เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 ปัญหาระบบ“จัดสรรปันส่วนผสม”

 เปิดผลวิจัยเลือกตั้ง 24 มี.ค.62  ปัญหาระบบ“จัดสรรปันส่วนผสม”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงผลวิจัย เรื่อง “ปัญหาของระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 และปัญหาการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 และแนวทางแก้ไข"

โดย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี มธ.เป็นตัวแทนในการแถลง วานนี้(26ก.ย.) ว่า ได้เก็บข้อมูลวันเลือกตั้ง จากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง 3,250 คน ใน 4 ภาค 20 จังหวัด และเก็บข้อมูลจาก ผู้สมัครรับเลือกตั้ง 73 คนจาก 40 พรรคการเมือง การสนทนากลุ่ม 5 ครั้ง ใน 4 ภาค รวมถึงสอบถามผู้ปฏิบัติงานสำนักงาน กกต. จังหวัด สำนักงาน กกต.เขต กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้นำพรรคการเมืองใหญ่ 5 พรรค(เพื่อไทย พลังประชารัฐ อนาคตใหม่ ภูมิใจไทย และประชาธิปัตย์) จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และสรุปผลการศึกษา ได้เป็น 5 ประการ ประกอบด้วย

14

1.ปัญหาของระบบเลือกตั้งแบบ จัดสรรปันส่วนผสมเบื้องต้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พยายามอธิบายว่าเป็นระบบการเลือกตั้งที่ง่าย แต่จากการศึกษาวิจัยพบปัญหา 7 ประการประกอบด้วย

(1) ปัญหาความยุ่งยากในการคำนวณจำนวน ส.ส.เนื่องจากระบบเลือกตั้งแบบนี้มีเพียงคะแนนเดียว ทำให้การคำนวณจำนวนที่นั่ง ส.ส.ที่แต่ละพรรคจะได้รับ และจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อมีความยุ่งยากและซับซ้อนกว่าการเลือกตั้งแบบมีบัตร 2 ใบ 

นอกจากนี้ วิธีการคำนวณหาจำนวน ส.ส.มีการตีความว่า สามารถคำนวณได้หลายวิธี และกกต.ไม่ได้ประกาศวิธีการคำนวณให้ชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สูตรการเลือกตั้ง มีความเกี่ยวข้องกับการตั้งรัฐบาลหรือไม่ 

ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ในการกำหนดจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค เปลี่ยนแปลงไปทุกครั้ง ที่มีการเลือกตั้งใหม่ หรือเลือกตั้งซ่อม เช่น กรณีการเลือกตั้งซ่อม เขต 8 จ.เชียงใหม่ ผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้ง แต่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม ทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทรักธรรม เป็น ส.ส.ได้เพียง 3 วัน ด้วยเหตุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ได้กำหนดให้หากมีการเลือกตั้งใหม่ ภายใน 1 ปี จะต้องมีคำนวณสัดส่วนส.ส.กันใหม่

(2) ประชาชนไม่สามารถเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อแตกต่างคนละพรรคได้อีกต่อไปจากการสุ่มตัวอย่างจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งพบว่า 35.08% เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาดังกล่าว เนื่องจากผู้สมัครอยู่ในพรรคที่ชอบ หรือพรรคส่งผู้สมัครที่ชอบ แต่มีผู้ที่ต้องตัดสินใจเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง สูงถึง 64.9% หมายความว่าปัญหานี้มีอยู่จริง 

โดยประชาชนที่ประสบปัญหานี้จะเลือกจากพรรคมากกว่าเลือกจากผู้สมัคร ซึ่งสอดคล้องกับการเก็บข้อมูลที่พบว่าประชาชนตัดสินใจโดยเลือกเพราะนโยบายพรรค 42.1% เลือกเพราะผู้สมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 10.36% และ 33.9% เลือกจาก ว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค

