พรบ.คู่ชีวิตต้องเสร็จก.ย.นี้ ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียม
รมว.ยธ.พร้อมผลักดันร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต ให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียม กำชับให้ทำความเข้าใจกับสังคมเพราะเป็นเรื่องใหม่ที่ละเอียดอ่อน คาดยังมีเสียงสนับสนุนเงียบๆสนับสนุนอีกมาก
น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการยกร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต พ.ศ...ว่า ในวันที่ 25 กค.นี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างพิจารณายกร่างกฎหมายเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะเสนอร่างฉบับสมบูรณ์เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิฯ โดยจะต้องแก้ไขให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อเสนอให้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พิจารณาเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป โดยในประชุมครั้งนี้มีการพิจารณาตามกรอบของร่างเดิม 63 มาตรา และอาจมีการเพิ่มเติมในประเด็นสำคัญที่ได้จากการรับฟังข้อคิดเห็นจากประเทศที่มีกฎหมายคู่ชีวิตบังคับใช้ เช่น แม็กซิโก แอฟริกาใต้ แคนาดา ออสเตรเลีย และอังกฤษ เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาตัวกฎหมายพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิตและพ.ร.บ.ทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในหลายประเทศกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต้องใช้ระยะเวลานานถึง 10 ปี
อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารมว.ยธ.ได้ให้ความสำคัญในการผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนกว่า 65 ล้านคน และมีจำนวนมากที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งต้องได้รับสิทธิเสรีภาพของบุคคลเช่นเดียวคนเพศอื่นๆ จึงได้ให้นโยบายเพิ่มเติมใน 4 ประเด็นสำคัญ คือ1. ระหว่างการยกร่างกฎหมานฉบับนี้ต้องเร่งสร้างความเข้าให้กับสังคมเพราะเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก 2.ศึกษาแนวทางในการรับรองสถานของคู่สมรสหรือคู่ชีวิตของกลุ่มหลากหลายทางเพศที่จดทะเบียนในต่างประเทศและเข้ามาอาศัยในประเทศไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองหรือรับสิทธิในรูปแบบใด 3. หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ควรเริ่มต้นจากการจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตซึ่งต้องกำหนดชัดเจนว่าหน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบรับจดทะเบียน. อาจเป็นกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงยุติธรรม. และ 4.จากนั้นจึงพัฒนากฎหมายเป็นการจดทะเบียนสมรส
“นับตั้งแต่กระทรวงยุติธรรมเดินหน้าผลักดันร่างพ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต. ได้มีกระแสตอบรับจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจำนวนมาก มีการให้ข้อมูลและมีการรวบรวมรายชื่อกว่า 60,000 คน สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ และเชื่อว่าจะยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งสนับสนุนอยู่เงียบๆ เพราะยังมีกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ไม่แสดงตัวอีกจำนวนมาก” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว