ศาลยุติธรรม พร้อมยึดขั้นตอนคดีละเมิดจริยธรรม หากป.ป.ช. ร้องปมนาฬิกาหรู
เลขาศาลฯเผย "ศาลฎีกา" พร้อมพิจารณา "ประวิตร" หากป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตีตกประเด็น-สอบละเมิดจริยธรรมนักการเมือง ปมนาฬิกาหรู
เมื่อวันที่ 18 ม.ค.62 ที่ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการให้สัมภาษณ์ ภายหลังแถลงผลงานศาลยุติธรรมประจำปี ซึ่งได้ตอบข้อซักถามสื่อมวลชน กรณีที่ ป.ป.ช. ตีตกเรื่องตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ซึ่งหากมีผู้ร้องกล่าวหาการทำหน้าที่ ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และการละเมิดมาตรฐานประมวลจริยธรรมนักการเมือง องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญฯใหม่ ตามขั้นตอนกฎหมายศาลฎีกาจะดำเนินการอย่างไร
นายสราวุธ กล่าวว่า ตามขั้นตอน หากมีการร้องทุกข์ สนช. ก็จะพิจารณาส่งเรื่องให้ประธานศาลฎีกานำเข้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาแต่งตั้งผู้ไต่สวนอิสระ เหมือนครั้งอดีตที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยโดนร้องเรื่องการออกระเบียบฯ ขึ้นเงินเดือนตัวเอง โดยขั้นตอนการร้องดำเนินคดีและการพิจารณาดังกล่าวก็จะมีระเบียบศาลฎีกากำหนดไว้ซึ่งได้เผยแพร่ไปแล้ว
เมื่อถามว่า หลังจากที่มีการออกระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และองค์กรอิสระ มีการร้องขึ้นสู่การพิจารณาแล้วหรือไม่
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีคดีละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องใหม่และไม่ค่อยมีคนทราบ เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ได้แถลงชี้แจงเรื่องการตรวจสอบนาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร ซึ่งได้ตีตกในส่วนของคดีอาญาเรื่องการรับสิ่งของมูลค่าเกิน 3,000 บาท เช่นนี้จะถือว่าเข้าข่ายละเมิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
นายสราวุธ กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ ป.ป.ช. จึงไม่สามารถที่จะให้ความเห็นได้ มิเช่นนั้นจะเป็นการให้ความเห็นของการทำงานของหน่วยงานอื่นๆ แต่ในส่วนของศาลเองถ้ามีการยื่นเรื่องเข้ามา ศาลมีความพร้อมที่จะมีการพิจารณาคดี
อย่างไรก็ดีช่วงท้าย นายสราวุธ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ยังได้กล่าวถึงสถิติการพิจารณาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยว่า ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีคดีเข้าสู่พิจารณาของศาล 351 มี ซึ่งมีค้างเก่า 119 คดี โดยศาลฎีกาฯพิจารณาเสร็จไปแล้ว 234 คดี จึงเหลือค้างพิจารณา 236 คดี ซึ่งส่วนใหญ่คดีที่ค้างจะเป็นคดีจงใจไม่แสดง หรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ส่วนฐานกระทำความผิดอื่นๆมีแค่กว่า 10 คดี โดยศาลฎีกาฯ ก็พร้อมที่จะมีการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายในกรอบที่ประธานศาลฎีกากำหนดใน 1 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระทั้ง กกต. , ป.ป.ช. , ผู้ตรวจการแผ่นดิน , กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ปี 2560 โดยกำหนดให้ ศาลฎีกา มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก็ได้ออกระเบียบว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงขึ้นมาเพื่อกำหนดแนวการทางและลักษณะการพิจารณา โดยระเบียบดังกล่าว ได้ประกาศฯ และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.61