(3) เกิดความขัดแย้งภายในพรรคการเมือง ระหว่างผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ เนื่องจากคะแนนแบบเบ่งเขตจะนำมาคิดเป็นจำนวน ส.ส.พึงมีทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งลึกๆ เพราะผู้สมัครแบบเบ่งเขตที่สอบตกรู้สึกว่าตนเองต้องเหนื่อยในการหาเสียง แต่ผลที่ได้ไปตกกับผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อที่ได้เป็น ส.ส. จากการเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก พบว่าพรรคอนาคตใหม่มีปัญหานี้มากที่สุด 

เนื่องจากมีส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดและมากกว่าจำนวนส.ส.ระบบแบ่งเขตผู้สมัครแบบแบ่งเขต ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ไม่มีปัญหาดังกล่าวเลย เพราะไม่มีส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว

(4) จำนวนผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตมากเกินไปจนเกิดปัญหาการจัดการเลือกตั้ง ปัจจุบันมีจำนวนเฉลี่ยของผู้สมัคร 28 คนต่อเขตเลือกตั้ง ต่างจากการเลือกตั้งในอดีตที่มีจำนวนเฉลี่ย 6.5 คนต่อเขตเลือกตั้งเท่านั้น การที่มีจำนวนผู้สมัครในแต่ละเขตที่มากขึ้นถึงเกือบ 4 เท่า ทำให้การจัดการเลือกตั้งมีความยุ่งยากมากขึ้น และเกิดการใช้ทรัพยากรทุกอย่างเพิ่มขึ้น เช่น เอกสารแนะนำตัว และงานธุรการต่างๆ ที่ต้องจัดทำในปริมาณมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า เป็นต้น 

เมื่อผนวกกับการที่ผู้สมัครแบบแบ่งเขตพรรคเดียวกันมีหมายเลขแตกต่างกัน จึงเชื่อว่าเป็นผลโดยตรงที่ทำให้ในการเลือกตั้งคราวนี้มีบัตรเสียสูงถึง 5.57%

(5) ปัญหาผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งพรรคเดียวกันแต่ต่างหมายเลขกัน จากการเก็บข้อมูลพบว่าเรื่องนี้ก่อให้เกิดผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากบัตรเลือกตั้งทั้ง 350 เขตจะแตกต่างกันหมด ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งล่วงหน้า และในบัตรเลือกตั้งก็ไม่มีชื่อผู้สมัครด้วย ทั้งๆ ที่หมายเลขแตกต่างกัน แล้วทำให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเกิดความสับสน เรื่องหมายเลขของผู้สมัคร 

โดยจากการทำแบบสอบถาม แบบสุ่มตัวอย่างผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 42.38% ตอบว่า ตนเองลำบากมากขึ้นและค่อนข้างลำบาก สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับหัวหน้าพรรคการเมืองมีความคิดเห็นไปในทางเดียวกันว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อการหาเสียง

(6) มีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน โดยมีพรรคเล็กเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จำนวนพรรคการเมืองที่มีผู้สมัคร ส.ส.ได้รับเลือกตั้งมากถึง 27 พรรค ขณะที่ พรรคการเมืองขนาดเล็กจำนวนมาก ส่งครบทุกเขต หรือเกือบครบทุกเขต เป็นปรากฎการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะพรรคส่งผู้สมัครเพราะต้องการคะแนนมาคิดเป็นที่นั่งส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 

หรือ กรณีหัวหน้าพรรคของพรรคการเมืองขนาดเล็กใหม่ๆ จำนวนมากที่พอจะมีทุนก็มีการส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตโดยหวังว่าคะแนนจากทั้งประเทศจะทำให้ตนเองได้เป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผลลัพธ์ คือ มีพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เพียงคนเดียวถึง 13 พรรค จาก 27 พรรค ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้ง และนำมาซึ่งปัญหาในเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองและเสถียรภาพของรัฐบาล

(7) ปัญหาการซื้อเสียงที่กลับมามีบทบาทมากขึ้น ในอดีตจากการทำวิจัยที่ผ่านมาจะพบว่าเงินเข้ามามีปัจจัยน้อยลง เพราะพฤติกรรมของประชาชน คือ จะรับเงินจากทุกคนที่ให้ แล้วจะเลือกพรรคหรือคนที่อยากเลือก ส่งผลให้เงินมีบทบาทน้อยลงไปเรื่อยๆ แต่ครั้งนี้เนื่องจากคะแนนเหลือเพียงคะแนนเดียว และเป็นคะแนนที่ทุกคะแนนมีความหมาย ทำให้แรงจูงใจกับผู้สมัครและพรรคการเมือในการ “ใช้เงิน” เพิ่มขึ้นมาอีกครั้ง 

