เปลี่ยนความคิด รื้อระบบยุติธรรม เปิดทางเลิกประหาร
ในโอกาสวันครบรอบ 17 ปี ของการประกาศวันต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งโลก (10 ต.ค.2545)
เครือมหาวิทยาลัย เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสถานทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย ร่วมจัดเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ในโอกาส “วันยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย” ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส
เนื้อหาในงานเสวนา ได้ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยคุ้นเคยกับโทษประหารชีวิต ที่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายมาอย่างยาวนานในระบบยุติธรรม จนกลายเป็นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางงสังคมว่าการประหารชีวิตจะสามารถยุติอาชญากรรมได้ เช่น การข่มขืน การค้ายาเสพติด นั่นทำให้การยกเลิกโทษประหารชีวิต จึงเป็นแนวคิดที่แปลกแยกและดูเหมือนไร้เหตุผล เพราะคนทั่วไปในสังคมไทย ยังมองว่า คนร้ายที่ฆ่าคนอื่นโดยเจตนา ควรถูกฆ่าให้ตายตกตามกันไป และหากลด หรือยกเลิกโทษประหารแล้วทำให้เกิดอาชญากรรมเพิ่มขึ้น ใครจะรับผิดชอบ
ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนในการจัดเสวนาครั้งนี้ ชี้ว่า ประเทศฝรั่งเศสต่อต้านการนำโทษประหารมาใช้ทุกวาระ ถือเป็นพันธกิจที่แน่วแน่ของเราและต่อเนื่อง เป็นภารกิจทางอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทั้งหมด ในขณะที่เรายังพบหลายประเทศยังมีการใช้โทษประหารโดยปราศจากการอภิปรายในที่สาธารณะ ซึ่งบางครั้งเพราะขาดประชาธิปไตย ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองยังนำโทษประหารมาใช้อย่างสม่ำเสมอ
"ขอยืนยันว่าโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำอมนุษย์ แทนที่จะมีการปกปักรักษาชีวิตมนุษย์ วิคเตอร์ อูโก กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรท้าทายกว่าความคิดที่มาถึงแล้ว” วันนี้ทางเลือกของพวกท่านมาถึงแล้วขออย่ารีรอที่จะต่อสู้"
ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ระบุ จากเหตุดังกล่าว งานเสวนาครั้งนี้ จึงต้องการเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศอาเซียนและประเทศไทย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมในการยุติโทษประหารชีวิต
ในงานเสวนาได้แบ่งออกเป็น 2 เวทีที่มีการอภิปรายต่อเนื่อง โดยเวทีแรกมีการอภิปรายเรื่อง “ยุติโทษประหารชีวิตในมุมมองสากล” จากนักกฎหมาย เจ้าหน้าที่องค์กรประชาสังคม และอดีตตุลาการจากต่างประเทศ โดย กิโยม สิมง นักกฎหมายจากฝรั่งเศส ระบุว่า การลงโทษด้วยการประหารชีวิต ไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าในรัฐบาลที่ยังใช้โทษประหารชีวิต จะให้เหตุผลว่า กฎหมายต้องเข้มงวดเพื่อทำให้ประชาชนกลัว แต่การทำเช่นนั้นไม่ได้ความหวาดกลัว แต่กลับทำให้ประชาชนชาชินมากกว่า
“เราควรนิยามคำว่า ‘โทษ’ คืออะไร เราสามารถลงโทษผู้กระทำผิดโดยทำให้เขาไม่มีสิทธิเสรีภาพแม้แต่จะมีชีวิตต่อไปได้หรือไม่ อีกมุมหนึ่ง หากใช้การประหารแล้วยาเสพติดหายไปได้ มันก็คงหายไปนานแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ฉะนั้น โทษประหารจึงไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะรัฐไม่ได้พิจารณาปัญหาอย่างถูกต้อง”
ด้านกรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต ฮานน์ โซฟี เกรฟ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะอดีตผู้พิพากษา ศาลอุทธรณ์ จากนอร์เวย์ ประเทศที่ประกาศยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยระบุว่า การเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินโทษประหารคนอื่นไม่ได้ต่างจากการทำหน้าที่เพชรฆาต ที่พาคนไปแขวนคอ สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกดี มีผู้พิพากษาหลายท่านที่เคยตัดสินโทษประหารชีวิตลาออกจากงานเพราะไม่ได้รู้สึกดี
“ในโลกนี้หากเราต้องการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตงอกงามและให้สังคมมีความกลมเกลียว เราต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต” ฮานน์ โซฟี เกรฟ ระบุ
จากนั้น การอภิปรายดำเนินต่อเนื่องไปถึงการเสวนาเรื่อง “ความจำเป็นและอุปสรรคในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย” โดยเริ่มจากทนายความสิทธิมนุษยชน สมชาย หอมลออ ได้ชี้ว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากจะคุ้มครองสิทธิของผู้อาจตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้คนอื่นในสังคม รวมถึงคนที่สนับสนุนการใช้โทษประหาร คนที่สนับสนุนความรุนแรงด้วย เมื่อกระบวนการยุติธรรมของเรายังมีข้อบกพร่องมาก โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น
บางคดีเกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษ มีการอำนาจควบคุมตัวโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล เช่น ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการซักถามที่เจ้าหน้าเรียกว่า ‘กรรมวิธี’ ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนพบการทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น คำรับสารภาพหรือคำซัดทอด แล้วให้ลงชื่อยืนยันว่าไม่มีการทรมาน จึงเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ได้สร้างหลักประกันให้ประชาชนไม่ต้องตกเป็นแพะ
“รัฐต้องมีเจตจำนงในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เราจะมีรัฐบาลที่มีความกล้าหาญเรื่องนี้หรือไม่” สมชาย กล่าว
อดีตประธานหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานนยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล รศ.อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ ชี้ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารเพราะให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และสิทธิที่จะดำรงตนของมนุษย์ แต่ข้อจำกัดของมนุษย์มี 3 เรื่องใหญ่ 1.ความเคยชินที่ฟังตามกันมา บอกว่าคดีรุนแรงต้องประหารให้หมด ทั้งที่ไม่ใช่ทางออกในทางอาชญาวิทยา 2.ทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 3.ความไม่รู้
“เราต้องสร้างความตระหนักและประกาศว่าต้องการยุติโทษประหาร โดยต้องมีข้อเสนอในทุกรูปแบบ เช่น ถ้าไม่ใช้โทษประหารจะใช้สิ่งไหนทดแทน, ฉายภาพความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ มีแนวร่วมในการรณรงค์และหากองทุนให้ความสำคัญต่อบทบาทภาคประชาสังคม สร้างเครือข่ายที่กว้าง หาบุคคลต้นแบบที่ถูกโทษประหารและลดโทษจนได้ออกไปทำประโยชน์ให้ชุมชน นำประเด็นที่ยุติแล้วมาวิเคราะห์” รศ.อัจฉราพรรณ กล่าว
ในช่วงสุดท้าย โคทม อารียา ตัวแทนจากเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ได้อ่านแถลงการณ์ 3 ข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และต่อสังคม
1.ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง
2.ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ 1. จำคุก 2. กักขัง 3. ปรับ 4. ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”
3.ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต