เลขากกต. แจงยังไม่เห็นคำร้องยุบ 7 พรรคฝ่ายค้าน หลังร่วมเวทีเสนอแก้รธน.ม.1 ต้องแยกแยะความผิดส่วนบุคคลกับพรรคการเมือง ระบุ ไม่เห็นนโยบายพรรคใดให้แบ่งแยกประเทศไทย คาด เดือนตค.นี้สรุปทุกสำนวนทุจริตเลือกตั้ง ไม่มีเตะถ่วง
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการกกต. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดเลือกตั้งใหม่ เขต 5 จ.นครปฐม ว่า ในการประชุมคณะกรรมการ กกต. เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานกกต.ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่าได้มีการตั้งคณะกรรมการลงไปดูแลในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุดสืบสวนหาข่าว การจัดการเลือกตั้ง พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการไต่สวนเตรียมไว้ล่วงหน้า แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเรื่องการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเข้ามา นอกจากนี้ทางผอ.กกต.จังหวัดได้ขอความร่วมมือไปยังสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ให้ประสานอนุญาตลูกจ้างได้มาใช้สิทธิในวันที่ 23 ต.ค.ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ รวมทั้งได้มีการเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ผู้มาใช้สิทธิออกมาใช้สิทธิให้มากๆ เนื่องจากในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเขตเลือกตั้งดังกล่าวมีผู้มาใช้สิทธิถึงร้อยละ 70 จึงขอให้ประชาชนร่วมกันรักษาสถิติของตนเองด้วย
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนร้องคัดค้านเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.62 ว่า กกต.กำลังพยายามเร่งรัด ทั้งนี้ในแต่ละสำนวนมีรายละเอียดจำนวนมาก การพิจาณาจึงต้องใช้ความรอบคอบ ใน 1 สำนวนจะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 5-6 เดือน รวมถึงกรณีที่กกต.เสนอให้ใบเหลืองให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขต 5 สมุทรปราการ หลังพบว่าคนใกล้ชิดของนายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ใส่ซองช่วยงานศพ อย่างไรก็ตาม กกต.จะพยายามเร่งรัดสำนวนคดีที่เหลือค้างอยู่ทั่งหมดให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อส่งให้คณะกรรมการกกต.พิจารณา และถ้ามีใบเหลือง ใบแดง ก็จะมีการทำคำวินิจฉัย ยกร่างคำฟ้อง ซึ่งจะใช้เวลา 30 วัน ก่อนที่จะส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา ส่วนศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาอย่างไรไม่สามารถกำหนดได้ แต่ตามกฎหมายกำหนดให้ศาลใช้สำนวนของกกต.เป็นหลักในการพิจารณาจึงต้องทำสำนวนให้ละเอียดรอบคอบ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวถึงกรณีที่มีการยื่นคำร้องยุบ 7 พรรคฝ่ายค้าน สืบเนื่องจากการขึ้นเวทีเสวนาแก้รัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้แก้ไขมาตรา 1 ซึ่งบัญญัติว่าประเทศไทยต้องเป็นรัฐเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ ว่า
ขณะนี้ตนยังไม่เห็นคำร้อง แต่ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง หากเป็นเรื่องของการร้องยุบพรรค ถือว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะพรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคล ประชาชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของพรรค เราต้องแยกการพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นการกระทำของพรรค หรือ การกระทำของตัวบุคคล มีการประชุมพรรคก่อนที่จะดำเนินการกระทำดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าการกระทำของตัวบุคคลไม่ใช่จะเอามาเกี่ยวเป็นการกระทำของพรรคโดยอัตโนมัติ แต่เท่าที่ดูจากข้อบังคับและอุดมการณ์ของพรรคที่ยื่นจัดตั้งพรรคการเมืองต่อกกต.ก็ไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มีนโยบายแบ่งแยกประเทศไทย