ดังที่ปรากฎจากการเก็บข้อมูลผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่ตอบว่าเงินเป็นปัจจัยหลีกต่อการตัดสินใจสูงถึง 9.15% เมื่อเทียบกับการเก็บข้อมูลในการเลือกตั้งปี 2554 มีผู้ตอบว่าเงินเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเพียง 4% เท่านั้น โดยมีหัวคะแนนทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรวบรวมรายชื่อไป “ขอเงิน” ซึ่งเท่าที่เก็บข้อมูลได้อยู่ที่หัวละ 700-1,000 บาท โดยในหลายพื้นที่มีกรณีที่หัวคะแนนจะหักเงินไว้ 100-200 บาท คนส่วนใหญ่คือ 55% ตอบว่าเงินไม่มีผลต่อการตัดสินใจ ประชาชนรับเงินทุกคนที่ให้แล้วเลือกคนที่อยากเลือก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้ตรงกัน ทั้งในการทำสนทนากลุ่มและจากหัวหน้าพรรคการเมือง

สำหรับความคิดเห็นของผู้นำพรรคการเมืองในเรื่องระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม และหมายเลขผู้สมัครพรรคเดียวกันที่เป็นคนละหมายเลขกันนั้น มีความเห็นที่แตกต่างกันระหว่างพรรคฝ่ายรัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้าน 

โดยผู้นำพรรคที่เป็นรัฐบาล คือ พรรคพลังประชารัฐที่ให้สัมภาษณ์เชิงลึก เห็นด้วยกับเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียว ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคเพื่อไทยและพรรคอนาคตใหม่ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าต้องมีการแก้ไข 

สำหรับผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เห็นสอดคล้องกับพรรคฝ่ายค้านว่า ควรต้องแก้ไข ส่วนผู้นำพรรคภูมิใจไทย แม้จะเห็นว่าระบบเป็นปัญหา แต่ท่าทีอาจจะยังไม่ชัดเจนว่า ควรแก้ไขหรือไม่ 

แต่เรื่องหมายเลขผู้สมัครที่พรรคเดียวกันแต่หมายเลขต่างกันเห็นไปในทางเดียวกันเกือบทุกพรรคว่า ต้องแก้ไข มีเพียงพรรคพลังประชารัฐที่เห็นต่างออกไป

2.ปัญหาเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีปัญหามากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมาซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. 2561 และ ระเบียบของ กกต.หลายฉบับ โดยจากการเก็บข้อมูลพบปัญหาตามลำดับ ดังนี้

(1) ปัญหาบัตรเลือกตั้ง การที่มีผู้สมัครมากทำให้ตัวหนังสือเล็กและช่องกากบาทที่มีอยู่ห่างจากหมายเลขทำให้มีการกากบาทผิด โดยมีการกาในช่องเครื่องหมายพรรคและกลายเป็นบัตรเสีย

(2) ปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากจำนวนเขตเลือกตั้งลดลงเหลือเพียง 350 เขตและต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งกันใหม่ ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ได้มีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2561 ที่ให้อำนาจ กกต.ในการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งโดยไม่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็น ทำให้เกิดข้อสงสัยเรื่อง Gerrymandering คือ การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม

(3) ปัญหาที่เกิดจากการขยายเวลาการปิดหีบเลือกตั้ง เป็น 8.00-17.00น. แม้จะมีเจตนาให้ประชาชนได้มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้มากขึ้น แต่จากการเก็บข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง พบว่าการเริ่มนับคะแนน ต้องไปทำในตอนเวลาใกล้ค่ำ ทำให้การดำเนินกระบวนการเลือกตั้งยุ่งยากมากขึ้น คิดว่าเป็นปัญหาที่ควรมีการแก้ไข 

เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ มีเพียง 74.69% น้อยกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา การขยายเวลาปิดหีบจึงไม่น่าจะได้ผลตามที่ตั้งใจ

(4) ปัญหาที่เกิดในการจัดการเลือกตั้งหน้า เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่จากการเก็บข้อมูลพบว่า มีปัญหาหลายประการ เช่น การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ใช้ทรัพยากรทั้งคนและงบประมาณมาก โดยเฉพาะการเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งนอกเขตเลือกตั้งและในเขตเลือกตั้ง

(5) ปัญหารายงานผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ (Rapid Report) พบว่าเกิดความคลาดเคลื่อนมาก ทำให้สับสนและยิ่งกระทบต่อความเชื่อถือ กกต. ซึ่งสาเหตุมาจาก มีผู้สมัครจำนวนมาก และทุกเขตมีผู้สมัครมากกว่าเดิมถึง 4 เท่า

3.ปัญหาเรื่องโครงสร้างและบุคลากรในการจัดการเลือกตั้งและการตรวจสอบการเลือกตั้งพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานในหน่วยงาน และส่งผลโดยตรงต่อการจัดการเลือกตั้งหลายประการ ดังนี้

(1) การยกเลิก กกต.จังหวัด และให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแทน แม้จะมีข้อดี คือทำให้การบริหารจัดการในระดับจังหวัดทำได้เร็วขึ้น แต่มีข้อเสียตรงที่ ผอ.สำนักงาน กกต.จังหวัดทำงานยากขึ้น เพราะอาจไม่มีสถานะหรือการยอมรับ เพียงพอที่จะเทียบเท่า กกต.จังหวัดได้ 

ขณะที่ ผู้ตรวจการเลือกตั้งทำงานไม่บรรลุผลซึ่งเป็นปัญหาในเชิงระบบ ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ เพราะไม่มีสำนวนที่มาจากผู้ตรวจการเลือกตั้งเลย ทั้งหมดนี้นำมาสู่ข้อสรุป ที่เป็นข้อเท็จจริงว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่สามารถทำงานได้ตามวัตถุประสงค์

(2) การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง ทำให้กกต.ขาดภาคประชาชน ในการช่วยดูแลการเลือกตั้ง ปัญหาจึงมากขึ้นและความเชื่อถือยิ่งน้อยลง

(3) ผู้สังเกตการณ์ประจำหน่วยเลือกตั้ง จากพรรคการเมืองมีน้อยมาก สาเหตุเกิดจากการให้คิดค่าตอบแทนเป็นค่าใช้จ่ายของพรรค ไม่ใช่ของผู้สมัคร

4.ความรับรู้และความเข้าใจของประชาชนผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งจะเห็นได้ว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผลจากการสุ่มตัวอย่างสอบถามประชาชน 84.76% ตอบว่า ทราบเรื่องบัตรเลือกตั้ง เหลือใบเดียว แต่เมื่อถามถึงความเข้าใจเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง มีผู้ให้ข้อมูลเข้าใจดีเพียง 14.26% ตอบว่าพอเข้าใจ 60.71% และตอบเข้าใจน้อยและไม่เข้าใจเลย 25.03% 

แต่เมื่อถามลึกลงไป โดยใช้คำถามที่เป็นการวัดความรู้เรื่องระบบเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบว่าเข้าใจระบบเลือกตั้งจริงหรือไม่ กลับตอบว่า “ไม่แน่ใจ” คือ ไม่ตอบสูงถึง 47.76% โดยมีผู้ที่ตอบผิด 24.09% และตอบถูกเพียง 23.66%

5.ความพึงพอใจและความเชื่อมั่นต่อองค์กรที่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งโดยจากการเก็บข้อมูลด้วยการสุ่มตัวอย่างในวันเลือกตั้ง พบว่าประชาชน เชื่อมั่นต่อ กกต. 52.73% และไม่เชื่อมั่น 47.27% แม้จำนวนไม่ต่างกันมาก แต่ก็เห็นได้ว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นกกต.อย่างไร หากเก็บข้อมูลหลังจากนั้น มาจนถึงประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.เชื่อว่าจำนวนผู้เชื่อมั่น กกต.น่าจะลดลง

