“ฝ่ายค้าน-ปชป.” รุมสับ แผนปฏิรูป จวก “คสช.” ชูปฏิรูปแค่วาทะกรรม แนะ “รบ.” ปรับทัศนะอย่ามอง “สภา” คือ เวทีโต้แย้ง
เมื่อเวลา 11.00 น. การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาต่อเนื่อง เรื่อง รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ช่วงเดือนมกราคม - เดือนมีนาคม 2562 ต่อจากวันที่ 26 มิถุนายน ซึ่งใช้เวลาอภิปรายไปแล้วกว่า 7 ชั่วโมง
ทั้งนี้นายชวน กล่าวต่อว่ามีผู้ที่อภิปรายเรื่องดังกล่าว รวม 18 คน แบ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน จำนวน 12 คน และ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล จำนวน 6 คน ตนขอความร่วมมือให้อภิปรายแบบกระชับเวลา หลังจากที่การอภิปรายเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน นำเสนอประเด็นอภิปรายเป็นไปอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ญัตติ ที่เสนอเข้ามาจำนวน 8 ญัตติ ว่าด้วยการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและเกษตรกร ให้ได้รับการพิจารณาและไม่ตกค้าง
จากนั้นเข้าสู่การอภิปรายโดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน โดยย้ำถึงการไร้ความคืบหน้าของงานปฏิรูปประเทศตามแผนที่กำหนดไว้ ทั้งที่แผนดังกล่าวมีกรอบกำหนดเวลาทำงานกำกับไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแผนงานปฏิรูปของรัฐบาล ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ เป็นผู้นำนั้น ใช้คำว่าปฏิรูปเป็นเพียงวาทะกรรม เพราะไร้รูปธรรมที่ชัดเจน
โดย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายในสาระสำคัญซึ่งชี้ให้เห็นว่าการดำเนินงานปฏิรูปตามแผนการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ โดยเฉพาะด้านแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ เพราะโครงการที่ดำเนินการนั้นขาดการบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อการปฏิรูป โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมิติของเศรษฐกิจ รวมถึงผลงานไร้ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เพราะรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกฯ ทำให้การปฏิรูปเป็นเพียงวาทะกรรมเท่านั้น
ด้านนายนิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าแผนปฏิรูปที่ต้องการให้เกิดความปรองดอง พบว่าใช้ค่ายทหารเป็นที่รับฟังความเห็นและเชิญตัวแทนนักการเมืองไปให้ความเห็น ที่ค่ายในจ.นครราชสีมา ซึ่งแผนปฏิรูปต่างๆ ที่เกิดขึ้นชาวบ้านมองว่าเป็นเรื่องน่าหัวเราะ อีกทั้งกรณีที่เคยมีข่าวว่าห้ามนักเรียนทำพานไหว้ครูที่เป็นรูปตราชั่งเอียง ที่ จ.สกลนคร ถูกสั่งห้าม ทำให้เห็นว่าการปฏิรูปที่ต้องการ คือ ไม่สามารถคิดแบบอื่นได้
ส่วนนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่าแผนงานปฏิรูปหลายเรื่องที่กำหนดกรอบเวลาและงบประมาณไว้ ปรากฎตามรายงานความคืบหน้า คือ ไม่มีความคืบหน้า อาทิ โครงการปรับสถานภาพรัฐวิสาหกิจชุมชนเป็นนิติบุคคล การพัฒนาธุรกิจชุมชน วงเงิน 2,500 ล้านบาท เพื่อปรับสถานภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจชุมชน กำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 , มีศูนย์อีคอมเมิร์ซเซ็นต์เตอร์ ภายในปี 2561 ทั้งนี้ในแผนงานดังกล่าวกำหนดไว้ชัดเจนว่ามีกรอบให้ทำงาน ภายใน 12เดือน นับจากปี 2561 เป็นต้น ขณะที่แผนปฏิรูปเศรษฐกิจที่ขาดไป คือ การก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง จำเป็นต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพราะตนมองว่าหมดเวลาที่จะดึงนักลงทุน, การแข่งขันผ่านค่าแรงต่ำ แม้แผนปฏิรูปด้านเศรษฐกิจจะกำหนดให้ทำการวิจัยด้านนวัตกรรม แต่รายละเอียดไม่พบความคืบหน้า ทั้งที่กำหนดให้ทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ซึ่งตนมองว่าความล่าช้าของการทำงาน เพราะขาดการชี้วัดที่มีคุณภาพ กำหนดงบประมาณที่ไม่ชัดเจนและมีข้อสงสัย ส่วนตัวมองว่าหากรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สามารถทำได้ รอบหน้าของให้กลุ่มตนเข้าไปทำงานแทน
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายในเนื้อหาการปฏิรูปที่ไม่คืบหน้า ซึ่งนำเปรียบเทียบกับการทำงานของรัฐบาลชุดที่มีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำ โดยย้ำว่ารายละเอียดของแผนปฏิรูป อาทิ แผนปฏิรูปให้ความสำคัญต่อกการยกเลิกกฎหมายที่ล้าหลังและเป็นอุปสรรค แต่ภายใต้การบริหารของพล.อ.ประยุทธ์ พบการออกประกาศและคำสั่งที่เป็นปัญหากับประชาชน และปิดกั้นการแสดงความเห็นการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน รวมถึงออกคำสั่งตามอำนาจหัวหน้าคสช. ที่กระทบและสร้างความเสียหายกับประเทศ เช่น คำสั่งปิดเหมืองทอง ที่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หลายหมื่นล้านบาท ขณะที่การปฏิรูปด้านยุติธรรม พบว่าไม่คืบหน้า โดยเฉพาะประเด็นที่ให้ศาลทหารพิจารณาคดีของพลเรือน ส่วนงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ พบการละเลยการกำกับที่ชัดเจน เช่น ประเด็นส่อทุจริตในโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ , ประเด็นที่มีข้อครหา ต่อ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ส.ว. ที่ใช้บ้านในค่ายทหารให้ลูกชายทำธุรกิจ หรือ การถือครองนาฬิกาหรู ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโฆม ที่ไม่สามารถตรวจสอบรายละเอียดที่ชัดเจนได้ ทำให้ตนมองว่าหากปัญหาดังกล่าวไม่ถูกจัดการ จะทำให้การปฏิรูปไม่สามารถสำเร็จได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของ ส.ส.กลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล อภิปรายทักท้วงแผนปฏิรูปประเทศที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและขาดการบูรณาการการทำงานเนื่องจากมีโครงการเป็นจำนวนมาก พร้อมเสนอให้นำแผนปฏิรูปไปปรับปรุง พร้อมรับฟังความเห็นจากประชาชน รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียเพิ่มเติม
โดยนายกนก วงศ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายต่อประเด็นการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งกำหนดความเกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย พร้อมกำหนดให้เป็นหลักสูตรและมีการสอบ ซึ่งตนมองว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยและความสำเร็จไม่ใช่วัดจากการสอบ ขณะที่การกำหนดแผนปฏิรูปประเทศไม่ควรกำหนดโครงการจำนวนมาก เช่น การปฏิรูปการศึกษา ควรกำหนดแผน 3 ด้านคือ ปฏิรูปการเรียนการสอน, ฝึกหัดครู และ การเรียนรู้ตลอดชีวิต นอกจากนั้นคือการใช้การบูรณาการงานร่วมกัน ทั้งนี้ตนมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการฯ ทบทวนแผนปฏิรูปประเทศ และแผนแม่บทให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มาตรา 13 และการกำหนดโครงการไม่ควรซ้ำซ้อนกับแผนของจังหวัด
"การปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงและประชาชนได้รับประโยชน์ โดยแผนปฏิรูปประเทศที่ผ่านมาพบว่าขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทำให้ขาดการร่วมมือ ส่วนตัวมองว่าแผนปฏิรูปประเทศที่กำหนดไว้เป็นของข้าราชการไม่ใช่ของประชาชน เพราะพบการมอบนโยบายจากข้างบนและเขียนแผนแบบผู้ใหญ่รู้ดี จึงเป็นสาเหตุที่การปฏิรูปไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากนั้นรัฐบาลต้องปรับทัศนะคติต่อการรับฟังความเห็นของ สมาชิกแห่งสภาฯ ด้วยทัศนะคติที่เป็นบวกต่อกัน ไม่ใช่มองว่าสภาฯ คือเวทีคัดค้าน เพื่อให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจากการร่วมมือ หากรัฐบาลไม่ปรับทัศนะอาจกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงและไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงได้” นายกนก กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับการอภิปรายปิดท้ายส่วนของพรรคอนาคตใหม่ คือ นายปิยบุตร แสงกนกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ โดยมีสาระตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ ฐานะผู้นำการปฏิรูปควรเป็นบุคคลที่ควรถูกปฏิรูปมากที่สุดภายใต้แผนปฏิรูปที่เสนอ เพื่อไม่ให้เกิดภาพของรัฐซ้อนรัฐ หรือ ซุปเปอร์รัฐบาล เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐมนตรีนั้นถูกกำกับโดยแผนปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้นส.ส.ที่ถูกรับเลือกให้เป็นรัฐมนตรีนั้นจะทำหน้าที่เพียงดูเรื่องงบประมาณเท่านั้น ซึ่งตนมองว่ากรณีดังกล่าวคือการลดทอนคุณค่าของส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง นอกจากนั้นแผนงานปฏิรูปเป็นเพียงการสร้างอุตสาหกรรมปฏิรูปที่ได้ผลลัพท์คือ กระดาษกองใหญ่ ขณะที่การตรวจสอบการปฏิรูปแม้ระบุว่าจะต้องรายงานต่อรัฐสภา และเมื่อมีกฎหมายที่ต้องออกเพื่อปฏิรูปให้ใช้การประชุมร่วมรัฐสภา ที่ให้ ส.ว.ร่วมด้วย คือกระบวนการให้ส.ว. เข้าครอบงำการทำงานของฝ่าย ส.ส.
นายปิยบุตร กล่าวด้วยว่า สำหรับองค์กรที่ควรปฏิรูปมากที่สุด คือ กองทัพ ปฏิรูปให้กองทัพเคารพสิทธิของประชาชน ปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐประหารทุกๆ 4-6 ปี ทั้งนี้ตนมองว่าการปฏิรูปประเทศเป็นผลพวงมาจากรัฐประหาร ปี 2557 ดังนั้นตนมองว่าการปฏิรูปยุค คสช. เป็นข้ออ้างจากการรัฐประหาร และเป็นเครื่องมือครองและสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร และไม่ให้ความสำคัญกับประชาชน ทำให้ระบบรัฐประหารฝังตัวในรัฐธรรมนูญเพื่อรับรองให้การรัฐประหารมีความถูกต้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายต่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ช่วงเดือนมกราคม - เดือนมีนาคม 2562 เป็นเพียงวาระรับทราบเท่านั้น โดยไม่มีการลงมติใดๆ