บริโภคเนื้อสัตว์ สะเทือนถึงผืนป่า
ลองลดการบริโภคเนื้อสัตว์ หันมากินพืชผักมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูประบบอาหารโลก
""""""""""""""""""""""""""""""""
ถ้ามองแค่เรื่องชีวิต การบริโภคเนื้อสัตว์เยอะๆ ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
หากมองแบบเชื่อมโยงจากอาหารจานหนึ่งไปถึงอาหารของคนทั้งโลก ในปีพ.ศ.2533-2556 มีการบริโภคเนื้อวัวต่อหัวทั่วโลกลดลงร้อยละ 10 แต่ในขณะเดียวกัน บริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 และการบริโภคสัตว์ปีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 96 โดยมีการผลิตหมูและไก่คิดเป็นร้อยละ 70 ของการผลิตเนื้อสัตว์ทั่วโลก คาดการณ์ว่า สัตว์ปีกจะกลายเป็นเนื้อสัตว์ที่ถูกบริโภคมากที่สุดในโลกแทนเนื้อหมูในปี พ.ศ. 2565
ในปีพ.ศ. 2504-2552 จำนวนไก่ หมู และวัวที่ถูกฆ่าเป็นอาหารต่อคนเพิ่มขึ้น 3 เท่า นั่นหมายความว่า ปี 2552 สัตว์กว่า 10 ตัว ถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารมนุษย์ 1 คน และในปีพ.ศ. 2561 สัตว์ 76,000 ล้านตัว ถูกฆ่าเพื่อใช้บริโภคและผลิตภัณฑ์นม
อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และการทำปศุสัตว์ ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ต้ัวอย่างแค่ในประเทศไทย ผืนป่าจำนวนมากในจังหวัดน่าน ถูกถางเพื่อปลูกข้าวโพดนำไปเลี้ยงสัตว์
“ใน 30 ปีข้างหน้า (ปีพ.ศ. 2593) หากต้องเลี้ยงประชากรโลก 9,000-10,000 ล้านคน เราต้องเปลี่ยนวิธีการผลิตอาหารตั้งแต่รากฐาน โดยไม่สร้างหายนะให้กับโลก” ศ.พีท สมิธ สถาบันวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและชีววิทยา มหาวิทยาลัยเอเบอร์ดีน(สก็อตแลนด์ สหราชอาณาจักร) ที่ทำงานด้านความยั่งยืนระบบเกษตรกรรมและอาหารมานานกว่า 20 ปี กล่าว
ว่ากันว่า การทำปศุสัตว์เพื่อการบริโภคของมนุษย์ใช้พื้นที่มหาศาลกว่าร้อยละ 30 ของพืชผลทางการเกษตรทั้งโลก
นอกจากนี้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(หรือFAO) ระบุว่า ร้อยละ 30 ของพืชที่ปลูกทั่วโลกถูกป้อนไปเลี้ยงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยมีการใช้ยาปฏิชีวนะกว่า60,000ตันต่อปี
-1-
“เชื่อไหมว่า เราฆ่าชีวิตสัตว์มากกว่าจำนวนมนุษย์ที่เกิดบนโลกนี้ ” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในงาน “ผ.ผักกินดี ลด น.เนื้อ เพื่อ ล.โลก” เพื่อสนับสนุนให้ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ และหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชผักอย่างน้อยสองมื้อต่อสัปดาห์ เพื่อสุขภาพของทุกคนและความอุดมสมบูรณ์ของโลก นอกจากนี้ยังต้องการลดเนื้อสัตว์ทั่วโลกลงมาร้อยละ 50 ภายใน ปีพ.ศ. 2593
ถ้ามนุษย์ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และไม่ลงมือทำอะไรเลย ในปีพ.ศ.2563 ก๊าซที่ปล่อยโดยระบบอาหาร จะมีสัดส่วนเกินครึ่งของปริมาณก๊าซทั้งหมดที่ปล่อยออกมาโดยกิจกรรมของมนุษย์
“ถ้าเราจะกอบกู้วิกฤติโลกร้อน หนึ่งในทางที่เราทำได้คือ บริโภคอย่างรู้ที่มาของอาหาร เลือกการกินที่สร้างมลพิษให้โลกน้อยที่สุด เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ มีส่วนในการผลิตก๊าซเรือนกระจก เทียบเท่าการใช้เรือ รถ เครื่องบิน ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า และก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นผลพวงจากการบริโภคเนื้อสัตว์และอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ด้วย” รัตนศิริ กล่าว
ถ้าบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง หรือไม่บริโภคเลย จะขาดสารอาหารหรือไม่...
