เกมต่อรอง 'ปชป.-ภท.' ส่อง3ทางเลือกวัดใจ
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนจาก 2 พรรค ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญในการจับขั้วเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย
โดยเฉพาะในส่วนของ “ค่ายสีฟ้า” ที่แม้จะได้รับสัญญาณมาจากทางฝั่งพลังประชารัฐ ท่ามกลางกระแสข่าวการต่อสายดีลโดยยอมประเคนเก้าอี้ “ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ” ร่วมถึงเก้าอี้รัฐมนตรีทั้งว่าการและช่วยว่าการในอีกหลายกระทรวง
แต่ทว่า ประชาธิปัตย์เองยังต้องเผชิญ “ศึกภายใน” ที่เป็นการงัดข้อกันระหว่าง “กลุ่มหนุนบิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพลังประชารัฐ กับ “กลุ่มอภิสิทธิ์” ที่ประกาศตัว “ไม่เอาประยุทธ์” มาตั้งแต่ต้น แม้เสียงจากกลุ่มแรกดูเหมือนว่าจะเป็นต่ออยู่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องไปจบที่การ “ทุบโต๊ะ” เพื่อเป็นมติพรรค
เช่นเดียวกับ “ค่ายสีน้ำเงิน” ที่ขณะนี้ยังคงต้องรอการตัดสินใจ โดยเฉพาะท่าทีจาก “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ที่เตรียมเดินสายพูดคุยพรรคการเมืองเพื่อกำหนดทิศทางพรรค ท่ามกลางกระแสข่าวความไม่ลงตัวการจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีที่อาจทำให้ภูมิใจไทย “พลาดเป้า” เสียเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการในกระทรวงสำคัญ อย่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
เมื่อเกมต่อรองยังไม่จบ ทิศทางการเมืองของทั้ง 2 พรรค จึงต้องไปลุ้นกันที่ 3 คำตอบนั่นคือ 1.ตัดสินใจร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหากเป็นคำตอบนี้ สิ่งที่จะต้องติดตามคือท่าทีจาก ส.ส.ประชาธิปัตย์กลุ่มที่ประกาศไม่เอาบิ๊กตู่ที่ ว่าจะลงมติ (แบบเปิดเผย) “เห็นชอบ- ไม่เห็นชอบ -โหวตโน หรือ โนโหวต”
2.ให้สมาชิก“ฟรีโหวต” คือสามารถลงมติได้อย่างอิสระโดยไม่เป็นมติพรรค ซึ่งหากเป็นแนวทางนี้ก็อาจมีข้อดีในแง่การสลัดภาพความเป็น “งูเห่า” ออกไปได้ เพราะมติที่แตกต่างจะไม่ถือเป็นการโหวตสวนมติพรรค
และ 3.การประกาศจุดยืนเป็นขั้วที่สาม ซึ่งดูเหมือนว่าจะไปเข้าทางกับขั้วที่สอง อย่างพรรคเพื่อไทยที่กำลังแก้เกมประกาศพร้อมสละตำแหน่งสำคัญทุกตำแหน่ง เพียงแค่ให้พรรคขนาดกลางมาร่วมโหวตเพื่อสกัด “บิ๊กตู่” และล้มกระดาน คสช. เท่านั้น หากเป็นไปในแนวทางนี้โอกาสในการเกิด “งูเห่า” โดยเฉพาะสมาชิกประชาธิปัตย์กลุ่มที่สนับสนุนบิ๊กตู่ ย่อมมีสูงไม่แพ้แนวทางแรก
อีกไม่นาน คงจะได้รู้กันว่า ท้ายที่สุดแล้วเกมต่อรองของทั้ง 2 ค่ายจะเฉลยคำตอบออกมาที่ข้อใด? แต่ที่แน่ๆมติที่ออกมาย่อมสะท้อนให้เห็นถึงภาพความเป็นเอกภาพของแต่ละพรรคอยู่ไม่มากก็น้อย