'นิด้าโพล' เผย 'Gen Y' ชี้อยากเห็นรัฐแก้ปัญหาปากท้อง

'นิด้าโพล' เผย 'Gen Y' ชี้อยากเห็นรัฐแก้ปัญหาปากท้อง

“นิด้าโพล”เปิดผลสำรวจ “Gen Y กับการเลือกตั้ง 2562” ชี้อยากเห็นการแก้ปัญหาปากท้องและหนี้สินประชาชน หวังหลังเลือกตั้งแก้ขัดแย้ง-สร้างสามัคคี นักการเมือง ประสานเสียงก้าวข้ามความขัดแย้ง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "Gen Y กับการเลือกตั้ง 2562" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 3 – 6 ธันวาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุระหว่าง 21 – 38 ปี กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,264 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่เกิดในยุค Generation Y (Gen Y) คือ อยู่ในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2540 กับการเลือกตั้ง 2562 ที่จะถึงนี้ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงนโยบายที่คน Gen Y อยากเห็นจากพรรคการเมือง ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 66.53 ระบุว่า นโยบายแก้ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 32.83 ระบุว่า นโยบายป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 30.62 ระบุว่า นโยบายการควบคุมราคาสินค้า ลดการผูกขาด ร้อยละ 20.09 ระบุว่า นโยบายพัฒนาด้านการศึกษา และยกระดับมาตรฐานการศึกษา ร้อยละ 19.86 ระบุว่า นโยบายแก้ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ ร้อยละ 18.51 ระบุว่า นโยบายการกระจายอำนาจ กระจายงานและรายได้ ไม่ให้กระจุกตามเมืองใหญ่ ร้อยละ 9.18 ระบุว่า นโยบาย ด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค ร้อยละ 7.99 ระบุว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ระหว่างคนจนกับคนรวย ร้อยละ 4.51 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการพัฒนาประเทศ FinTech , Big DATA , Blockchain ร้อยละ 2.85 ระบุว่า นโยบายการลดงบประมาณของทหาร ยกเลิกเกณฑ์ทหาร และร้อยละ 0.16 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายการจัดการด้านคมนาคม

สำหรับเรื่องที่คน Gen Y คิดว่าไม่ถูกต้องหรือรับไม่ได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 45.02 ระบุว่า เป็นเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ รองลงมา ร้อยละ 15.27 ระบุว่า เป็นเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ผู้มีอิทธิพล ร้อยละ 13.05 ระบุว่า เป็นเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองของคน ในประเทศ ร้อยละ 8.15 ระบุว่า เป็นเรื่องระบบการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ ร้อยละ 6.65 ระบุว่า เป็นเรื่องปัญหาสังคม (ความยากจน การกระจายรายได้ อาชญากรรม ยาเสพติด) ร้อยละ 4.27 ระบุว่า เป็นเรื่องการปฏิวัติ/การทำรัฐประหาร และเรื่องการไม่มีการเลือกตั้ง ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 3.16 ระบุว่า เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และร้อยละ 0.08 ไม่แน่ใจ และไม่ระบุ ในสัดส่วนที่เท่ากัน

ด้านสิ่งที่คน Gen Y คาดหวังมากที่สุด หลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.70 ระบุว่า เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 12.03 ระบุว่า ส่งเสริมการเพิ่มอาชีพ ลดการว่างงาน พัฒนาให้แรงงานให้มีประสิทธิภาพ ร้อยละ 10.21 ระบุว่า พัฒนาด้านการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น ร้อยละ 9.41 ระบุว่า ประเทศมีความเป็นประชาธิปไตย ร้อยละ 3.56 ระบุว่า ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนในประเทศและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 3.48 ระบุว่า ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในสายตาของต่างชาติ ร้อยละ 1.90 ระบุว่า การบริการและการได้รับสวัสดิการของรัฐด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และเท่าเทียมกัน ร้อยละ 0.55 ระบุว่า สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น เช่น อินเทอร์เน็ต น้ำประปา ไฟฟ้า ถนน รถไฟ การคมนาคม ฯลฯ และร้อยละ 0.16 ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการขับเคลื่อนประเทศไทยที่คน Gen Y อยากเห็นในอนาคต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.13 ระบุว่า แก้ปัญหาการขัดแย้ง สร้างความสามัคคี สร้างจิตสำนึกในการใช้เสรีภาพส่วนบุคคล รองลงมา ร้อยละ 36.63 ระบุว่า การทำนโยบายสาธารณะที่มาจากประชาชนร่วมกันคิด ร้อยละ 16.85 ระบุว่า ยกระดับคุณภาพการบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพ ร้อยละ 15.74 ระบุว่า ส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ร้อยละ 10.52 ระบุว่า แก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในจังหวัด 3 ชายแดนภาคใต้ ร้อยละ 5.62 ระบุว่า การแก้ไขปัญหาการเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ร้อยละ 3.56 ระบุว่า ส่งเสริมด้านกีฬาให้กับประชาชน เช่น อุปกรณ์กีฬา สนามกีฬา เป็นต้น ร้อยละ 1.50 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น และการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และร้อยละ 0.16 ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.47 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 26.10 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 17.88 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.40 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 51.34 เป็นเพศชาย ร้อยละ 48.58 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.08 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 23.26 มีอายุ 21 – 26 ปี ร้อยละ 32.44 มีอายุ 27 – 32 ปี และร้อยละ 44.30 มีอายุ 33 – 38 ปี

ตัวอย่างร้อยละ 93.43 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.88 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.50 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.19 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 51.58 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 46.12 สมรสแล้ว ร้อยละ 0.95 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 7.36 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.12 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 11.95 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 39.48 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 4.11 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.98 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 13.06 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 29.35 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.62 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 6.72 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.74 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 7.36 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 5.78 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระ ที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 2.29 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 12.98 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 15.74 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 38.37 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 14.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 6.09 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.38 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.96 ไม่ระบุรายได้

01_4