เรียกร้องสิทธินักโทษข้ามเพศ

เรียกร้องสิทธินักโทษข้ามเพศ

“กลุ่มคนข้ามเพศ” ยื่น “กสม.” ประสาน “ราชทัณฑ์” อนุญาตให้นักโทษข้ามเพศเข้าถึงฮอร์โมน ยันใช้เพื่อสุขภาพไม่ใช่สวยงาม ฟ้องคณะเภสัช ม.พายัพ ห้ามนักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ

เมื่อวันที่ 15 ก.ค.62 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระเรื่องสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ และนายนพนัย ฤทธิวงศ์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กรมูลนิธิเพื่อพนักงานบริการ นำรายชื่อเครือข่ายภาคประชาชน 134 ชื่อ เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผ่านนางอังคณา นีละไพจิตร ให้ศึกษาและประสานไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อให้นักโทษที่เป็นคนข้ามเพศได้รับสิทธิในการเข้าถึงฮอร์โมน

นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า แม้ในบางเรือนจำจะคัดแยกนักโทษที่เป็นคนข้ามเพศทั้งที่ได้รับการผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ให้ไปอยู่รวมกับนักโทษหญิง ส่วนที่ยังไม่ได้รับการผ่าตัด ยังมีการขังรวมกับนักโทษชาย เพียงแต่มีการแยกห้อง แต่ยังมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงฮอร์โมน โดยทางกรมราชทัณฑ์จะมองในมุมเรื่องความสวยงาม ทั้งที่ข้อเท็จจริงนั้น คนที่ยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศ ก่อนเข้าเรือนจำได้เริ่มใช้ฮอร์โมน เมื่อต้องหยุดกินฮอร์โมนก็จะทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวน ขณะที่คนที่ผ่าตัดแปลงเพศแล้ว ไม่มีลูกอัณฑะที่เป็นตัวผลิตฮอร์โมน จะเหมือนผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองจำเป็นต้องได้รับฮอร์โมน ซึ่งก็จะเป็นตัวเดียวกับที่คนข้ามเพศใช้อยู่ แต่หากขาดฮอร์โมนก็จะมีปัญหาเรื่องอารมณ์และสุขภาพ ผมร่วง น้ำหนักเพิ่มขึ้น และบางรายอารมณ์แปรปรวนจนอาจเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะวิวาท จึงอยากให้คณะกรรมการสิทธิฯ ช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังข้ามเพศสามารถเข้าถึงฮอร์โมน และบริการสาธารณสุขด้านอนามัยเจริญพันธุ์

“จากสถิติปี 61 ผู้ต้องขังทั่วประเทศประมาณ 364,000 คน มีผู้ต้องขังข้ามเพศ 4,362 คน ฮอร์โมนสำหรับคนข้ามเพศถือเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ต่างจากผ้าอนามัยของผู้หญิง การที่ผู้ต้องขังที่เป็นคนข้ามเพศ ไม่สามารถเข้าถึงฮอร์โมนได้กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่เรือนจำแสวงหาผลประโยชน์ จากการสัมภาษณ์ผู้ต้องขัง พบว่าบางคนระบุว่าหากต้องการใช้ฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด ที่ซื้อได้ในราคา 30 บาท ก็จะให้เจ้าหน้าที่เรือนจำไปหาซื้อมาให้ แต่จะคิดราคาสูงถึง 500 บาท โดยใช้แลกเปลี่ยนกับสินค้าในสหกรณ์ที่ผู้ต้องขังมีสิทธิได้รับ” นายศิริศักดิ์กล่าวและขอให้ กสม.ตรวจสอบกรณีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ไม่อนุญาตให้นักศึกษาที่เป็นผู้ชายข้ามเพศ และผู้หญิงข้ามเพศ แต่งชุดนักศึกษาและชุดครุยตามเพศสภาพ โดยอ้างว่าหากแต่งกายตามเพศสภาพจะถือว่าแต่งกายไม่สุภาพเรียบร้อย และอาจทำให้ถูกหักคะแนนความประพฤติ ซึ่งอาจจะทำให้หมดสิทธิ์สอบ

ด้านนางอังคณา กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น กรณีคนข้ามเพศก็จะมีการแยกห้องให้ รวมถึงสับเปลี่ยนเวลาในการอาบน้ำ แต่กรณีการใช้ยาฮอร์โมน ทางเรือนจำยังมองในเรื่องของความสวยความงาม ไม่ใช่เรื่องของสุขภาพ ซึ่งทางกสม.เคยแต่ประสานกับทางเรือนจำกรณีผู้ต้องขังที่ต้องรับยาต้านเชื้อเฮชไอวี จนทางเรือนจำยอมให้ผู้ต้องขังเก็บยาไว้กับตัว เพื่อที่จะได้ทานยาตรงตามเวลา สำหรับกรณีเรื่องการแต่งกายของนักศึกษาข้ามเพศ กสม.เคยมีข้อเสนอไปหลายครั้ง และในหลายสถาบันการศึกษาก็มีการเปิดกว้างให้นักศึกษาแต่งกายตามเพศสภาพ ขนาดรัฐสภาก็มีการอนุญาตให้ส.ส.แต่งกายตามเพศสภาพได้ ซึ่งปัญหาที่มีการร้องเรียนก็จะมีการประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่อไป