"ภท.” จัดเวทีฟังร่างกม.กัญชาครั้งที่ 4 เสนอตั้งสถาบันพืชยาเสพติด - ปลดล็อคกัญชาเพื่อใช้ทางพาณิชย์ - ให้สิทธิ์1 บ้านปลูก 6 ต้น
ที่พรรคภูมิใจไทย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญํติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเสรีกัญญา ตามนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอช่วงหาเสียงเลือกตั้ง โดยมีนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมแสดงความเห็น ทั้งนี้เวทีรับฟังความเห็นดังกล่าว จัดเป็นครั้งที่4 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนนำเสนอร่างกฎหมาย ที่จัดทำไว้ 2 ฉบับเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ก่อนปิดสมียประชุมสภาฯ วันที่ 18 กันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงาว่าสำหรับร่างกฎหมายที่พรรคภูมิใจไทยเตรียมเสนอ จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) มีสาระสำคัญคือ มาตรา 4 ให้แก้ไขมาตรา 26/2 โดยเพิ่ม (4) คือ ปลดล็อคการผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 5 คือ กัญชา, พืชกระท่อม, พืชฝิ่น, ทุกส่วนของพืชกัญชา , ทุกส่วนของพืชกระท่อม ในกรณีเพื่อประโยชน์สำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ และให้สิทธิบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยสามารถปลูกพื่อการบริโภคส่วนบุคคล , รักษาทางการแพทย์ , ผลิต, จำหน่าย ไม่เกิน 6 ต้นต่อครอบครัว ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแล และการบริหารของสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย และเสนอแก้ไข มาตรา26/5 ให้สิทธิสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถขอใบอนุญาตเป็นผุ้ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภทที่5
และ 2.ร่างพ.ร.บ.สถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย เพื่อจัดตั้งสถาบันพืชยาเสพติดฯ ที่มีนายกฯเป็นประธาน, และมีกรรมการ 26 คนอาทิ รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และเปิดให้บุคคลภายนอกที่มาจากกรรมการสภาสถาบัน, ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนเกษตรกรและผู้แทนผลิตยา สัดส่วน 6 คนร่วมเป็นกรรมการ นอกจากนั้นให้ตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้วย
ขณะที่หน้าที่ของคือศึกษาวิจัย วิเคราะห์ และพัฒนาพืชยาเสพติ, ออกใบอนุญาตให้ประชาชน, รับซื้อพืชยาเสพติดและผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย, เผยแพร่ สนับสนุน อบรม ศึกษา ส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนายาเสพติด ทั้งนี้ยังให้อำนาจสถาบันฯ ที่สอดคล้องกับหน้าที่ อาทิ จัดให้มีกองทุน, ทำความตกลงและทำความร่วมมือด้านการพัฒนาพืชยาเสพติดกับองค์กร หรือหน่วยงานภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงมีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หรือทรัพย์สิน สร้าง ซื้อ จ้าง รับจ้างเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ขณะที่เวทีรับฟังความเห็นถูกตั้งข้อสังเกตจากผู้เข้าร่วม อาทิ น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. ให้ความเห็นว่าสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย ตามร่างกฎหมายมีเนื้อหาที่ผูกขาด เพราะมีหน้าที่เป็นองค์กรที่กำกับดูแลแทนรัฐ ขณะเดียวกันตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับแก้ไขล่าสุด ปลดล็อคกัญชาให้ใช้เป็นยา และใช้ทางการแพทย์ แต่การควบคุมที่เข้มข้นทำให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้าน หรือรัฐวิสาหกิจชุมชนไม่สามารถปลูกได้ หากไม่ทำสัญญากับรัฐ อย่างไรก็ตามในร่างกฎหมายที่สนับสนุนให้ทำวิจัย แต่แพทย์แผนไทยและหมอพื้นบ้านยังถูกผูดขาด คือ ไม่สามารถปลูกได้ ดังนั้นเพื่อให้ร่างกฎหมายบังคับใช้ได้จริง ควรเขียนบทบัญญัติว่าด้วยการผูกขาดโดยรัฐ 5 ปี และกำหนดให้แพทย์แผนไทย หมอพื้นบ้านสามารถปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ได้ นอกจากนั้นแล้วควรส่งเสริมเรื่องสิทธิบัตรยาที่ผลิตโดยหมอพื้นบ้าน และ แพทย์แผนไทย เพื่อให้ยาที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้โดยแพทย์แผนปัจจุบันที่ยึดการใช้ยาเฉพาะยาที่จดสิทธิบัตรของต่างประเทศ นอกจากนั้นต้องยกระดับและพัฒนาหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย ให้ทัดเทียมหมอแผนปัจจุบันด้วย
“การเสนอให้มีสถาบันพืชเสพติดฯ กำหนดว่าจะเป็นหน่วยงานเพื่อรับซื้อ ตามนโยบายที่กำหนดให้ปลูกในครอบครัว ไม่เกิน 6 ต้น จะผูกขาดการขายให้เฉพาะสถาบันฯ ส่วนแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านต้องซื้อกัญญาจากสถาบันเท่านั้นหรือไม่ ขณะที่เสรีของการปลูกโดยแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านจะดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ไม่ควรตั้งสถาบันฯ เพื่อให้ผูกขาดการรับซื้อหรือขายทั้งหมด ขณะที่โครงสร้างของสถาบันยังไม่ชัดเจน และอาจมีความกังวลเรื่องการตรวจสอบได้” น.ส.รสนา กล่าว
ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ นักวิชาการสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นด้วยว่าสถาบันพืชยาเสพติดฯ ถือเป็นองค์กรที่คล้ายกับองค์กรมหาชน แต่ทำหน้าที่เป็นฝ่ายควบคุมเหมือนกับสถาบันว่าด้วยฝิ่นที่เป็นองค์กรควบคุมฝิ่นในอดีต อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายที่เตรียมเสนอ ควรบัญญัติเนื้อหาที่ว่าด้วยการส่งเสริมแพทย์แผนไทย และหมอพื้นบ้านด้วย เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีองค์ความรู้
“ขอให้ร่างกฎหมายปลดล็อคหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทย ทั้งการปลูกกัญชาเพื่อผลิตในสถานพยาบาลของตนเอง รวมถึงยกระดับหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทยให้เป็นหมอพื้นบ้านด้านกัญชา หากทำแบบนี้เชื่อว่าประเทศไทยรอด และหากจะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนควรยกเลิกการผูกขาด 5 ปี” นายปานเทพ กล่าว
ขณะที่นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวสนับสนุนให้มีสถาบันพืชยาเสพติดแห่งประเทศไทย แต่ในมาตรการที่เกิดขึ้นควรพิจารณาถึงการให้ไลเซ่นเพื่อควบคุมและกำหนดมาตรฐาน เมื่อพบว่าการผลิตไม่ได้มาตรฐานสามารถใช้มาตรการยึดไลเซ่นได้ นอกจากนั้นอยากให้พิจารณาถึงการกำหนดราคากลางเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วย.