5 ปี 'พล.อ.ประยุทธ์-คสช.' บนเก้าอี้อำนาจสอบผ่าน-เสียของ?

5 ปี 'พล.อ.ประยุทธ์-คสช.' บนเก้าอี้อำนาจสอบผ่าน-เสียของ?

22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น "ผู้บัญชาการทหารบก" ในขณะนั้น ยึดอำนาจจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ยุติการชุมนุมของ กลุ่มกปปส. หยุดการชุมนุมของ กลุ่มคนเสื้อแดง ปิดทางไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ม็อบชนม็อบ

แม้หลายฝ่ายจะไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่ก็พอทำใจได้ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ต้องเห็น เลือดนองแผ่นดิน พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาท่ามกลางความหวังของ “คนไทย” ว่าจะสามารถปฏิรูปประเทศไทยได้สำเร็จ โดยเฉพาะการปฏิรูปการเมือง

ทว่า วันที่ 22 พ.ค. 2562 ผ่านพ้นมา 5 ปี ลองมาสำรวจกันว่า ผลงานที่ออกมาถูกใจ-ไม่ถูกใจ ประชาชนที่ตั้งความหวังเอาไว้กับ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

การปฏิรูปเสียของ?

รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กำหนดให้มี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คน มาจากคณะกรรมการสรรหาจังหวัด จำนวน 77 คน และคณะกรรมการสรรหาโดย คสช. 173 คน รวม 250 คน แบ่งเป็นคณะกรรมการ 11 ชุด เพื่อปฏิรูปในด้านต่าง

แต่ทำงานได้เพียง 11 เดือน (2 ต.ค.2557-6 ก.ย. 2558) ก็ต้องถูกยุบไป ภายหลัง สปช. มีมติไม่เห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นผลให้การวางแนวทางปฏิรูปต้องชะงักไป

พล.อ.ประยุทธ์-คสช. ต้องการเดินหน้าปฏิรูปประเทศต่อ โดยแต่งตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) จำนวน 200 คน มีวาระทำงาน 2 ปี (5 ต.ค.2558-25 ก.ค. 2560) ประชุมทั้งหมด 109 ครั้ง เห็นชอบรายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการทั้ง 12 คณะ และกมธ.วิสามัญ รวม 190 เรื่อง

อย่างไรก็ตาม แผนการปฏิรูปตามที่ คณะกรรมาธิการ สปท. เสนอต่อคณะรัฐมนตรีไม่ถูกนำไปใช้ได้จริง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์-คสช. ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 แต่การปฏิรูปก็ไม่ได้คืบหน้าแต่อย่างใด

ปมแทรกแซงองค์กรอิสระ

การแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ มักถูกมองว่ามี “ใบสั่ง” จากคสช.ส่งให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประทับตราให้เสมอ ไล่ตั้งแต่ ศาลรัฐธรรมนูญ โดย สนช.เห็นชอบบุคคลไปดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญแทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 คน และต่ออายุอีก 5 คน

การแต่งตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้ประธานสนช. และรองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการสรรหา ก่อนส่งให้ สนช.ลงมติเห็นชอบ โดยเฉพาะชื่อของ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ที่เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ก่อนที่ พล.ต.อ.วัชรพล จะถูกผลักดันให้นั่งเก้าอี้ประธาน ป.ป.ช.

การแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) คสช.ใช้ ม. 44 แก้ไขที่มาของคณะกรรมการสรรหา เพิ่มประธาน สนช. เข้ามาเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช.เห็นชอบ คตง.ชุดใหม่ จำนวน 7 คน และใช้ ม.44 แต่งตั้ง พรชัย จำรูญพาณิชย์กุล และ นายประจักษ์ บุญยัง ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

การแต่งตั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) คสช.ใช้ ม.44 ปลด สมชัย ศรีสุทธิยากร ออกจากตำแหน่ง โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำ พ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ให้สรรหา กกต.ชุดใหม่ โดยแต่งตั้งกรรมการสรรหา ก่อนจะโหวตคว่ำ ว่าที่กกต. ไป 1 ครั้ง และสรรหาใหม่จนได้ กกต.ชุดปัจจุบัน

ข้อครหาแต่งตั้งพวกพ้อง

พล.อ.ประยุทธ์-คสช. แต่งตั้งแม่น้ำห้าสาย ซึ่งมาจากนายทหาร กลุ่ม 40 ส.ว. นักกฎหมายคนสนิท และกลุ่มเอกชน โดยสลับกันนั่งเก้าอี้สำคัญต่างกรรมต่างวาระ จากเดิมที่มีตำแหน่งอยู่ใน คสช. เพิ่มตำแหน่งใน ครม. อาทิ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้าคสช. ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรมว.คมนาคม พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช. ดำรงตำแหน่งรองนายกฯ และรมว.คมนาคม เป็นต้น

