาขอสัมภาษณ์ที่บ้าน"รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุ
นายธวัชชัย กล่าวอีกว่า สำหรับในกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน หากเด็กจำเป็นต้องมีการขึ้นศาล หรือสืบพยานเด็ก ต้องมีนักจิตวิทยาเป็นผู้คัดกรองหรือแปลคำถามในระหว่างชั้นสอบถามปากคำในกระบวนการก่อนพิจารณาพิพากษาของศาลและให้มีการบันทึกแถบเสียงและภาพไว้ด้วยนั้น มุ่งเพื่อที่จะไม่ให้ มีการสอบปากคำซ้ำในกระบวนการยุติธรรมชั้นถัดไป โดยมีจุดมุ่งสำคัญเพื่อมิให้เปิดบาดแผลที่อยู่ในตะกอนใจของเด็กและเยาวชน เนื่องจากอยู่ในวัยที่เปราะบางและต้องได้รับการปกป้องรักษา รวมถึงในระหว่างสอบปากคำเด็กและเยาวชนยังได้บัญญัติให้เด็กสามารถร้องขอมีบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กไว้ใจร่วมนั่งเป็นเพื่อนได้อยู่ด้วย เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและมีความปลอดภัย
"การสอบถามหรือสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนหรือบุคคลอื่นใดกับเด็กที่ประสบภัยพิบัติที่ผ่านประสบการณ์ที่ตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากตื่นกลัวสุดขีดนั้น แม้ไม่มีกระบวนการหรือกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม แต่ควรเทียบเคียงเอาวิธีกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนไปใช้ได้เท่าที่จำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาไทยก็สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีและน่าชมเชย แต่น่าเสียดายที่สื่อต่างชาติที่เราคิดและเข้าใจว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และกระบวนการปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นอย่างดีแล้ว กลับมีมาตรฐานต่ำกว่าที่คิด เสมือนขาดสามัญสำนึกซึ่งมนุษย์ธรรมดาธรรมดาพึงระลึกได้ ทั้งที่รู้ว่าประเทศไทยได้วางระบบการปกป้องดูแลและคุ้มครองเด็กผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ไว้อย่างไร" นายธวัชชัย กล่าว