เร่ง 'ปลดล็อค' สรรหากสทช. บอร์ดเกียร์ว่าง-สนง.แบกภาระล้น

เร่ง 'ปลดล็อค' สรรหากสทช. บอร์ดเกียร์ว่าง-สนง.แบกภาระล้น

คำสั่งที่เกี่ยวกับการระงับกระบวนการสรรหา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ออกมารวม 3 ฉบับ

 ได้แก่ คําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 8/2558 เมื่อวันที่ 24 เม.ย.58 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 75/2559 เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.59 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 7/2561 เรื่อง การยกเลิก และระงับกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็น กสทช. เมื่อวันที่ 24 เม.ย.61 ฉบับสุดท้าย มีสาระสำคัญให้ยกเลิกกระบวนการสรรหา และคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็น กสทช. และให้ กสทช. ที่ปฏิบัติหน้าที่ดํารงตําแหน่งต่อไป จนกว่าหัวหน้าคสช. จะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งคนในวงการโทรคมนาคมหวั่นว่า หากคสช.ไม่ถอนคำสั่งฯบอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันส่ออยู่ยาว

เร่ง \'ปลดล็อค\' สรรหากสทช. บอร์ดเกียร์ว่าง-สนง.แบกภาระล้น

แม้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อต้นปีจะมีมติพิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เสนอร่างแก้ไขตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เสนอให้แก้ไขในส่วนที่เกี่ยวกับการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการกสทช.และยุบรวม 2 บอร์ด คือฝั่งกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และฝั่งกิจการโทรคมนาคมให้เป็นบอร์ดเดียวเหลือเพียง 7 คน

แต่จนถึงขณะก็ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ตามขั้นตอนแล้ว จำเป็นต้องรอให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ต้องเป็นผู้เลือก กสทช.ใหม่ แต่ขั้นตอนก็ยังติดขัดด้วยคำสั่ง คสช.ม.44 เองที่ออกมาระบุให้การทำงานกสทช.ชุดปัจจุบันที่นั่งยาวมากว่า 7 ปี ทำงานไปจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

1_43

แม้ว่าทุกฝ่ายรู้ดีว่าบอร์ดที่เหลือไม่ได้ทำงานอะไรเลย เพราะภาระหน้าที่ทุกอย่างตกอยู่กับ“สำนักงาน”ที่รับมือทุกอย่าง โดยเฉพาะการเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล การเรียกคืนความถี่จากหน่วยงานอื่นๆ จนเป็นผู้วางโรดแมพการจัดสรรคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบการโทรคมนาคม

คำถามคือ บอร์ดชุดปัจจุบันมีหน้าที่เพียงลงมติทุกเรื่องตามที่สำนักงานเสนอมาเท่านั้น ในเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่งวดเข้ามาทุกทีแล้ว คสช.ต้องอย่าลืมปลดล็อก ม.44 ที่พันตัวเป็นเงื่อนไขในการเปิดโอกาสสรรหาผู้มีคุณสมบัติมาทำ“งาน”แทน

ซูเปอร์บอร์ดมีแล้วแต่ไร้สรรหา

กสทช. ชุดปัจจุบันแต่เดิมจะอยู่ครบระยะเวลาตามวาระดำรงตำแหน่ง 6 ปีไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 แต่เมื่อ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทำให้บอร์ดกสทช.ชุดปัจจุบันยังต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่า จะมี“กสทช.”ชุดใหม่ แม้กฎหมายใหม่ออกแล้ว แต่ก็ยังมีคำสั่งคสช.ค้ำอยู่ หนทางในการสรรหากสทช.ชุดใหม่จึงไม่สามารถเดินได้

โดยความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2562 การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกสทช. หรือ ซูเปอร์บอร์ด จำนวน 5 คน ดังนี้ 1.นายณภัทร วินิจฉัยกุล ด้านกิจการกระจายเสียง 2.นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.พันเอก พีรวัส พรหมกลัดพะเนาว์ ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.นายพันธศักดิ์ จันทร์ปัญญา ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ 5.นายไพโรจน์ โพธิไสย ด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ทั้งนี้ซูเปอร์บอร์ดมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 3 ปี และจะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันมิได้ นอกจากนี้ มีอำนาจหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของกสทช. , สำนักงาน กสทช.และเลขาธิการ กสทช.แล้วแจ้งผลให้ กสทช.ทราบภายใน 90 วัน

หากไม่ถอนคำสั่งบอร์ดอยู่ยาว

แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.ควรยกเลิกคำสั่ง ม. 44 ฉบับที่ 7/2561 ที่กำหนดให้กสทช.ชุดนี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เพราะถ้าหากไม่ยกเลิกบอร์ดก็จะอยู่ต่ออาจจะถึงอายุ70 ปี ทั้งๆที่ไม่ต้องทำงานใดๆเลย ทำเพียงเซ็นเอกสารลงมติวาระตามที่สำนักงานกสทช.เสนอเข้าที่ประชุมเท่านั้น

