อดีตรมต. 'เชาวรินธร์' เผยก่อนเข้าเรือนจำ ขณะศาลฎีกาสั่งคืนเงินโกง 11 ล้าน
เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สั่งจำคุกอดีตรมต. "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" พร้อมให้คืนเงินโกง 11 ล้าน เจ้าตัวเผยก่อนเข้าเรือนจำ แค่ทำหน้าที่รับโอนเงินเพื่อจะจัดสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม
ที่ห้องพิจารณา 907 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาฎีกา คดีฉ้อโกงเงินซื้อขายปูน ของบริษัท บี.พี.ซี เทรดดิ้ง จำกัด (ประเทศกัมพูชา) คดีหมายเลขดำ อ.639/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 และ บจก.บี.พี.ซีฯ ผู้เสียหาย ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง "ร.ต.ท.เชาวรินธร์ ลัทธศักดิ์ศิริ" อายุ 72 ปี อดีต รมช.ศึกษาธิการ และ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา.) มาตรา 341 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 3 , 14 (1) , 17 (1)
โดยคดีนี้ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 27 ก.พ.58 พฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค.57 บจก.บี.พี.ซี.ฯ ประเทศกัมพูชา ได้สั่งซื้อสินค้าจำพวกปูนซิเมนต์ จากบริษัท ทีพีไอโพลีนพับบลิค จำกัด (ประเทศไทย) โดยทำใบสั่งซื้อส่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ในลักษณะอีเมล (E-Mail) และ บจก.ทีพีไอโพลีนฯ ได้ออกหลักฐาน ใบเก็บเงินค่าสินค้า แจ้งให้ บจก.บี.พี.ซี.ฯ โอนเงินค่าสินค้าจำนวน 352,781 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 11,428,308.40 บาท ผ่านบัญชีเงินฝาก ธ.ทหารไทยฯของ บจก.ทีพีไอโพลีนฯ แต่ระหว่างวันที่ 6 - 9 พ.ค.57 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใบเก็บเงินค่าสินค้าเสียใหม่ เป็นว่า ให้ บจก.บี.พี.ซี.ฯ โอนเงินค่าซื้อปูนซิเมนต์ จำนวน 11,428,308.40 บาท ผ่านเข้าบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย สาขารัฐสภา ชื่อ Thai and Chinese Bhuddhist Culture (สมาคมวัฒนธรรมวิถีพุทธไทย-จีน) ที่มีจำเลยเป็นนายกสมาคมฯ โดยทุจริต เป็นการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ จนทำให้บจก. บี.พี.ซี.ฯ หลงเชื่อว่าเป็นบัญชีของบจก. ทีพีไอโพลีนฯ ผู้เสียหายที่ 2 จนมีการโอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวที่เป็นของจำเลยกับพวก แล้วต่อมาจำเลยได้โอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง เหตุเกิดขึ้นที่แขวง-เขตดุสิต
ขณะที่ "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" จำเลยต่อสู้คดี โดยให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยศาลชั้นต้น มีคำพิพากษาวันที่ 27 ก.ย.59 ให้จำคุก 1 ปี 6 เดือน ในความผิดยักยอกทรัพย์ ตาม ป.อาญา มาตรา 352 วรรคสอง เนื่องจากเห็นว่าการกระทำของจำเลยยังไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฉ้อโกง แต่พฤติการณ์ที่จำเลยเบิกเงินกว่า 11 ล้านบาทจากบัญชีที่บริษัทกัมพูชา โจทก์ร่วมโอนผิด โดยไม่ยอมคืนเงิน แต่โอนเงินแยกบัญชีให้ตัวเองและเจ้าหนี้แสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริต ซึ่งการกระทำนั้นเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ พร้อมให้จำเลยคืนเงินค่าชำระสินค้า 11,428,308.40 บาท แก่ บจก.บี.พี.ซีฯ โจทก์ร่วมด้วย ซึ่ง "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" ได้ยื่นอุทธรณ์คดี โดยได้ประกันตัวไปในวงเงิน 1 ล้านบาท ต่อมาได้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 ม.ค.60 เห็นว่าการที่จำเลยดำเนินการแก้ไขนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลในส่วนของบัญชีธนาคารอันเป็นเท็จ จนบจก.บี.พี.ซี โอนเงินเข้าบัญชีดังกล่าวแล้ว วันรุ่งขี้นจำเลยได้เบิกถอนเงินออกไปจากบัญชีทั้งหมด โดยมีการโอนเงิน 10,742,600 บาท เข้าบัญชีเงินฝาก ธ.