"หมอระวี" ลุยปฏิรูปพลังงาน เสนอ "รมว.พลังงาน" ถึงเวลาเปลี่ยนนโยบายก้าวสู่ยุคปฏิรูปพลังงาน เดินหน้า “1 โรงพยาบาลชุมชน 1 Solar Rooftop” ได้ผลดีถึงสี่ด้าน สร้างความมั่นคงทางพลังงาน-แก้ปัญหาโลกร้อน-ประหยัดค่าใช้จ่ายรพช.-เพิ่มศักยภาพดูแลสุขภาพปชช.
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.62 นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังธรรมใหม่ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีพลังงานและอธิบดีทุกกรมของกระทรวงพลังงาน ให้ผลักดันโครงการ "1 โรงพยาบาลชุมชน 1 Solar Rooftop" ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยใช้ Solar Rooftop ซึ่งมีผลดีต่อการลดการใช้พลังงานจากปิโตรเลียมมาเป็นการใช้พลังงานหมุนเวียน ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อน ปัจจุบันนโยบายกระทรวงพลังงานจะมีแผนขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นแต่ก็น้อยมาก โดยมีอัตราเพิ่มเพียงน้อยกว่า 1 % ต่อปี คือเพิ่มขึ้นเพียง 16 % ใน 17 ปีข้างหน้า จึงเห็นว่ากระทรวงพลังงานควรปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ ด้วยการตั้งเป้าเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอย่างน้อย 2-3 % ต่อปี
"ผมจึงเสนอให้เริ่มต้นที่โรงพยาบาลชุมชนด้วยโครงการ "1 โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) 1 Solar Rooftop" โดยใช้เงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานมาสนับสนุนด้านงบประมาณ เพราะ รพช.เกือบทุกแห่งมีอาคารที่มีดาดฟ้า หรือมีที่ว่างสามารถติดตั้ง Solar Rooftop หรือ Solar Farm ได้โดยหากดำเนินการได้ตามข้อเสนอนี้จะทำให้ทุก รพช.ประหยัดเงินค่าไฟฟ้าราว 50,000-100,000 บาทต่อเดือน สามารถนำเงินดังกล่าวไปสนับสนุนโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณได้ ถือเป็นผลดีสี่เด้ง คือได้ประโยชน์ทั้งเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน การแก้ปัญหาโลกร้อน ประหยัดงบประมาณให้รพช.และเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพประชาชน" นพ. ระวี กล่าว
นพ.ระวี กล่าวด้วยว่า แต่การติดตั้ง Solar Rooftop สำหรับ รพช. รัฐบาลต้องลงทุน 10-20 ล้านบาทต่อ รพช. ซึ่งในปัจจุบันกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ) มีโครงการ Matching fund ให้การสนับสนุนเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน อยู่ที่อัตรา 70:30 ทำให้ทุก รพช ที่ร่วมโครงการต้องจัดหางบประมาณ 30 % เป็นเงินราว 3-6 ล้านบาท กลายเป็นอุปสรรคที่โครงการทำได้ยาก ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงต้องปรับเปลี่ยนนโยบายก้าวสู่ยุคปฏิรูปพลังงานของประเทศด้วย Solar Rooftop ซึ่งถือว่าคุ้มค่าต่อการลงทุน การติดตั้ง Solar Rooftop ทุก รพช.ให้ได้ 100 % ภายใน 5 ปี โดยปีแรกจะใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาทสำหรับ 70 รพช จากเงินในกองทุนฯปี 63 ซึ่งมีอยู่กว่าหมื่นล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานต้องแก้เงื่อนไขการสนับสนุนโครงการ Solar Rooftop จาก 70:30 เป็นรัฐสนับสนุนทั้ง 100 % หากทำไม่ทันในปีงบประมาณ 2563 ก็ขอให้ทดลองทำโครงการนำร่องจำนวน 30 รพช.ก่อน ซึ่งสามารถทำได้ทันทีตามโครงการ Matching fund ที่มีการเตรียมการไว้