ซึ่งเห็นได้จากคำสั่ง ม.44 ฉบับที่ 4/2562 ที่คสช.ได้กำหนดให้กสทช.ทำหน้าที่จัดการประมูลคลื่นความถี่ จัดสรรคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ยืดอายุการชำระหนี้คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปเป็น 10 ปี และเข้ามาแก้ปัญหาในการเยียวยาและชดเชยทีวีดิจิทัล เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องมีบอร์ดปฏิบัติหน้าที่อีกต่อไป ในเมื่ออำนาจการทำงานของกสทช.อยู่ที่สำนักงานอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ปัจจุบันบอร์ดกสทช.อยู่ในตำแหน่งมา 7 ปี ได้รับสิทธิประโยชน์ของบอร์ดกสทช.มากมาย ทั้งเงินเดือนประธาน 335,520 บาท กรรมการ 269,000 บาท (เฉพาะเงินเดือนของบอร์ด 6 คนตกปีละกว่า 23 ล้านบาท) งบเดินทางต่างประเทศปีละ 20-50 ล้านบาท ได้สิทธิในการบินชั้น First Class งบรับรองเดือนละ 2 แสนบาท ทั้งยังตั้งที่ปรึกษา คณะทำงาน และอนุกรรมการโดยรวมๆแล้วค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดตกปีละกว่า 240 ล้านบาท

แนะเปิดทางเร่งสรรหาชุดใหม่

สาระสำคัญการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการกสทช. เดิมการสรรหากรรมการกสทช.จำนวน 7 คน จะแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ 7 ด้าน 1.กิจการกระจายเสียง 2.ด้านกิจการโทรทัศน์ 3.ด้านกิจการโทรคมนาคม 4.ด้านวิศวกรรม 5. ด้านกฎหมาย 6.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้แก้ไขโดยไม่กำหนดว่าผู้เข้ารับการสรรหาต้องมีความรู้ด้านใดด้านหนึ่งเหมือนในอดีต แต่เปลี่ยนเป็นไม่ต้องกำหนดความรู้ ความเชี่ยวชาญของกรรมการ เพื่อเป็นการเปิดกว้างให้มีกรรมการกสทช.ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ตามความเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา
ถัดมาเป็นการแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ให้เป็นมาตรฐานเดียวกับองค์กรอิสระ แก้ไขให้กรรมการกสทช.จะพ้นจากตำแหน่งได้จะต้องเป็นผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเท่านั้น และให้ปรับเปลี่ยนคุณสมบัติของผู้สมัครรับการสรรหาเป็นกรรมการกสทช.ไม่ต้องลาออกจากการเป็นผู้บริหารองค์กรหรือนิติบุคคลที่ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ก่อน 1 ปี ก่อนรับการสรรหา

ปรับตำแหน่งบนมาตรฐานเดียว

นอกจากนี้ยังได้ปรับระดับและตำแหน่งของผู้เข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นกรรมการกสทช. จากแต่ละอาชีพให้มีมาตรฐานและระดับที่เท่ากันทุกสาขาอาชีพ เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น ให้ปรับเพิ่มกรณีผู้สมัครประกอบอาชีพหรือที่ไม่ได้ระบุคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งไว้ให้ชัดเจน เช่น กรณีผู้สมัครที่เป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการ ให้เพิ่มเติมผู้รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอธิบดี ผู้พิพากษา รองอธิบดีศาลปกครองชั้นต้น ตุลาการพระธรรมนูญรองหัวหน้าศาลทหารกลาง หรือรองอธิบดีอัยการ
กรณีผู้สมัครเป็นทหารหรือตำรวจ ต้องดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่ง พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี หรือพลตำรวจตรี กรณีผู้สมัครด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ ให้ปรับเปลี่ยนจากเคยมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นเคยมีประสบการณ์ในกิจการคุ้มครองผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 20 ปี

ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการ เดิมกำหนดให้กรรมการสรรหาสรรหาให้ได้จำนวน 2 เท่าของกรรมการคือ 14 คน เพื่อให้วุฒิสภาเลือกให้เหลือ 7 คน ร่างใหม่แก้ไขให้กรรมการสรรหาคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการกสทช. 7 คนเลย แล้วดำเนินการส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอ โดยผู้ที่ได้รับการสรรหาต้องได้รับคะแนนเสียงจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมด โดยให้กระบวนการทั้งหมดต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันกับองค์กรอิสระตามธรรมนูญอื่น

ปัจจุบันกสทช.ชุดนี้คงเหลืออยู่เพียง 6 คน ประกอบด้วย พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร ประธานกสทช. พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธาน พลโทพีระพงษ์ มานะกิจ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา