สทนช.ชี้เป้า 14 จว. 36 อำเภอ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เผชิญฝนทิ้งช่วง

สทนช.ชี้เป้า 14 จว. 36 อำเภอ เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เผชิญฝนทิ้งช่วง

สทนช.สแกนพื้นที่นอกเขตชลประทานหวั่นประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง พบ 14 จังหวัดฝนตกสะสมน้อยกว่า 10 มม. เสี่ยงกระทบน้ำอุปโภค-บริโภค พื้นที่เกษตร ร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องผลกระทบ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำ พบว่า แม้ว่าขณะนี้ประเทศไทยเริ่มมีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ แต่จากการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์ฝนสะสม 10 วัน (ระหว่าง 18-27 มิ.ย. 62) พบว่า มีพื้นที่ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 10 มิลลิเมตร (มม.) เป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน และไม่มีแหล่งน้ำต้นทุนสำรอง ที่อาจจะมีความเสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และพื้นที่เกษตรอาจได้รับความเสียหายได้ จำนวน 14 จังหวัด 36 อำเภอ อาทิ จ. เชียงใหม่ สุพรรณบุรี นครราชสีมา ชลบุรี โดยมีถึง 3 อำเภอ ใน 3 จังหวัดไม่มีฝนตกเลยติดต่อกัน 10 วัน ได้แก่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.สีชัง จ.ชลบุรี และอ.คลองใหญ่ จ.ตราด ขณะเดียวกัน สทนช.ยังได้ได้วิเคราะห์พื้นที่ปริมาณฝนสะสมน้อยกว่า 50 มม.โดยกำหนดเป็นพื้นที่เฝ้าระวังนอกเขตชลประทาน จำนวน 46 จังหวัด 169 อำเภอ อาทิ จ. เชียงใหม่ ขอนแก่น นครศรีธรรมราช ชลบุรี เป็นต้น


“สทนช. ได้จัดส่งข้อมูลดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว และติดตามการคาดการณ์แนวโน้มฝนสะสมต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมวางแนวทางแก้ไขปัญหา และรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย ผ่านทางจังหวัดเพื่อให้ความช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกร ให้ความช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาแผนการบินปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% แบ่งเป็น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 22 แห่ง และอ่างขนาดกลางจำนวน 172 แห่ง เพื่อเติมน้ำในอ่างฯ และกักเก็บปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด รวมทั้งประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบแหล่งน้ำ ให้พิจารณาแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ โดยระบายน้ำด้วยความระมัดระวังและต้องเร่งกักเก็บน้ำให้มากขึ้น”นายสมเกียรติ กล่าว


สำหรับการคาดการณ์แนวโน้มปริมาณฝนช่วงปลายเดือน มิ.ย.- ก.ค. พบว่า จะมีฝนตกมากในพื้นที่ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ขณะที่พื้นที่ตอนกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่างจะมีฝนน้อย โดยปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยจะต่ำกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณภาคกลาง มักเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลงอย่างมาก อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน ดังนั้น สทนช.ได้กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ พื้นที่แก้มลิงต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนและกักเก็บน้ำให้มากที่สุดสอดคล้องกับปริมาณน้ำในอ่างฯ ที่จะไม่กระทบกับพื้นที่ท้ายน้ำ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงฤดูฝนนี้ สทนช.ยังคงติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาตรน้ำมากกว่า 80% ของปริมาณน้ำใช้การด้วย เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่อง ที่ก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ได้ โดยขณะนี้อ่างขนาดใหญ่ยังสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อีกมาก มีเพียงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเกินกว่า 80% ของความจุ จำนวน 8 อ่าง แยกเป็น ภาคเหนือ 2 แห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 แห่ง ภาคตะวันอออก 2 แห่ง และภาคใต้ 1 แห่ง รวมถึง สทนช.ยังอำนวยการ กำกับ ติดตาม ให้ทุกหน่วยงาน เตรียมความพร้อมรับมือในช่วงฤดูฝนนี้อย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 4 ก.ค.62 นี้ สทนช. กำหนดจัดประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ ติดตาม คาดการณ์ ประเมินสถานการณ์น้ำ รวมถึงซักซ้อมแนวทางมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบอย่างใกล้ชิดด้วย