ชพน.หนุนสร้างความเข้มแข็ง สวัสดิการชุมชน
"วรรณรัตน์" ร่วมถกประเด็น "พรรคการเมืองกับทิศทางการจัดการสวัสดิการชุมชน" ย้ำ ชพน.ให้ความสำคัญจัดเป็นอุดมการณ์พรรคการเมือง ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องแก้ไข
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.62 นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ร่วมแสดงความคิดเห็น เรื่อง "พรรคการเมืองกับทิศทางการจัดสวัสดิการชุมชน" งานมหกรรมองค์กรสวัสดิการชุมชน ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า พรรคชาติพัฒนาได้ให้ความสำคัญกับการจัดให้มีระบบการจัดสวัสดิการสังคมในทุกมิติเป็นอย่างมาก โดยกำหนดไว้เป็นส่วนหนึ่งของอุดมการ์ณทางการเมืองของพรรค เพราะพรรคชาติพัฒนาเล็งเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยกันคนจนมากขึ้นอยู่ในขณะนี้ เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลให้ทุกคนในสังคมโดยเฉพาะประชาชนในระดับฐานรากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสมศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
นายแพทย์วรรรัตน์ กล่าวว่า ตั้งแต่มีการออกกฎหมายประกันสังคม ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2533 ในสมัยรัฐบาลของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งต่อมาก็ได้มีการเพิ่มความคุ้มครองและให้สวัสดิการด้านต่างๆ แก่ผู้ใช้แรงงานในระบบเพิ่มมากขึ้น เช่น ในสมัยที่ นายสุวัจน์ ลิปตภัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้ขยายความคุ้มครองไปถึงผู้ที่ออกจากงาน ให้ได้รับเงินเดือนเป็นระยะเวลาถึง 6 เดือนในระหว่างที่กำลังหางานใหม่ทำด้วย เป็นต้น และรัฐบาลต่อมาก็ได้มีการสร้างระบบประกันสังคมแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นมาอีก รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนขึ้นมา เพื่อช่วยให้ทุกคนในชุมชนได้มีโอกาสช่วยเหลือเกื้อกูลและเอื้ออาทรต่อซึ่งกันและกัน ด้วยการพึ่งตนเองอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมทั้งการสร้างสังคมในระดับฐานรากให้เข้มแข็ง เพื่อเป็นพื้นฐานเกื้อหนุนให้สังคมโดยรวมของประเทศสามารถดำรงอยู่ได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าพรรคชาติพัฒนายินดีรับข้อเสนอของเครือข่ายสวัสดิการชุมชน โดยพร้อมที่จะสนับสนุนและนำไปกำหนดเป็นนโยบายของพรรค
ที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา กล่าวต่อไปว่า การแก้ไขกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อรับรองสถานะและบทบาทของกองทุนสวัสดิการชุมชนให้เป็นนิติบุคคล ที่สามารถดำเนินงานจัดสวัสดิการชุมชน พัฒนาการบริหารจัดการการเงิน และการบริการสมาชิกได้อย่างมีธรรมาภิบาลและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และพร้อมที่จะสนับสนุนในการใช้งบประมาณของรัฐด้านสวัสดิการโดยให้ กองทุนสวัสดิการชุมชนเป็นกลไกกลางในการดำเนินการด้านสวัสดิการสังคมในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นทุกมิติ และพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานในการสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนแบบหุ้นส่วนการพัฒนา 4 ฝ่าย อันได้แก่ ประชาชน รัฐบาล องค์กรปกครองท้องถิ่น และภาคเอกชน.