เชฟน่าน หงษ์วิวัฒน์ จากสำนักพิมพ์แสงแดด บอกว่า มีความเข้าใจที่ไม่ค่อยถูกต้องนักว่า การบริโภคแต่ผักผลไม้จะได้สารอาหารไม่ครบ
“จริงๆ แล้วผักและธัญพืชหลายชนิดอุดมไปด้วยโปรตีนที่มีคุณภาพ เพียงแค่ผู้บริโภคต้องเลือกสรรและปรุงให้เป็น นอกจากประโยชน์แล้ว การกินผักและลดเนื้อสัตว์ยังเป็นการกินเพื่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะที่เราเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งในโลกใบนี้ ถึงเวลาแล้วที่จะต้องหันมากินเพื่ออนาคตของเรา"
ว่ากันว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เพราะมนุษย์บริโภคมากเกินไป เชฟน่าน แนะว่า ควรบริโภคให้หลากหลาย มีสัดส่วนของเนื้อสัตว์และพืชผักผลไม้ที่มีความจำเป็นเสริมให้พอเหมาะเพื่อให้อาหารอร่อย
"เพราะเราเชื่อว่า ควรดื่มนมวัวและกินเนื้อสัตว์ ทั้งๆ ที่มีโปรตีนจากถั่วจากพืช แม้รสชาติจะไม่เท่าเนื้อสัตว์ แต่สารอาหารเทียบเท่ากัน ลูกผมก็ไม่ได้เลี้ยงด้วยนมวัว หลังจากนมแม่หมด ก็เลี้ยงด้วยนมถั่วเหลือง ผมมองว่า โลกสมัยใหม่มีทางออกให้เราในการเลือกอาหาร ผมเองก็ให้ลูกเลือกกินในสิ่งที่เขาชอบ แต่สิ่งที่ผมกลัวมากคือ กลัวว่าโตขึ้นจะกินผักไม่เป็น ผมมีเพื่อนที่ไม่กินผักเลย ไม่ลองอาหารใหม่ๆ แต่ผมโตมาจากครอบครัวที่กินอาหารหลากหลาย รู้จักอาหารต่างวัฒนธรรมและครอบครัวเราก็ทำหนังสือเกี่ยวกับอาหารด้วย ดังนั้นถ้าลูกไม่กินผักเขียวๆ ผมบังคับ อย่างบล็อกโคลี เด็กๆ ก็ชอบกิน เราอยากให้เด็กๆ สัมผัสรสชาติใหม่ของอาหาร"
นี่คือ ความเห็นของคนที่บริโภคเนื้อสัตว์บ้าง
-2-
ส่วนสายวีแกน (คนที่กินอาหารจากพืชไม่กินผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย) เจสซิก้า คูนี่ แม้จะกินพืชผักเป็นหลัก แต่มีแรงออกกำลังกาย โดยโพสต์เรื่องราวไว้ในอินสตาแกรม Miss_Cuny อยู่เรื่อยๆ
“ถ้าบริโภคเนื้อสัตว์เยอะ เซลล์ต่างๆ ในร่างกายก็จะแย่ลง เพราะอวัยวะทำงานหนัก แต่ถ้าบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง จะทำให้ผู้หญิงแก่ช้า เพราะได้รับสารเคมีเข้าไปในร่างกายค่อนข้างน้อย”
หากถามว่า ผู้หญิงท้องต้องงดเนื้อสัตว์ จะเกิดปัญหาไหม
เจสซิก้า บอกว่า ในช่วงที่ท้องก็กินแบบเดิม ไม่เปลี่ยน กินแบบนี้มานานกว่า 2 ปี แม้ช่วงแรกจะอยากกินเนื้อสัตว์บ้าง แต่พอกลับไปทานนิดหน่อยก็รู้สึกไม่สบายท้อง ถ้าทานเต้าหู้ ถั่วหมักจะสบายตัวมากกว่า
“หลายคนคิดว่า เวลาท้อง ถ้าไม่กินเนื้่อสัตว์ โปรตีนจะเพียงพอหรือ เราก็ศึกษามาบ้าง เด็กจะได้สารอาหารจากรกของเรา เวลาที่กินเจ มีผลดีที่ไม่มีไขมันสะสม ไม่มีสารแปลกปลอมจากเนื้อสัตว์ และวิตามินที่เข้าไปในร่างกายสำคัญมากกว่า บางทีหมอก็จ่ายแคลเซียมให้ ตอนแรกๆ เราก็กังวล แต่พบว่า เด็กในท้องก็เติบโตปกติ เราก็ออกกำลังกายยกเวท หลายคนก็ถามว่า กินเจสร้างกล้ามเนื้อได้ยังไง โปรตีนเพียงพอสำหรับร่างกายหรือ ก็บอกไปว่า ถ้าเรากินพืชผักให้หลากหลาย ก็ได้โปรตีนครบเหมือนกัน”
เหตุใดมนุษย์ต้องบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง
เชฟน่านที่มีโอกาสไปเยี่ยมฟาร์มไก่ เล่าสิ่งที่เห็นว่า ปกติการเลี้ยงลูกเจี๊ยบ มันจะอยู่กันอย่างแออัดมาก พวกเขาพยายามเลี้ยงให้โตเร็วที่สุดในช่วงเวลาจำกัด เพื่อป้อนตลาด จึงต้องมีตารางฉีดยาปฏิชีวนะ