ต่อด้วยการแต่งตั้ง ส.ว.สรรหา เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา มี คนหน้าเดิม ที่เคยทำงานร่วมกับ คสช. มาดำรงตำแหน่ง ส.ว.สรรหา แบ่งเป็น เคยมีตำแหน่งใน คสช. 20 คน เคยมีตำแหน่งในครม. 18 คน เคยมีตำแหน่ง สนช. 89 คน เคยมีตำแหน่ง สปช. 26 คน

เคยมีตำแหน่งสปท. 35 คน เคยมีตำแหน่งกรธ. 5 คน มีตำแหน่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 25 คน และเคยมีตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 26 คน

คำถามปราบปรามทุจริต

แม้จะชูนโยบายปราบปรามการทุจริต ทว่าการทุจริตใน รัฐบาล-คสช. ยังมีให้เห็น แต่กลับถูกปกปิดเอาไว้ เพื่อปกป้องพวกพ้องตามแบบของทหาร ไล่ตั้งแต่การทุจริตการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ในพื้นที่ของกองทัพบก อ.หัวหิน วงเงิน 1,000 ล้านบาท ภายใต้ความดูแลของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีตผบ.ทบ.

โดยมีปมสงสัยกรณีไม่ชี้แจงเกี่ยวกับที่มาที่ไปของเงินบริจาค เรื่องดังกล่าวเกี่ยวพันกับ พล.ต.สุชาติ พรมใหม่ และ พ.อ.คชาชาต บุญดี ซึ่งเป็นนายทหารคนสนิทของ พล.อ.อุดมเดช โดยทั้งสองคนถูกให้ออกจากราชการ อย่างไรก็ตามการสอบสวนดังกล่าวไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

กรณีนาฬิกายืมเพื่อนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม แม้จะมีหลักฐานค่อนข้างชัดว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. ในการครอบครองนาฬิกา 25 เรือน มูลค่ากว่า 39 ล้านบาท แต่ป.ป.ช.ตีตกประเด็นดังกล่าว ทำให้ พล.อ.ประวิตร พ้นจากความผิด

ผลงานเด่นชัดของคสช.

การทวงคืนผืนป่าจากนายทุน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าอย่างแข็งขัน และถือเป็นผลงานที่ค่อนข้างเด่นชัดของ รัฐบาล และคสช.โดยสามารถทวงคืนผืนป่าได้จำนวนมาก โดยในปี 2559 สามารถทวงคืนผืนป่าจากนายทุนได้ 1.4 แสนไร่และในปี 2560 ตั้งเป้าทางคืน 1.07 แสนไร่ และในปี 2560-2562 ยังคงเดินหน้าต่อ

การปราบปรามผู้มีอิทธิพล ตำรวจและฝ่ายปกครอง โดยกวาดล้างจับกุมอาวุธสงคราม อาวุธปืน กระสุน และวัตถุระเบิดได้จำนวนมาก มีผู้เกี่ยวข้องกว่า 30,000 คน ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง

แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และคืนโฉนดที่ดินทำกิน สามารถไกล่เกลี่ยได้ 24,014 ราย รวมโฉนดจำนวน 20,360 ฉบับ รวมเนื้อที่ 57,648 ไร่ 2 งาน 42.72 ตารางวา รวมราคาซื้อขายที่ดิน 27,614,488,361 บาท

การปลดธงแดง ICAO ได้เป็นผลสำเร็จ หลังจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ได้ติดธงแดงประเทศไทย มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน จนต่อมาจากการเดินหน้าแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จน ICAO ได้ถอดประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยด้านการบินพลเรือน

แก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู) โดยออก ม.44 ควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย จนสหภาพยุโรปพิจารณาให้ปลดใบเหลือง ช่วงต้นปี 2562 หลังอียูให้ใบเหลืองเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2558 ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูได้

ทั้งหมดคือผลงานของ “คสช.” ที่มีทั้ง ดี-ไม่ดี แต่หากวัดความคาดหวังของ “ประชาชน” ที่ต้องการให้แก้ไขโจทย์ใหญ่ของประเทศไทย ซึ่งเน้นหนักไปที่ การปฏิรูป ในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น รวมถึงการปรองดอง แต่สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “คสช.” ต้องการสืบทอดอำนาจของตัวเองหรือไม่

5 ปี “คสช.” มีคำตอบอยู่ในตัวแล้วว่า สอบผ่านหรือเสียของ!