กรุงไทย สาขาสีลม ของบุคคลหนึ่ง โดยอ้างว่าเพื่อชำระหนี้เงินกู้และค่าสั่งซื้อไวน์ 42,600 บาท กับโอนเงินส่วนที่เหลือเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย เป็นเงิน 685,708.40 บาท โดยอ้างว่าเพื่อใช้หนี้ที่จำเลยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่ายในการก่อสร้างรูปเคารพพระแม่โพธิสัตว์เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งยักย้ายเงินดังกล่าวจำเลย เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของจำเลยแทบทั้งสิ้น และเป็นการกระทำโดยเร่งรีบย้ายเงินออกจากบัญชี ซึ่งผิดปกติวิสัยในการจัดการเงินบริจาค การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ฯ และข้อหาฉ้อโกง ป.อาญา ตามมาตรา 341
ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องในข้อหานี้แต่ลงโทษในข้อหายักยอกทรัพย์นั้นไม่เห็นพ้องด้วย ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ให้จำคุก "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" 3 ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 จึงจำคุกจำเลย 2 ปี และให้คืนเงินแก่ บจก.บี.พี.ซีฯ ด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดย "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" ได้ยื่นประกันตัวระหว่างฎีกา ซึ่งศาลก็อนุญาต ตีราคาประกัน 1 ล้านบาท ชั้นฎีกาจำเลยสู้ว่า อัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง , และบจก.บี.พี.ซีฯ ไม่ใช่ผู้เสียหาย เนื่องจากเงินที่โอนมาเป็นของบริษัท ซกเฮงฯ ซึ่งวันนี้ "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" จำเลย เดินทางมา กับบุตรชายและคนใกล้ชิด 5-6 คน พร้อมฟังคำพิพากษาศาลฎีกา
ขณะที่ "ศาลฎีกา" ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คดีการกระทำเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทย และประเทศกัมพูชาซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) มาตรา 20 ให้อัยการสูงสุด มีอำนาจมอบหมายให้พนักงานสอบสวนคน หรือพนักงานอัยการคนใดที่ได้รับมอบหมายเป็นพนักงานสอบสวน ซึ่งอัยการสูงสุดมอบอำนาจให้พนักงานสอบสวน สน.ดุสิต ดำเนินการสอบสวนร่วมกับอัยการ มี ผกก.สน.ดุสิต รับผิดชอบสำนวน เมื่อดำเนินการแล้วส่งให้อัยการยื่นฟ้อง การสอบสวนจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว โจทก์มีอำนาจฟ้อง ส่วนกรณีจำเลยฎีกาสู้ว่า บจก.บี.พี.ซีฯ ผู้เสียหายที่มาเป็นโจทก์ร่วมนั้นไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะเงินที่โอนเข้าบัญชีนั้นเป็นของบริษัท ซกเฮงฯ
"ศาลฎีกา" เห็นว่า ตามคำเบิกความของกรรมการบริษัทโจทก์ร่วม ได้ความว่าบริษัท ซกเฮงฯ เป็นบริษัทในเครือโจทก์ร่วมที่ได้รับมอบหมายให้โอนเงินเข้าบัญชีตามที่จำเลยแจ้ง จึงฟังได้ว่าเงินที่จำเลยเบิกถอนไปจากบัญชีนั้นเป็นของโจทก์ร่วม บจก.บี.พี.ซีฯ จึงเป็นผู้เสียหาย ตาม ป.วิ อาญา มาตรา 2(4) แล้ว และที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้น้้น "ศาลฎีกา" เห็นว่าเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนฎีกาประเด็นอื่นไม่อาจทำให้ผลเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น "ศาลฎีกา" จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยเป็นเวลา 2 ปี และให้คืนเงิน 11,428,308.40 บาท แก่บริษัทโจทก์ร่วมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังฟังคำพิพากษาฎีกาถึงที่สุดตามกฎหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ควบคุมตัว "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" เพื่อเตรียมส่งไปขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รับโทษตามคำพิพากษาต่อไป ขณะที่ "ร.ต.ท.เชาวรินธร์" เปิดเผยสั้นๆ ก่อนถูกควบคุมตัวว่า ตนมีความเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ส่วนตัวยืนยันว่าไม่ได้ฉ้อโกง เพราะตนเคยเป็น ส.ส.และรัฐมนตรีหลายสมัย กรณีนี้ตนเพียงแต่ทำหน้าที่รับโอนเงินเพื่อจะจัดสร้างองค์เจ้าแม่กวนอิม ที่ตนมีตำแหน่งนายกสมาคมฯ อยู่เท่านั้นเอง