'มานะ' สงสัยไฮสปีดอืด 'พ่อค้าเกเร หรือ เล่ห์การเมือง'

'มานะ' สงสัยไฮสปีดอืด 'พ่อค้าเกเร หรือ เล่ห์การเมือง'

"มานะ" เลขาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โพสต์ถามไฮสปีด 3 สนามบินที่ล่าช้า เหตุจาก "พ่อค้าเกเร หรือ เล่ห์การเมือง"

เมื่อวันที่ 15 ต.ค.62 ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน(ประเทศไทย) โพสต์ข้อความผ่านเฟซ บุค "มานะ นิมิตรมงคล" ถึงปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน โดยตั้งชื่อเรื่องว่า "พ่อค้าเกเร หรือ เล่ห์การเมือง"

ดร.มานะ ระบุว่า เพื่อนนักข่าวถามมาว่า.. คิดอย่างไรกรณีรัฐมนตรีประกาศจะตัดสิทธิ์และขึ้นแบล็คลิสต์ กลุ่มบริษัท CPH หากไม่มาลงนามสัญญาก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินภายในกำหนด
เรื่องนี้มีหลายเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดา ..

1. คำขู่ขึ้น ‘แบล็คลิสต์’ ถ้าหมายถึงขึ้นบัญชีผู้ทิ้งงานตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ คงทำไม่ได้ เพราะโครงการนี้เป็นการประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนรัฐ – เอกชน หรือ พีพีพี ซึ่งไม่ได้กำหนดมาตรการ ‘แบล๊คลิสต์’ และ ‘การจัดเกรด’ ผู้เข้าประมูลไว้ คงต้องรอให้เขียนเพิ่มเติมในกฎหมายลูกต่อไป

ครั้นจะใช้คำสั่งกระทรวงหรือรัฐมนตรีหรือแม้แต่ มติ ครม. ก็ไม่แน่ใจว่าเอาอำนาจหรือกฎหมายอะไรมารองรับ
ขออธิบายเพื่อความเข้าใจว่า แบล็คลิสต์หรือบัญชีผู้ทิ้งงาน เป็นมาตรการลงโทษพ่อค้าเกเร ที่มาประมูลงานรัฐแล้วไม่ทำ ทำไม่ได้ ไม่ทำตามสัญญาหรือฉ้อโกง พูดง่ายๆ คือเอาเปรียบและทิ้งให้ราชการต้องเสียหาย

2. พ่อค้ายื่นเงื่อนไขเจรจาเพิ่มเติมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รู้กันดีว่าพ่อค้าทุกรายสมัครใจเข้าแข่งกันเพื่อให้ตนเป็นผู้ชนะการประมูล ยิ่งโครงการใหญ่มูลค่ากว่าสองแสนล้านบาทแน่นอนว่าเขาต้องศึกษาวางแผนมาอย่างดีเพื่อความมั่นใจและสร้างกำไรมากที่สุด

ฝ่ายรัฐเองก็จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขหรือกติกาการประมูลอย่างชัดเจนรอบคอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงไว้ด้วยตามที่ปรากฏในทีโออาร์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีอะไรผิดพลาดหรือถูกใครมาเอาเปรียบได้ง่ายๆ เหมือนกรณีโฮปเวลล์

การแก้เงื่อนไขในสัญญาโครงการให้ต่างไปจากทีโออาร์ จะทำได้เท่าที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการ ไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการประมูลที่ผ่านมาและไม่ทำให้ราชการเสียหาย (แต่หลายโครงการที่ผ่านมาเห็นช่วยกันแก้ รวมหัวกันโกงเยอะแยะไม่เห็นใครต้องรับผิดชอบหรือโดนลงโทษ)

 

ส่วนคำขู่ของรัฐมนตรีและการเลื่อนกำหนดเซ็นสัญญาจากเดิมวันที่ 15 ตุลาคมเป็น 25 ตุลาคม ด้วยเหตุผลแปลกๆ เป็นเพราะอะไร เรื่องนี้คนวงในเท่านั้นที่รู้ แต่ฝ่ายรัฐต้องรีบดำเนินการก่อนกำหนดยืนราคาของเอกชนจะครบกำหนดเป็นเหตุผลที่ถูกต้อง

‘นักการเมืองกลุ่มนี้มีผลประโยชน์แอบแฝงเพราะจะกลับเป็นผู้ได้ประโยชน์ทันทีหากกันกลุ่ม CPH ออกไปได้’ และ ‘พวกเจ้าสัวมีการเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อย่างลับๆ แล้วจริงหรือไม่’ สองข้อนี้ไม่ขอวิจารณ์ ปรากฎการณ์เหล่านี้ชวนให้คิดว่า เกิดขึ้นเพราะ ‘พ่อค้าเกเรหรือเล่ห์การเมือง’ กันแน่

เอาเป็นว่าท่านรัฐมนตรีทำทุกอย่างให้โปร่งใส เมื่อถึงกำหนดแล้ว CPH ไม่มาเซ็นสัญญาก็เรียกผู้ประมูลรายที่สองมาเจรจา งานจะได้เดิน แล้วยึดเงินมัดจำและเรียกค่าเสียหายไปตามเงื่อนไข ส่วนการลงโทษพ่อค้าเกเรตามกฎหมาย ถ้าทำได้ก็ดี แต่เชื่อเถอะว่า งานนี้สังคมจะตัดสินและตราหน้าเอง