ครม.ตั้งพม.เจ้าภาพหลักสางปัญหาค้ามนุษย์
ครม.ตั้งพม.เจ้าภาพหลักแก้ปัญหาค้ามนุษย์ หลังรับทราบรายงานค้ามนุษย์ไทยปี 62 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ชี้ยังต่ำกว่ามาตรฐานอยู่ "เทียร์ 2" เหมือนเดิม
เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.มีมติรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เผยแพร่รายงานการค้ามนุษย์ หรือ Trafficking in Persons Report (TIP Report) ประจำปี 2562 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 โดยจัดระดับประเทศต่างๆทั่วโลก รวม 187 ประเทศ
สาระสำคัญสรุปได้ว่าประเทศไทยยังไม่สามารถขจัดปัญหาการค้ามนุษย์ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายสหรัฐอเมริกา แต่ได้เพิ่มความพยายามอย่างสำคัญในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์โดยรวมมากยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงการรายงานที่ผ่านมา
ดังนั้น ประเทศไทยจึงยังคงถูกจัดระดับอยู่ในระดับ 2 (Tier 2) เช่นเดียวกับปี 2561 โดยประเทศในอาเซียนที่อยู่ในระดับ Tier 2 คือ สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ทั้งนี้ การดำเนินงานที่สำคัญของประเทศไทยที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่เพิ่มขึ้น เช่น การกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์อย่างเข้มงวดด้วยการจำคุกเป็นเวลานานและตัดสินลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ด้วยการให้ออกจากราชการ การดำเนินการคัดแยกและส่งต่อผู้เสียหายไปยังทีมสหวิชาชีพเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สามารถคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้
พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถบรรลุมาตรฐานขั้นต่ำในหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น การดำเนินคดีและตัดสินลงโทษผู้ค้ามนุษย์มีจำนวนลดลง และสามารถไต่สวนคดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานได้เพียง 43 คดี รัฐบาลจำกัดการเดินทางและช่องทางการสื่อสารของผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่อยู่ในสถานคุ้มครองของรัฐ การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถคัดแยกคดีค้ามนุษย์อย่างได้มาตรฐาน สม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน
ดังนั้นกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จึงได้มีข้อเสนอแนะนำที่สำคัญ เช่น พัฒนาศักยภาพของผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการเชิงรุกในการดำเนินคดีและตัดสินโทษผู้ค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน สอบสวนและดำเนินคดีในเชิงรุกกับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์รวมทั้งตัดสินและลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยบทลงโทษที่เด็ดขาด
ทั้งนี้กระทรงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)จะได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อพิจารณาข้อแนะนำที่สำคัญดังกล่าว และมอบเจ้าภาพหลักรับผิดชอบในแต่ละประเด็น และใช้ในการติดตามผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งใช้เป็นกรอบในการจัดทำรายงานของประเทศไทยในปีต่อไป