"ผลิตให้เยอะและใช้เวลาสั้นที่สุด ต่างจากฟาร์มไก่ที่เลี้ยงตามธรรมชาติแบบปล่อยๆ ใช้เวลาเยอะกว่า ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงแบบออร์แกนิกสูงมาก เหมือนผักไม่ใส่ยาฆ่าแมลงก็หน้าตาไม่ดี และผู้บริโภคก็ชอบซื้อผักสวยๆ ผมก็เลยคิดว่า หากเราอยากช่วยพวกเขา ก็ช่วยเลย ไม่ต้องรอ”
-3-
องค์กรมะเร็งนานาชาติจัดให้เนื้อแดงและเนื้อแปรรูป อยู่ในกลุ่มที่มีความเป็นไปได้ในการก่อเกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ เมื่อปีพ.ศ. 2558 คณะผู้เชี่ยวชาญ 22 คนจาก 10 ประเทศ ประมวลผลจากงานวิจัย 800 ชิ้นสรุปว่า การกินเนื้อแปรรูปทุกๆ 50 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ร้อยละ 18 และยังมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า การกินเนื้อแปรรูป 1 หน่วยบริโภคทุกวัน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยมะเร็งมากขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับผู้ที่กินเนื้อแปรรูปน้อยหรือไม่กินเลย
“การตกค้างของยาปฏิชีวนะและเชื้อดื้อยาในเนื้อสัตว์ เป็นวิกฤตที่องค์การอนามัยโลกยกให้เป็นปัญหาเร่งด่วนทางสุขภาพของปี2562 ที่ต้องแก้ไข และเป็นความล้มเหลวของระบบอาหารเชิงอุตสาหกรรมที่กำลังคุกคามสุขภาวะคนไทยในเวลานี้ ” รัตนศิริ กล่าว และคาดว่า ในประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อดื้อยาปีละ19,122 ราย
ว่ากันว่าการผลิตเชิงอุตสาหกรรม เนื้อสัตว์ที่มีราคาถูก จำต้องใช้ยาปฎิชีวนะ ตั้งแต่สัตว์ยังไม่ป่วย ทำให้แบคทีเรียดีๆ กลายเป็นเชื้อดื้อยา รศ.พญ.วารุณี พรรณพานิช วานเดอพิทท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์–โรคติดเชื้อ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี กล่าวว่า เชื้อดื้อยาเป็นเชื้อโรคที่สามารถยับยั้งการทำงานของยาปฏิชีวนะได้ ทำให้การรักษาผู้ป่วยไม่ได้ผล
“การทำฟาร์มเลี้ยงไก่ ต้องลงทุนมหาศาล บางฟาร์มไม่ให้ไก่นอน ให้กินตลอดเวลา ทำให้ป่วยง่าย ถ้าไม่อยากให้ไก่ตายก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ และถ้าอยากส่งเนื้อสัตว์ไปขายต่างประเทศ ก็ต้องรอจนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ เมื่อส่งไก่ออกไปขายต่างประเทศไม่ได้ ก็ขายให้คนไทยกินแบบนั้นหรือเปล่า ทำให้เชื้อดื้อยาส่งต่อถึงพวกเรา และคนก็ต้องปรับตัวสู้กับสิ่งแวดล้อมที่กดดัน คนไทยเป็นหวัดนิดหน่อย ก็ซื้อยาปฏิชีวนะกิน จึงสะสมในร่างกาย และยีนดื้อยาก็ถ่ายทอดจากแม่ถึงลูกได้ แม้คนจะบอกว่า กินอาหารสุกๆ ไม่ติดเชื้อ แต่ยังมียีนที่สะสมอยู่ในลำไส้เรา ถ้าเราอ่อนแอ ก็มีปัญหา"
ส่วน รัตนศิริ เสนอทางออกที่ภาครัฐสามารถดำเนินการได้ ก็คือ ควรมีการกำหนดนโยบายการเปิดเผยข้อมูลการเลี้ยงสัตว์และการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ ผ่านทางฉลากบนผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ เพื่อคืนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลและการเลือกบริโภคของประชาชน
“เราไม่ได้รณรงค์ให้ทุกคนเป็นวีแกน แต่ให้ตระหนักรู้ในอาหารที่กินคืออะไร เราอยากเชื่อมโยงการกินให้ดีต่อสุขภาพและกินอย่างเข้าใจวัฒนธรรม"
..........................
หมายเหตุ :
ข้อมูลส่วนหนึ่งจากเอกสารวิสัยทัศน์ของกรีนพีซเรื่อง ระบบเนื้อส้ัตว์และผลิตภัณฑ์นมถึงปี พ.ศ. 2593
ร่วมลงชื่อเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่มาจากเกษตรกรรมเชิงนิเวศและยั่งยืนได้ที่ https://act.gp/2FqV82F