 นายปริญญา กล่าวถึง ข้อเสนอ แนวทางการแก้ไขปัญหาว่า 1.เมื่อสาเหตุหลัก คือ ตัวระบบเลือกตั้งที่ทำให้เกิดปัญหา จึงคิดว่าควรต้องมีการแก้ไข แต่จะแก้ไปสู่ระบบใด ยังเป็นประเด็นที่จะต้องมีการประชุมทางวิชาการ เพื่อหารือกันต่อไป โดยมี 2 ทางเลือก ระหว่างถอยไปหาแบบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งระบบคู่ขนาน ที่ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งได้ 2 คะแนน ทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อ 

ซึ่งระบบนี้พรรคการเมืองใหญ่ที่สุด จะมีความได้เปรียบ หรือจะใช้ระบบแบบเยอรมัน คือ ระบบสัดส่วนผสม ซึ่งไม่ได้ทำให้พรรคการเมืองใดได้เปรียบ เสียเปรียบ โดยให้ประชาชนมี 2 คะแนนเหมือนกัน แต่เอาคะแนนที่ประชาชนเลือกพรรคการเมือง มาคิดจำนวน ส.ส.รวม ไม่ใช่การเอาคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.เขต มาคิดจำนวน ส.ส.รวม

“ความเป็นไปได้ในการแก้ไขระบบเลือกตั้ง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่ง่ายนัก ไม่ต้องพูดถึงส.ว.เอาแค่ส.ส. เท่าที่ผมทำการสัมภาษณ์เชิงลึกมาพรรครัฐบาลเองเขาก็ไม่ได้เห็นด้วยว่าต้องมีการแก้ไข แต่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญมาก เรื่องใหญ่ที่สุด คือ ถ้าไม่แก้ระบบก็ต้องแก้ปัญหาตรงที่มีผู้สมัครมากเกินไป”

2.การแก้ไขเรื่องผู้สมัครที่มีจำนวนมากเกินไป ปัญหาผู้สมัครพรรคเดียวกันแต่ต่างหมายเลขกัน โดยแก้ไขพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ แม้จะมีบางพรรคการเมืองเห็นว่าที่ใช้อยู่นั้นดีอยู่แล้ว แต่ในการเก็บข้อมูลเห็นตรงกันว่าเป็นการสร้างปัญหามากกว่า จึงคิดว่าควรให้พรรคเดียวกันเป็นหมายเลขเดียวกันแบบเดิมน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า 

3.การจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ควรให้มีการเลือกตั้งนอกจังหวัดเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้เกิดความยุ่งยากน้อยกว่า 

4.แก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อปรับปรุงบัตรเลือกตั้งให้มีบัตรเสียน้อยลง 

5.เวลาปิดหน่วยเลือกตั้งควรกลับมาปิดเวลา 15.00น. หรือไม่เกิน 16.00น. 

6.เปลี่ยนผู้ตรวจการเลือกตั้งไปเป็น กกต.จังหวัด โดยให้มีแค่ช่วงเลือกตั้ง และ 7.ยกเลิกระเบียบยิบย่อยของ กกต.ที่เป็นอุปสรรค

“โดยสรุปการเลือกตั้งครั้งนี้ ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เป็นการเลือกตั้งที่มีปัญหามาก ซึ่งปัญหานั้นเกิดจากตัวระบบเลือกตั้ง ที่ใช้คะแนนแบบแบ่งเขตมาคิด ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และซ้ำยังให้มีการจับหมายเลขทุกเขตเลือกตั้ง ที่เป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด” 

"ควรมีการแก้ไขปัญหา ในการดำเนินการ ถ้าจะพูดถึงในแง่ของการทำให้สำเร็จก็ต้องเอาเรื่องที่ทำง่ายก่อน คือ การปรับปรุงบัตรเลือกตั้ง เพื่อให้บัตรเสียน้อยลง และการปิดหีบที่ควรให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม เป็นต้น และควรดำเนินการในบางประการ ก่อนจะมีการเลือกตั้งต่อไป เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งครั้งหน้า ต้องมีปัญหาเหมือนในคราวนี้” รองอธิการบดี มธ.สรุป