กกต.เดินหน้าคำนวณ "ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์" เอง หลังศาลรธน.ไม่รับวินิจฉัย พร้อมสั่งสำนักงานรวบรวมทุกสูตรที่มีผู้เสนอ อ้างสูตร กรธ.แค่ทางเลือกหนึ่ง พร้อมทำตามคำวินิจฉัยศาล คำนวณแล้วประกาศส.ส.ให้ได้ในวันที่ 9 พ.ค.
ที่สำนักงาน กกต. นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการกกต.แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมกกต.ได้รับทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ที่ไม่รับคำร้องของกกต.เรื่องการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ กกต.จึงจะต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการคำนวณจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อภายหลังการประกาศผลเลือกตั้งส.ส.แล้ว โดยจะคำนึงถึงวิธีการตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.มาตรา 128 ที่สำนักงานกกต.เสนอให้กกต.พิจารณาหรือวิธีการคำนวณอื่นๆ อย่างรอบคอบเพื่อให้ได้จำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อแบบครบถ้วน ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งที่ประชุม กกต. มอบหมายให้สำนักงานไปศึกษาวิธีคำนวณที่มีนักวิชาการ พรรคการเมืองเสนอ และระบุว่าเป็นวิธีการที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญว่าวิธีเหล่านั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจริงหรือไม่ ซึ่งบุคคลที่เสนอได้ส่งวิธีคำนวณให้ กกต. แล้ว อย่างไรก็ตามผู้ที่เสนอก็ล้วนแต่อ้างว่าของตนถูกต้องตามมาตรา 128 ของพ.ร.ป.การเลือกตั้งส.ส.แต่คิดคำนวณออกมาได้ต่างกัน
นายแสวงกล่าวว่า ในส่วนของสำนักงาน กกต. การคำนวณตามแบบของ กรธ.ถือเป็นทางเลือกหนึ่งของ กกต. เพราะวิธีการนี้ได้เสนอมาตลอด 2 ปี ไม่เคยมีการโต้แย้ง รวมทั้งได้มีการเผยแพร่พรรคการเมืองที่ได้ติดตามก็น่าจะทราบสูตรอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่มีผลคะแนนการเลือกตั้งออกมา แต่เมื่อมีการเลือกตั้งออกมาแล้วและมีการเอาผลคะแนนไปคิดตามวิธีการดังกล่าว กลับท้วงไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่และมีการนำเสนอวิธีการคำนวณของตัวเอง โดยบอกว่าสิ่งนี้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ โดย กกต. ให้ไปดูแล้วนำมาเสนอกกต. ด้วย กรอบเวลาเรื่องนี้คงต้องดำเนินการโดยเร็ว เพราะถึงอย่างไรวันที่ 9 พ.ค.กกต. ต้องประกาศส.ส.ทั้งสองระบบไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ส่วนที่ก่อนหน้านี้ กกต. ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 128 ของพ.ร.ป.ส.ส.ขัดกับมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจ กกต. เราจะพยายามหาสูตรที่ไม่ขัดกฎหมาย และหากหาได้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นพูดเรื่องกฎหมายลูกขัดกับรัฐธรรมนูญ ส่วนเมื่อกกต.ประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว มีผู้ที่เห็นว่าการคำนวณจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถูกต้องก็มีสิทธิไปร้องต่อศาลได้
นายแสวง กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า กกต. มีอำนาจตรวจสอบคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามหลังวันเลือกตั้งได้หรือไม่ หรือทำไมไม่ตรวจสอบให้เสร็จสิ้นในวันรับสมัครเลือกตั้งในคราวเดียว ทั้งนี้เรื่องคุณสมบัติวันสมัครรับเลือกตั้ง กกต.สามารถตรวจสอบคุณสมบัติได้ เพราะมีเอกสารรับรองหรืออ้างอิงทุกรายการ ส่วนลักษณะต้องห้าม กกต. จะตรวจสอบได้เพียงจากข้อมูลของหน่วยรัฐ ซึ่งมี 23 หน่วยงาน แต่ถ้าเป็นข้อมูลอยู่ในความครอบครองของเอกชน กกต.ไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงต้องให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง หากภายหลังปรากฏว่าเป็นผู้มีลักษณะต้องห้าม เป็นเหตุฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง กกต. มีอำนาจดำเนินการไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเลือกตั้ง หรือวันประกาศผลการเลือกตั้ง ซึ่งกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรือง หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นกรณีที่มีผู้ร้องว่าอาจมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายและพรรคการเมือง จึงต้องดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจให้สิ้นกระแสข่าว
นายแสวง กล่าวอีกว่า การที่มีข้อสังเกตกรณีที่ กกต. สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ และสั่งนับคะแนนใหม่ และสั่งระงับสิทธิผู้มีสิทธิเลือกตั้งไว้ชั่วคราวว่า กกต.ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการหาเสียงให้แก่ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทำให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองไม่มีแนวทางในการปฏิบัติกับเรื่องดังกล่าวนั้น กรณีนี้กกต.ได้ออกระเบียบกกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.ออกตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 71 กรณีการให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน ไม่ว่าจะโดยตรง หรือโดยอ้อมแก่ผู้ใด ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันใด รวมถึง ม.73 กำหนดไว้ว่า การช่วยเหลือเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ กระทำมิได้ โดยกกต. ได้มีหนังสือตอบข้อหารือของพรรคการเมืองที่ได้มีหนังสือหารือ เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติตามข้อดังกล่าว และแจ้งให้พรรคการเมืองทราบพร้อมทั้งเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของสำนักงานเป็นการทั่วไปก่อนการเลือกตั้งแล้วด้วย