'วิษณุ' เผยป.ป.ช.เล็งปรับ 'สังฆราช' ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

'วิษณุ' เผยป.ป.ช.เล็งปรับ 'สังฆราช' ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

"วิษณุ" เผยป.ป.ช.รับไปพิจารณา "คนรักษาการสภามหาฯลัย" ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ ระบุเข้าใจยุ่งยาก น่ารำคาญ ไม่ใช่มีลับลมคมใน เผยเล็งปรับแก้ "สังฆราช" ไม่ต้องยื่น

เมื่อวันที่ 10 พ.ย.61 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการหารือกับตัวแทนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อหาทางออกเกี่ยวกับประกาศ ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด เรื่องการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า ยังไม่ได้คำตอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่มีเพียงกรณีนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยจะยื่นใบลาออกเท่านั้น แต่ยังมีข้อข้องใจในตำแหน่งอื่นๆ อีก เช่น กรณีที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว แต่ยังรักษาการอยู่ และตำแหน่งนี้ไม่เคยยื่นบัญชีทรัพย์สินมาก่อน เมื่อมีประกาศ ป.ป.ช.จะต้องยื่นหรือไม่ โดย ป.ป.ช.รับไปพิจารณาให้ ส่วนตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้ทำหน้าที่รักษาการ อย่างกรณี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ตัวแทนจาก ป.ป.ช.ตอบชัดเจนว่าไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ขณะที่กรณีสมเด็จพระสังฆราช ไม่ใช่เพราะเป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ทรงเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตัวแทนจาก ป.ป.ช.เห็นว่า มีเหตุผลหลายประการที่ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงขอนำไปพิจารณาแก้ไขต่อไป

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้ เรื่องการแก้ไขประกาศดังกล่าวเป็นอำนาจของ ประธาน ป.ป.ช.อยู่แล้ว ซึ่งจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรมีหลายวิธี แต่ที่สุดแล้วต้องรอดูว่า ป.ป.ช.จะยอมหรือไม่ เนื่องจากที่ต้องออกประกาศมา เพราะเห็นว่า ผู้ที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินจะต้องมีคุณลักษณะคือ 1.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2.ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง 3.เจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่ ป.ป.ช.กำหนด ดังนั้น การยื่นบัญชีทรัพย์สินครั้งนี้จึงได้เหมารวมองค์การมหาชน กรรมการสภามหาวิทยาลัย และบอร์ดต่างๆ ส่วนกรณีที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยจะลาออกนั้น ป.ป.ช.ได้รับทราบแล้ว ส่วนจะแก้ไขปัญหาอย่างไรเป็นเรื่อง ป.ป.ช.

“คนที่จะลาออกส่วนหนึ่ง เพราะจะครบวาระอยู่แล้ว อย่างเช่นนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่จะครบวาระในเดือน มกราคม 62 อยู่แล้ว และกลับมาเป็นไม่ได้แล้ว ท่านเห็นว่าประกาศนี้จะมีผลในวันที่ 2 ธันวาคม จึงบอกว่าจะอยู่ไปทำไมให้ครบวาระแล้วก็จะต้องยื่น จึงออกไปเสียแต่ตอนนี้ เพื่อไม่ต้องไปยุ่งกับประกาศที่จะผลในวันที่ 2 ธันวาคมคนคิดอย่างนี้มีเยอะ” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า กรณีของนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นไม่คิดว่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับลับลมคมใน หรือไม่ต้องการเปิดเผย แต่ทุกคนมีปัญหาเดียวคือ ความรำคาญ จุกจิก ยุ่งยาก เหมือนกับที่หลายครั้งตนได้เชิญคนเข้ามาเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือคณะรัฐมนตรีในอดีต เมื่อทราบว่าจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วยหลายคนจึงปฏิเสธไป ไม่ใช่ว่ากลัวความผิดจากการทุจริต แต่จุกจิก รำคาญ และกลัวผิดพลาด ทั้งยังมีคนจับตาดูอยู่ จึงไม่อยากเข้ามายุ่ง ดังนั้น กรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายคนจึงเห็นว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะนอกจากยื่นบัญชีทรัพย์สินตัวเองแล้ว ยังต้องยื่นของคู่สมรสและบุตรด้วย หลายคนจึงคิดว่าลาออกดีกว่า หากจะแลกเบี้ยประชุมแค่ 2,000 บาทต่อครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าตำแหน่งนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นตำแหน่งให้คุณให้โทษหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเห็นใจ ป.ป.ช.ด้วย เพราะตำแหน่งนายกฯ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยนั้นให้คุณให้โทษ สามารถแต่งตั้งอธิการบดี คณบดี อนุมัติงบประมาณ แม้ในความเป็นจริงการอนุมัติงบประมาณของมหาวิทยาลัยจะไม่สูงถึงขั้นที่สภามหาวิทยาลัยจะต้องพิจารณา เพราะจากประสบการณ์ยังไม่เคยเห็นมหาวิทยาลัยใดอนุมัติงบประมาณถึงพันล้านบาท ดังนั้น เรื่องงบประมาณจึงอยู่ในอำนาจของอธิการบดีทั้งหมด กรรมการสภามหาวิทยาลัยถึงได้บ่นว่าไม่เคยเข้าไปยุ่งอะไรกับเรื่องเหล่านี้ แล้วทำไมจึงต้องมายุ่งกับเขา